เอเจนซีส์ - มูลนิธิไม่หวังผลกำไรคริสเตียน SIM ประจำสหรัฐฯแถลงข่าวเมื่อวานนี้(3) ว่า ริก ซาครา (Rick Sacra) นายแพทย์จากรัฐแมสซาชูเซตส์ วัย 51 ปี เป็นคนไข้อเมริกันติดเชื้อไวรัสอีโบลารายที่ 3 ที่จนกระทั่งขณะนี้ยังไม่สามารถหาสาเหตุว่าเหตุใดแพทย์ที่ทำงานในห้องคลอดผู้ป่วยปลอดเชื้ออีโบลาจึงล้มป่วยได้ ในขณะเดียวกัน วิลเลียม พูลีย์ พยาบาลชายอาสาในเซียร์ราลีโอนที่เข้ารับรักษาตัวด้วยโรคอีโบลาเป็นเวลา 10 วันได้รับอนุญาตให้กลับบ้านแล้วในวันพุธ(3)
มูลนิธิไม่หวังผลกำไรคริสเตียน SIM ประจำสหรัฐฯแถลงข่าวว่า นายแพทย์ ริก ซาครา (Rick Sacra) จากรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐฯ ที่ทำงานให้กับ SIM ในฐานะแพทย์สูตินารีในไลบีเรีย ดูแลผู้ป่วยที่ต้องการคลอดบุตรด้วยวิธีธรรมชาติ และวิธีผ่าตัด แต่ยังไม่ปรากฎชัดว่าเนื่องด้วยสาเหตุใดจึงทำให้ซาครา วัย 51 ปีเกิดล้มป่วยลง เพราะนายแพทย์มิชชันนารีรายนี้ไม่เคยรักษาผู้ป่วยติดเชื้ออีโบลาที่ถูกกักอยู่ในหอกักกันผู้ป่วยที่แยกออกไปจากตัวโรงพยาบาลหลัก
ทั้งนี้ซาคราอาสาเดินทางไปยังไลบีเรียหลังจากผลการทดสอบโรคอีโบลาของนายแพทย์เคนท์ แบรนต์ลีย์ และแนนซี ไรท์โบลเป็นบวก
ด้านบรูซ จอห์นสัน (Bruce Johnson ) ประธานมูลนิธิ SIM แห่งสหรัฐฯ แถลงว่า ในขณะนี้ที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเหตุใดนายแพทย์ผู้นี้จึงติดเชื้ออีโบลาได้ แต่ทางมูลนิธิได้ร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐฯเพื่อศึกษาว่าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร “ซาคราเป็นแพทย์ที่ช่วยทำให้มีชีวิตเกิดขึ้นที่ไลบีเรียโดยการทำคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ และด้วยวิธีผ่าตัด ในขณะที่บรรยากาศในไลบีเรียเต็มไปด้วยคนป่วย และผู้เสียชีวิต” และยังกล่าวต่อไปว่าfont “แต่นี่ยังไม่มีการยืนยัน แต่คาดเดาว่าซาคราอาจได้รับเชื้ออีโบลาจากคนไข้รายหนึ่งรายใดที่ยังไม่แสดงอาการป่วยออกมาในโรงพยาบาล ELWA ที่ทำงานอยู่ ทั้งนี้ตามขั้นตอนตามระบบคัดกรองของโรงพยาบาลจะตรวจเช็กคนไข้หาความผิดปกติจากการป่วยของโรคอีโบลาก่อนรับเข้ามารักษา และเป็นไปได้มากว่าเชื้ออีโบลาอาจหลบซ่อนโดยไม่แสดงอาการในตัวคนไข้แผนกสูตินารี และนี่อาจเป็นความเป็นไปได้ที่ทำให้ซาคราเกิดล้มป่วย”
