เอเอฟพี - ญี่ปุ่นได้ออกมาแสดงความ “เสียใจ” ที่เกาหลีใต้จัดแสดงภาพวาด “สตรีเพื่อการผ่อนคลาย” ในเทศกาลหนังสือการ์ตูนนานาชาติที่ฝรั่งเศส โดยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สตรีเหล่านี้ได้ถูกบังคับขู่เข็ญให้มาอยู่ในซ่องโสเภณีของกองทัพแดนอาทิตย์อุทัย เพื่อบำเรอความสุขทางเพศของทหาร
โยชิอิ ซูซูกิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำฝรั่งเศสกล่าวว่าเขา “รู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งที่มีการจัดนิทรรศแบบนี้ขึ้น” โดยระบุว่า การจัดแสดงผลงานเหล่านี้เป็นการ “ส่งเสริมแนวคิดผิดๆ ที่สร้างความร้าวฉานให้แก่สายสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้ กับญี่ปุ่นมากขึ้นอีก”
นักประวัติศาสตร์กระแสหลักจำนวนมากชี้ว่า กองทัพญี่ปุ่นได้จับสตรีชาวเกาหลี จีน ฟิลิปปินส์ และประเทศอื่นๆ มากถึงราว 200,000 คน ไปไว้ในซ่องโสเภณีเพื่อบำเรอกามารมณ์ของกองทัพญี่ปุ่น ในดินแดนที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ฝ่าย ฟรองก์ บงดูซ์ ผู้อำนวยการเทศกาลการ์ตูนนานาชาติอังกูแลม ซึ่งจัดขึ้นทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส กล่าวกับเอเอฟพีว่า ญี่ปุ่นไม่ได้ขอให้ยกเลิกการจัดนิทรรศการนี้
ด้าน โช ยุนซัน รัฐมนตรีกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัว ได้มาร่วมพิธีเปิดนิทรรศการเกาหลีใต้ที่มีชื่อว่า “ดอกไม้ที่ไม่เหี่ยวเฉา” เมื่อวันพฤหัสบดี (30 ม.ค.)
บงดูซ์ กล่าวว่า “รัฐบาลเกาหลีใต้เป็นผู้กำหนดหัวข้อของงาน แต่พวกศิลปินมีสิทธิในการตีความหัวข้ออย่างอิสรเสรี”
ทั้งนี้ ประเด็นกล่าวหาทางการเมืองเรื่อง “สตรีเพื่อการผ่อนคลาย” นั้น ได้จุดชนวนให้เกิดความตึงเครียดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยเกาหลีใต้ และจีนเน้นย้ำว่า ญี่ปุ่นต้องยอมรับความจริงว่าเคยบีบบังคับสตรีในชาติเอเชียต่างๆ ที่ตนเข้ายึดครองเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเป็นทาสกามารมณ์
เมื่อปี 1993 โยเฮ โคโน เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นในเวลานั้น ได้ออกมากล่าวขอโทษเหล่าอดีตสตรีเพื่อการผ่อนคลายในการแถลงครั้งสำคัญระดับประเทศ ทั้งยังยอมรับว่าญี่ปุ่นเป็นผู้สร้างความทุกข์ทรมานให้แก่พวกเธอ
อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2007 นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น ได้จุดชนวนให้เกิดกระแสแค้นเคืองไปทั่วภูมิภาค เมื่อเขาแสดงความคิดเห็นว่าไม่มีหลักฐานยืนยันว่า ญี่ปุ่นเคยบีบบังคับให้สตรีมาเป็นโสเภณีโดยตรง
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่น ได้ปฏิเสธไม่ขอออกความเห็น หลัง คัตสุโตะ โมมิอิ ประธานสถานีโทรทัศน์แห่งชาติญี่ปุ่น (เอ็นเอชเค) แสดงทัศนะส่วนตัวว่า การบังคับผู้หญิงท้องถิ่นมาเป็นโสเภณีเหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเรื่องปกติ “ของกองทัพทุกชาติที่ทำสงคราม”
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา โมมิอิ ได้ออกมากล่าวขอโทษในเรื่องที่ตนใช้คำพูดซึ่ง “สร้างปัญหา” แล้ว
ก่อนจะถึงวันเปิดนิทรรศการนี้ “ซุด อูแอสต์” หนังสือพิมพ์รายวันที่วางขายในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของแดนน้ำหอมก็ได้รับคำร้องเรียนจากบรรดาหญิงชาวญี่ปุ่นที่ไม่พอใจกับนิทรรศการของโสมขาว
นอกจากการโต้เถียงในประเด็นสตรีเพื่อการผ่อนคลายแล้ว บรรดาผู้จัดเทศกาลนี้ยังได้สั่งปิดบูทของสมาคมญี่ปุ่นที่นำเสนอเรื่องราวสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในมุมมองที่ขัดแย้งกับประวัติศาสตร์ และห้ามจัดแสดงภาพวาดที่มีเครื่องหมายสวัสดิกะ (เครื่องหมายนาซี) อีกด้วย