xs
xsm
sm
md
lg

พบ “อีโบลา” ในเซียร์ราลีโอนกลายพันธุ์เร็วผิดปกติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรูซ แอลเวิร์ด รองผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกเผยแผนที่ระบาดของอีโบลา (รอยเตอร์)
ผลการศึกษายีนพบเชื้ออีโบลาในเซียร์ราลีโอนกลายพันธุ์เร็วกว่าปกติ โดยมีการเปลี่ยนยีนในไวรัสกว่า 300 ตำแหน่งระหว่างแพร่จากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนักวิจัยหวั่นส่งผลกระทบต่อการวินิจฉัยโรคและหนทางรักษาที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา

รายงานจากรอยเตอร์ระบุว่า ปาร์ดิส ซาเบติ (Pardis Sabeti) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) และสถาบันบอร์ด (Broad Institute) หัวหน้าทีมวิจัยซึ่งเก็บตัวอย่างเชื้ออีโบลาจากผู้ป่วย 78 รายในเซียร์ราลีโอน และตรวจสอบย้อนได้ว่าได้รับเชื้อจากผู้ป่วยในกินีซึ่งเป็นจุดแรกที่มีการระบาดของไวรัสนี้ พบว่าเชื้อไวรัสกลายพันธุ์กว่า 300 ตำแหน่ง ระหว่างแพร่จากคนสู่คน ซึ่งการกลายพันธุ์ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับไวรัส

ทีมวิจัยได้ตีพิมพ์การค้นพบดังกล่าวลงวารสารไซน์ ซึ่งรายงานบ่งชี้ว่า ไวรัสกลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว และกลายพันธุ์ในทางที่กระทบต่อวิธีการวินิจฉัยโรคที่่มีอยู่ รวมถึงกระทบต่อการรักษาและพัฒนาวัคซีนในอนาคตด้วย พร้อมยกตัวอย่างวัคซีนป้องกันอีโบลา GlaxoSmithKline ที่เพิ่งอยู่ในขั้นตอนการทดลองในมนุษย์ หรือยาภูมิต้านทาน Zmapp ที่พัฒนาโดยบริษัทยาในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ

การค้นพบของนักวิจัยดังกล่าวรอยเตอร์ระบุว่า เผยออกมาไล่เลี่ยการประกาศขององค์การอนามัยโลก ซึ่งระบุว่า โรคระบาดนี้น่าจะติดต่อผู้คนมากกว่า 20,000 ราย และมีการกระจายของโรคในหลายประเทศอีกมาก แต่องค์การอนามัยโลกก็ไม่ได้เอ่ยถึงการศึกษาระดับยีนล่าสุดที่เพิ่งเผยออกมานี้

ด้าน โรเบิร์ต แกร์รี (Robert Garry) จากมหาวิทยาลัยทูเลน (Tulane University) ผู้ร่วมวิจัยระบุอีกว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสอีโบลาเมื่ออยู่ในร่างมนุษย์ เกิดขึ้นในอัตราการกลายพันธุ์มากกว่าเมื่ออาศัยอยู่ในร่างสัตว์อย่างค้างคาวผลไม้ถึง 2 เท่า เขากล่าวว่า จากการศึกษาได้เผยให้เห็นการเปลี่ยนใน “ไกลโคโปรตีน” ซึ่งเป็นโปรตีนพื้นผิวที่ไวรัสใช้จับกับเซลล์มนุษย์ เพื่อเริ่มต้นในการเพิ่มจำนวน โดยมีร่างกายมนุษย์เป็นแหล่งอาศัย และยังเป็นส่วนที่ระบบภูมิคุ้มกันใช้จำแนกสิ่งแปลกปลอม

นอกจากนี้ทีมวิจัยยังทำสิ่งที่ไม่ใช่ขั้นตอนปกติ คือเผยลำดับพันธุกรรมของไวรัสทางออนไลน์อย่างเร่งด่วนเท่าที่ทำได้ เพื่อให้นักวิจัยคนอื่นๆ ได้เข้าถึงข้อมูล ซึ่ง อีริกา โอลล์แมนน์ แซไฟร์ (Erica Ollmann Saphire) จากสถาบันวิจัยสคริปปส์ (Scripps Research Institute) ในแคลิฟอร์เนีย ได้ตรวจดูว่าการกลายพันธุ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภูมิคุ้มกัน 3 ชนิดในยา Zmapp หรือไม่ และพบว่าไม่ส่งผลกระทบ

อย่างไรก็ดี แซไฟร์กล่าวว่า ยังต้องศึกษาข้อมูลเพื่อดูว่าจะมีกระทบต่อภูมิคุ้มกันอื่นๆ อีกหรือไม่ และแผนที่พันธุกรรมของไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ อาจจะสร้างวิกฤตให้แก่บริษัทยาที่พัฒนาแนวทางรักษาโดยอิงกับฐานข้อมูลอาร์เอ็นเอ ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมของไวรัส

การศึกษาครั้งนี้ฉายภาพการระบาดได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งซาเบติยกความดีความชอบจากการศึกษาเป็นเวลานานหลายปีให้แก่ห้องปฏิบัติการของเธอ รวมถึงผู้ร่วมงานในทูเลน และกระทรวงสาธารณสุขของเซียร์ราลีโอนในการพัฒนาเครือข่ายรับมือกับไข้ลัสซา ซึ่งเป็นไวรัสใกล้เคียงกับอีโบลา ซึ่งระบาดในแอฟริกาตะวันตก

นอกจากนี้ยังมีผู้ร่วมวิจัยหลายคนที่ทุ่มชีวิตให้แก่การศึกษาครั้งนี้ ซึ่งรวมถึง ดร.ชีคห์ อูมาร์ ข่าน (Dr.Sheik Humarr Khan) แพทย์ใหญ่วีรบุรุษผู้เป็นที่รักของประชาชนจากโรงพยาบาลรัฐเคเนมาในเซีร์ราลีโอน ซึ่งเสียชีวิตจากไวรัสอีโบลา

ทีมวิจัยได้ตรวจตัวอย่างเชื้อจากหญิงท้องที่ติดอีโบลา รวมถึงผู้ไปร่วมงานศพของ “แม่หมอ” ผู้อ้างว่ารักษาผู้ป่วยอีโบลาที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ กินีได้ แต่ปรากฎว่าแม่หมอกลับได้รับเชื้อและเสียชีวิตลง ซึ่งในงานศพดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก โดยทีมวิจัยได้ใช้เทคนิคที่ตรวจได้ว่า ไวรัสกลายพันธุ์ระหว่างติดจากคนสู่คนอย่างไร มากกว่านั้นยังตรวจได้ลึกถึงการกลายพันธุ์ระหว่างอยู่ร่างของผู้ป่วยคนเดียวด้วย

อย่างไรก็ดี แกร์รีกล่าวว่า ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสนี้คือตัวเร่งให้เกิดการระบาด จากการที่ไวรัสเจริญเติบโตได้ดีในคนและแพร่กระจายได้ง่ายกว่าหรือไม่ ซึ่งยังต้องทดสอบในห้องปฏิบัติการอีกมากเพื่อตอบคำถามดังกล่าว







*******************************


*******************************
กำลังโหลดความคิดเห็น