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ยังไม่มีการปรึกษาถึงความเป็นไปได้ที่จะนำตัวซาครากลับมารักษาที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอีโบลา เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย แต่อย่างใดเหมือนดังเช่นเพื่อร่วมงาน 2 คนของเขา นายแพทย์เคนท์ แบรนต์ลีย์ และแนนซี ไรท์โบลได้รับ ด้านนายแพทย์ บรูซ ริบเนอร์ (Dr. Bruce Ribner) หัวหน้าทีมให้การรักษาผู้ป่วยอเมริกัน 2 รายแรก ยอมรับว่า ไม่ทราบว่าซาคราจะถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งนี้หรือไม่ “ ผมทราบเพียงว่า ได้มีการคุยกัน แต่ไม่คิดว่าจะยังมีข้อสรุปอะไรออกมาในขณะนี้” ริบเนอร์กล่าว
ในขณะเดียวกันไรท์โบล คนไข้ติดเชื้ออีโบลารายที่ 2ของสหรัฐฯได้ออกมาเปิดใจให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้(3) พร้อมกับแสดงความเสียใจเมื่อทราบข่าวการติดเชื้อของซาครา และยังปราถนาที่จะขออาสาเดินทางกลับไปไลบีเรียเพื่อดูแลเขาแต่ทว่าไม่สามารถทำได้เพราะเธอยังมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ 100 % และเธอยังเปิดเผยความรู้สึกถึงช่วงเหตุการณ์เลวร้ายว่า เธอป่วยมากแล้วยามที่ถูกส่งตัวกลับมารักษาในสหรัฐฯ และเธอยังเปิดเผยว่า แพทย์ผู้ดูแลในไลบีเรียตัดสินใจว่า แบรนต์ลีย์สมควรได้รับเซรุม Zmapp โดสแรกก่อนเพราะเขามีอาการป่วยหนักกว่าเธอ และไรท์โบลกล่าวว่า เธอได้รับ 2 โดสหลังจากนั้น
ทั้งนี้หน้าที่ของไรท์โบลในไลบีเรียคือ ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อโรคบลีช และช่วยให้เหล่าแพทย์และพยาบาลสวมชุดป้องกันภัยทางชีวภาพระดับ 4 ก่อนที่จะเข้าไปสู่ตัวอาคารกักกันผู้ป่วยติดเชื้ออีโบลา และหลังจากนั้นจึงช่วยเหลือเจ้าหน้าที่การแพทย์เหล่านั้นถอดชุดและเครื่องป้องกันออกทั้งหมด ซึ่งถือเป็นงานสำคัญมากเพราะเครื่องป้องกันทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นถุงมือยาง รองเท้าบูต ชุดป้องกัน หรือแม้กระทั่งแว่นปกป้องที่สวมล้วนมีส่วนที่จะไม่ให้เหล่าผู้ปฎิบัติหน้าที่ติดเชื้อจากของเหลวของผู้ป่วยอีโบลาอาจทำให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นติดเชื้อในขณะที่พยายามถอดออก โดยไรท์โบลช่วยสเปรย์น้ำยาบลีชไปยังอุปกรณ์เหล่านี้ และช่วยถอดเครื่องป้องกันตามลำดับ รวมถึงต้องทำให้แน่ใจว่าอุปกรณ์เหล่านี้ปราศจากเชื้อโรคที่ติดมา หรือไม่เช่นนั้นต้องทำลายโดยการเผาทิ้งทันที
แต่ไรท์โบลถือว่างานของเธอนั้นมีความเสี่ยงต่ำเพราะภายในห้องเตรียมอุปกรณ์จะมีเส้นขีดเพื่อบอกตำแหน่งให้เธอรู้ว่า เธอไม่สามารถข้ามไปจากจุดนั้นได้ โดยไรท์โบลเปิดเผยว่า เธอไม่เคยสัมผัสตัวผู้ที่เดินออกจากอาคารกักกันผู้ป่วยอีโบลาเลย เพราะเมื่อคนเหล่านั้นเดินเข้ามา เธอเพียงแต่ทำให้เขาเหล่านั้นปลอดเชื้อ นอกจากนี้ในขณะปฎิบัติหน้าที่ ไรท์โบลยังสวมชุดกาวน์ ถุงมือ และบางครั้งสวมหน้ากาก และไม่เคยหวั่นวิตกว่าเธออาจติดเชื้อได้ และเมื่อเริ่มเป็นไข้สูงเธอไม่เคยคาดว่าจะได้รับเชื้ออีโบลา
