xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมบันเทิง : The Railway Man อโหสิกรรม วิถีธรรมนำสู่มิตรภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรื่องราวของ The Railway Man ได้หยิบยกเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในการสร้างทางรถไฟสายมรณะ โดยเชลยสงครามฝ่ายสัมพันธมิตร ในสงครามโลกครั้งที่ 2 มาผูกเป็นเรื่องราวในอีกแง่มุมหนึ่ง

หนังเรื่องนี้เริ่มต้นในคลับของทหารผ่านศึก เมื่อ “อีริค โลแมกซ์” ผู้เงียบขรึม เล่าให้เพื่อนๆฟังว่า เขาพบกับ “แพตตี้” ผู้หญิงคนหนึ่งที่ออกเดินทางท่องเที่ยวทางรถไฟ และแม้การแลกเปลี่ยนมุมมองในบทสนทนาระหว่างการเดินทางเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ก็ทำให้หัวใจที่เคยแห้งแล้งของหนุ่มใหญ่คนนี้ ชุ่มชื่นขึ้นมาได้อย่างน่าประหลาด

อีริคตัดสินใจไปดักพบแพตตี้อีกครั้งที่สถานีรถไฟปลายทางแห่งหนึ่ง ซึ่งเขารู้ว่าเธอต้องแวะมา จากความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้เกิดเป็นความรัก ในที่สุดทั้งคู่จึงตัดสินใจแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกัน

แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของชีวิตคู่ เพราะหลังจากนั้นไม่นาน แพตตี้ก็พบว่า สามีของเธอมักฝันร้ายบ่อยๆ และละเมอส่งเสียงออกมาด้วยความเจ็บปวด แถมยังมีอาการเหม่อลอย มีอารมณ์ฉุนเฉียว ราวกับมีบางสิ่งบางอย่างตามหลอกหลอนภายในจิตใจ

สภาวะอารมณ์อันไม่คงที่ และเต็มไปด้วยความเครียดของสามี ทำให้แพตตี้ไม่สบายใจนัก เธอพยายามจะค้นหาคำตอบ เรื่องราวในอดีตที่ทำร้ายสามี แต่อีริคก็ไม่ยอมอธิบายอะไร

สุดท้าย แพตตี้ก็เดินทางไปที่คลับทหารผ่านศึก เพื่อพบกับ “ฟินลีย์” เพื่อนสนิทรายหนึ่งของสามี ซึ่งเธอคิดว่า เขาจะให้คำตอบที่เธออยากรู้ เพื่อช่วยเหลือสามี แม้ตอนแรกฟินลีย์ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม แต่แพตตี้ไม่ยอมลดละความพยายาม ในที่สุดเขาจึงยอมเปิดเผยสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต

เรื่องราวย้อนกลับไปในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อีริคกับฟินลีย์ รวมทั้งเพื่อนทหารชาวอังกฤษ ถูกส่งไปประจำการที่ประเทศสิงคโปร์ โดยอยู่ในหน่วยทหารสื่อสาร แต่เมื่อกองทัพจากแดนอาทิตย์อุทัยบุกประชิด กองร้อยที่เขาประจำการอยู่จึงประกาศยอมแพ้ และกลายสภาพเป็นเชลยสงคราม

ทหารอังกฤษทุกนาย ถูกต้อนขึ้นรถไฟที่ปิดทึบนานหลายชั่วโมง จนกระทั่งถึงจุดหมายปลายทาง ที่รายล้อมไปด้วยป่าเขา แล้วเหล่าทหารหนุ่มก็ได้รู้ว่า สิ่งที่กองทัพลูกพระอาทิตย์กำลังทำอยู่ คือ การสร้างเส้นทางรถไฟจากเมืองกาญจนบุรีเข้าสู่ประเทศพม่า โดยใช้แรงงานของเชลยสงครามนั่นเอง

แต่เคราะห์ดีที่ทั้งอีริคกับฟินลีย์ และเพื่อนอีกกลุ่ม ไม่ต้องไปทำงานที่ใช้แรงงานอันแสนโหดร้าย เพราะทหารญี่ปุ่นกันตัวเอาไว้ช่วยเหลืองานอื่น เช่น งานสื่อสาร งานช่าง และวิศวกรรม ที่ทหารเหล่านี้มีความรู้

