เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น ยืนยันวันนี้ (14 มี.ค.) ว่ารัฐบาลโตเกียวจะไม่ดัดแปลงแก้ไขแถลงการณ์ในปี 1993 ซึ่งเป็นการ “ขออภัย” ต่อผู้หญิงเอเชียที่เคยถูกกองทัพญี่ปุ่นเกณฑ์มาบำเรอกามแก่ทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะสตรีชาวเกาหลี ขณะที่สหรัฐฯ เรียกร้องให้สองเพื่อนบ้านเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน
โตเกียวและโซลต้องบาดหมางจากข้อพิพาทหลายประการซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากการที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองคาบสมุทรเกาหลีระหว่างปี 1910-1945 หนึ่งในปัญหาสำคัญที่สองฝ่ายยังตกลงกันไม่ได้ก็คือ การที่เกาหลีใต้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นขออภัยและจ่ายค่าชดเชยแก่สตรีชาวเกาหลีซึ่งเคยถูกเกณฑ์ไปเป็น “สตรีเพื่อการผ่อนคลาย” ทำงานในซ่องโสเภณีสำหรับทหารญี่ปุ่น
จีนและเกาหลีใต้แสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรง หลังรัฐบาลอาเบะมีท่าทีว่าจะทบทวนคำแถลงของ โยเฮอิ โคโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นในปี 1993 ซึ่งยอมรับว่ากองทัพญี่ปุ่นมีส่วนในการบังคับให้ผู้หญิงท้องถิ่นทำงานเป็นโสเภณีบำเรอกามแก่ทหาร ซึ่งประเด็นนี้นักการเมืองสายอนุรักษ์นิยมในญี่ปุ่นเถียงว่าไม่มีหลักฐานแน่ชัด
นักการเมืองญี่ปุ่นหัวชาตินิยมจัดยังยุให้รัฐบาลทบทวนคำขอโทษของ โคโนะ เพราะไม่มีหลักฐานใดๆ ยืนยันว่ารัฐบาลหรือกองทัพญี่ปุ่นมีส่วนรู้เห็นกับแนวปฏิบัติเช่นนี้
“ในเรื่องของสตรีเพื่อการผ่อนคลาย ผมก็เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีท่านก่อนๆ ที่รู้สึกปวดร้าวใจอย่างยิ่ง เมื่อคิดว่าสตรีเหล่านั้นต้องผ่านความเจ็บปวด และทุกข์ทรมานแสนสาหัสขนาดไหน” อาเบะแถลงต่อคณะกรรมการรัฐสภา
“แถลงการณ์ โนะได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ และอย่างที่ท่านเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ สุกะ ได้แถลงไปแล้วว่า รัฐบาลของเราไม่มีแผนที่จะดัดแปลงแก้ไขมัน”
อาเบะยืนยันว่า รัฐบาลของเขาถือจุดยืนเดียวกับรัฐบาลญี่ปุ่นชุดก่อนๆ รวมถึงยอมรับแถลงการณ์ของอดีตนายกรัฐมนตรี โทมิจิ มุรายามะ ในปี 1995 ที่ออกมา “ขออภัย” ต่อความเจ็บปวดทรมานที่ญี่ปุ่นได้สร้างไว้กับประเทศอื่นๆในเอเชีย
“เราต้องมองประวัติศาสตร์ด้วยความถ่อมตน... ประวัติศาสตร์ไม่ควรถูกนำมาเป็นประเด็นการเมืองหรือปัญหาระหว่างประเทศ ผมเชื่อว่าการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจะดีกว่า”
ความเคืองแค้นระหว่างญี่ปุ่นกับจีนและเกาหลีใต้ปะทุหนักยิ่งขึ้น เมื่อ อาเบะ เดินทางไปสักการะศาลวีรชนสงคราม “ยาสุกุนิ” ในกรุงโตเกียวเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยสถานที่นี้เป็นที่เก็บป้ายวิญญาณชาวญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในสงคราม รวมถึงอดีตผู้นำระดับสูงของญี่ปุ่น 14 คนที่ถูกศาลสัมพันธมิตรตัดสินว่าเป็น “อาชญากรสงคราม” ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นแถลงว่าต้องการตรวจสอบที่มาที่ไปของ “คำขอโทษ” ที่ โคโนะ ประกาศเมื่อปี 1993 แต่ก็ยืนยันว่าไม่คิดจะเพิกถอนถ้อยแถลงนั้นแต่อย่างใด
โตเกียวยืนยันว่า ปัญหาสตรีเพื่อการผ่อนคลายได้เจรจากันจบสิ้นไปแล้วภายใต้ข้อตกลงฟื้นสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ในปี 1965 และในปี 1995 ญี่ปุ่นยังได้ตั้งกองทุนนำเงินบริจาคของเอกชนมาจ่ายเป็นค่าทำขวัญแก่ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อกามทหาร แต่รัฐบาลเกาหลีใต้ก็อ้างว่า การจ่ายเงินชดเชยไม่ได้กระทำอย่างเป็นทางการ จึงถือว่าไม่เพียงพอ