ส่วนอีกซีกโลกในวันพุธ(3) วิลเลียม พูลีย์ พยาบาลชายอาสาชาวอังกฤษวัย 29 ปีได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับบ้านหลังเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาลรอแยลฟรี กรุงลอนดอน 10วันก่อนหน้านี้ด้วยเซรุม Zmapp หลังล้มป่วยด้วยโรคอีโบลาในเซียร์ราลีโอน และถือเป็นชาวอังกฤษรายแรกที่ติดเชื้ออีโบลา โดยในขณะนี้พูลีย์ที่ให้สัมภาษณ์กับสื่ออังกฤษเปิดเผยว่า ยังไม่มีแผนการที่จะเดินทางกลับไปทำงานต่อในประเทศที่จากมา โดยพูลีย์กล่าวอย่างติดตลกว่า “คนเหล่านั้นได้เผาพาสปอร์ตผมแล้ว ดังนั้นแม่ผมคงดีใจมากที่ได้รู้ว่า ผมคงไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ในช่วงนี้” และยังบรรยายความรู้สึกถึงการต้องอยู่ในห้องกักกันผู้ป่วยว่า “เหมือนต้องอยู่ภายในตู้ปลา” และกล่าวเพิ่มเติมว่า “เป็นเพราะโรงพยาบาลในเซียร์ราลีโอนนั้นมีงานหนักและยุ่งมาก จนไม่มีเวลาคิดกังวลถึงความร้ายแรงของโรคอีโบลาหากเกิดติดโรคขึ้นมาจริง”
นอกจากนี้พูลีย์ยังขอขอบคุณกองทัพอากาศอังกฤษ RAF และรัฐบาลอังกฤษที่ช่วยเหลือนำเขากลับเข้ามารักษาในอังกฤษอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีที่ดีที่สุดจนกระทั่งหายป่วย และพูลีย์ยังอธิบายถึงความรู้สึกเมื่อทราบว่าตนเอง “ติดเชื้อ” นั้นเป็นความรู้สึกกลัวสุดชีวิต และพบเจ้าหน้าที่การแพทย์ใส่ชุดป้องกันชีวภาพขั้นร้ายแรงอยู่เบื้องหน้า
“ผมรู้สึกตกใจมากเพราะผมรู้ว่าตัวเองกำลังจะตาย แต่ผมคิดว่าผมโชคดีหลายประการ นับตั้งแต่การได้รับรักษาในมาตรฐานระดับเวิล์ดคลาสเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยโรคอีโบลาจำนวนมากในแอฟริกาตะวันตกที่ได้รับถึงแม้ว่าหน่วยงานแพทย์ที่นั่นจะทำอย่างสุดกำลังแล้วก็ตาม และประการที่สอง อาการป่วยของผมไม่ได้ทรุดลงเหมือนกับที่ผมได้พบเห็นในถิ่นระบาดที่ผู้คนเสียชีวิตอย่างน่าอนาถ ทั้งนี้พูลีย์ไม่มีอาการอาเจียนออกมา เขามีเพียงไข้ขึ้นสูง และปวดท้อง
นอกจากนี้พูลีย์ยังให้สัมภาษณ์เปิดใจต่อไปว่า ได้ทำการตรวจเลือดหลังจากล้มป่วยในเซียร์ราลีโอน และโดนแพทย์เจ้าหน้าที่อนามัยโลก หรือ WHO ในชุดป้องกันภัยชีวภาพระดับ 4 หรือ PPE ปลูกขึ้นมาหลังจากล้มตัวนอนเพราะอาการไข้ขึ้นสูง ทำให้พูลีย์รู้ได้เองว่าติดเชื้ออีโบลาแล้ว พร้อมกับอธิบายความรู้สึกอึดอัดที่ต้องได้รับการตรวจหาเชื้ออีโบลา แต่เป็นเพราะพูลีย์รู้ตัวดีว่าล้มป่วยแล้ว จึงจำเป็นต้องข่มความรู้สึกไว้ นอกจากนี้ยังยอมรับว่า ตัวเองรู้สึกกลัว และเป็นห่วงครอบครัวที่อังกฤษ และบรรยายความรู้สึกถึงการได้ก้าวออกมาเตนท์กักกันผู้ป่วยของโรงพยาบาลรอแยลฟรีว่า “เป็นช่วงเวลาที่วิเศษสุด”