ทุกยามค่ำคืน เหล่าทหารช่างต่างปรึกษาหารือกันถึงวิธีที่จะหลบหนีออกไปจากค่ายนี้ แต่ก็ดูมืดมนอับจนหนทาง ในที่สุดพวกเขาก็ได้ข้อสรุปว่า จำเป็นต้องรู้ข่าวสารความเป็นไปของสงครามเสียก่อน นั่นจึงเป็นที่มาของการหาชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ มาประกอบกันเป็นวิทยุ

อีริคเป็นหัวเรือสำคัญในการทำงานนี้ เมื่อประกอบวิทยุได้สำเร็จ เขาและเพื่อนๆใช้เวลายามค่ำคืน แอบฟังความเคลื่อนไหว จนกระทั่งรู้ว่า สงครามในยุโรปใกล้สิ้นสุด กองทัพนาซีเริ่มพ่ายแพ้แล้ว

ขณะเดียวกัน ด้วยความชื่นชอบรถไฟเป็นทุนเดิม อีริคได้วาดแผนที่เส้นทางรถไฟสายใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น และแอบเก็บเอาไว้ โดยหารู้ไม่ว่า นั่นจะกลายเป็นผลร้ายสำหรับตัวเอง เพราะในที่สุด ทหารญี่ปุ่นก็ค้นพบทั้งวิทยุและแผนที่นั้น

ทหารญี่ปุ่นเรียกผู้ต้องสงสัยมาสอบทั้งหมด 4 นาย รวมทั้งอีริค รายแรกโดยทุบด้วยท่อนไม้จนน่วม แต่ก่อนที่รายอื่นๆจะโดน อีริคก็แสดงตัวบอกว่า เขาคือผู้อยู่เบื้องหลังทั้งหมด

อีริคโดนซ้อมโดนทรมานแทบปางตาย แม้เขาพยายามบอกว่า วิทยุที่ประกอบขึ้น ไม่ใช่วิทยุสื่อสาร แต่เป็นวิทยุเพื่อฟังข่าวเท่านั้น รวมถึงแผนที่เส้นทางรถไฟ ก็เป็นเพียงงานอดิเรกที่ตนสนใจ แต่นายทหารญี่ปุ่นไม่สนใจ ราวสองสัปดาห์จากนั้น จึงเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตของทหารหนุ่ม “อีริค โลแมกซ์”

ท่ามกลางเหตุการณ์โหดร้ายที่เกิดขึ้น ทหารล่ามญี่ปุ่นคนหนึ่ง ชื่อ “ทาเคชิ นางาเสะ” ซึ่งทำหน้าที่แปลภาษาอังกฤษ เขาอยู่กับอีริค เพื่อสอบปากคำให้ทหารชั้นผู้ใหญ่ และยืนมองความโหดร้ายป่าเถื่อนที่เกิดขึ้น ซึ่งเพื่อนร่วมชาติกระทำต่อจำเลยชาวอังกฤษ

แต่แล้วทุกอย่างก็จบลง เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรมีชัยชนะ และกองทัพญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้....

ฟินลีย์เล่าย้อนอดีตที่ตามมาหลอกหลอนเพื่อนสนิทให้แพตตี้ฟัง ก่อนที่จากนั้นไม่นาน เขาก็นำข้อมูลสำคัญอย่างหนึ่ง ให้แก่อีริค นั่นคือ ข่าวในหนังสือพิมพ์ไทย ที่เขียนว่า “นางาเสะ” ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นไกด์นำเที่ยวพิพิธภัณฑ์สงครามโลกอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี

ฟินลีย์ฝากความหวังไว้กับอีริค ให้เขาใช้โอกาสนี้ในการชำระความแค้นที่ฝังแน่นในใจ แต่อีริคดูจะยังไม่สนใจ แต่ทว่าหลังจากนั้นไม่กี่วัน ฟินลีย์ก็ฆ่าตัวตาย มันจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้อีริคเดินทางจากอังกฤษไปยังเมืองไทย เพื่อชำระความแค้นที่ยังหลงเหลือแทนเพื่อนรัก และอาจรวมถึงตัวเองด้วย

เมื่อถึงจุดหมายปลายทาง อีริคได้เจอกับนางาเสะ เขาเข้าไปพูดคุย และระเบิดอารมณ์ จนเกือบจะทำร้าย แต่นางาเสะไม่มีทีท่าจะปัดป้อง ซ้ำยังคล้ายยอมรับสภาพว่า มันอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เขามีชีวิตรอดมาถึงวันนี้ ก็เพียงเพราะรอคอยการชำระแค้น

แต่แล้วก็ไม่ได้เกิดเหตุรุนแรง เพราะเมื่ออีริคใช้เวลาครู่หนึ่งระลึกถึงความโหดร้ายที่เกิดขึ้น เขาก็ตระหนักได้ว่า สิ่งที่ผ่านมาหลายปีแล้ว คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการให้อภัย เขาจึงเดินทางกลับไปอังกฤษด้วยจิตใจที่ปลอดโปร่งกว่าเดิม ทั้งยังได้รับจดหมายจากนางาสะ ที่กล่าวขออภัยในความผิด

อีริคพร้อมกับแพตตี้ จึงเดินทางกลับมาหานางาเสะอีกครั้ง โดยเขาได้เขียนจดหมายยกโทษให้กับนางาเสะด้วย

แล้วหนังก็จบลงด้วยการปรากฏภาพถ่ายคู่ของ อีริคกับนางาเสะตัวจริง เพื่อย้ำให้เห็นว่า นี่คือภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริง และทั้งคู่ก็กลายเป็นเพื่อนกันในท้ายที่สุด

The Railway Man มีข้อคิดที่สอดคล้องชัดเจนมากตามหลักพุทธศาสนาในเรื่องของการ “อโหสิกรรม”

อโหสิ
(ภาษาบาลี) แปลว่า ให้ผลเสร็จสิ้นแล้ว กัมม (ภาษาสันสกฤต) แปลว่า การกระทำ อโหสิกรรมจึงมีความหมายว่า กรรมที่ไม่ส่งผลต่อผู้กระทำกรรมอีกต่อไป

การกระทำ “อกุศลกรรม” นั้น ผู้กระทำย่อมได้รับผลจากการนั้น ดังเช่นนางาเสะ ซึ่งมีตราบาปติดอยู่ในใจ เพราะมีส่วนร่วมมองการกระทำอันโหดร้ายต่อเชลยศึก

แม้กระทั่งในมุมของอีริค ที่หากเขาไม่ยุติความคิดเคียดแค้น ไม่ให้อภัย ภาพความโหดร้ายในความทรงจำ ก็จะเป็นภาพที่คอยหลอกหลอนเรื่อยไป และหากเขาคิดจะทำร้ายกลับ มันก็จะกลายเป็นการก่อกรรมครั้งใหม่ ไม่จบไม่สิ้น

ในสังคมไทย อโหสิกรรมจึงมีนัยที่ครอบคลุมถึง การยกโทษ การไม่จองเวร ไม่อาฆาตพยาบาท หรือเลิกแล้วต่อกัน ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการยุติปัญหาต่างๆ อันเป็นผลดีกับทั้งผู้กระทำและถูกกระทำ

การอโหสิกรรมที่ถูกต้อง ยังต้องยกโทษด้วยจิตและความรู้สึกที่บริสุทธิ์ ให้อภัยต่อกรรมที่เคยเกิดขึ้นจริงๆ ซึ่งผลที่ได้ ดังเช่นในภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏชัดมาจากเหตุการณ์จริงว่า เมื่ออโหสิกรรม เลิกแล้วต่อกัน ก็เปลี่ยนจากศัตรูคู่อาฆาตมาเป็นมิตรภาพใหม่ที่งดงามแทน

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 162 มิถุนายน 2557 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)






กำลังโหลดความคิดเห็น