เอเจนซีส์ - จากการตีพิมพ์ผลวิจัยเซรุม Zmapp ในขั้นทดลองกับลิง 18 ตัว พบมีความปลอดภัย 100% จุดประกายความหวังในการรักษาโรคอีโบลา ที่ล่าสุดองค์การอนามัยโลกคาดอาจมีผู้ติดเชื้อในแอฟริกาตะวันตกถึง 20,000 คน ที่ก่อนหน้านี้ชาวเมืองจอห์นสัน ทาวน์ชิพ (Johnsonville Township) นอกกรุงมอนโรเวีย ไลบีเรีย ต่างตกตื่นหลังพบฝูงสุนัขจรจัดกลุ่มใหญ่รุมกินศพผู้เสียชีวิตอีโบลาข้างถนน หลังจากขุดขึ้นมาจากหลุมฝัง
BBC สื่ออังกฤษรายงานเมื่อวานนี้ (29) ว่า ทีมนักวิจัยเซรุม Zmapp ล่าสุดได้ตีพิมพ์ลงวารสารวิทยาศาสตร์ออนไลน์รายสัปดาห์ Nature ถึงความสำเร็จในการทดลองเซรุมรักษาอีโบลาที่ได้มาจากแอนติบอดีของพืช (ต้นใบยาสูบ) ว่ามีความปลดภัย 100% ในการรักษาลิงทดลองติดเชื้อ 18 ตัว พร้อมกล่าวว่า “เป็นก้าวสำคัญของ Zmapp”
แต่กระนั้นยังสงสัยว่า Zmapp ที่ได้รับฉายาว่า “เซรุมลับ” นี้จะเพียงพอต่อการรักษาคนไข้ที่ทางองค์การอนามัยโลกคาดว่าจะติดเชื้ออีโบลาถึง 20,000 คนในแอฟริกาตะวันตกได้หรือไม่ รวมไปถึงมีผู้ป่วย 2 คน จาก 7 คนที่ได้รับ Zmapp หลังจากติดเชื้อต้องเสียชีวิตลง
นับตั้งแต่การเปิดเผยสู่สาธารณะ เคนต์ แบรนต์ลีย์ และแนนซี ไรท์โบล 2 ผู้ติดเชื้ออีโบลารายแรกของสหรัฐฯที่ได้รับ Zmapp และมีอาการดีขึ้นจนสามารถได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลได้ แต่ Mapp Biopharmaceutical บริษัทผู้ผลิต Zmapp ยังไม่เคยเปิดเผยข้อมูลความสำเร็จในการทดลองเซรุมในชั้นคลินิกสู่สาธารณะ
BBC รายงานเพิ่มเติมว่า ทีมนักวิจัยได้พยายามหาสัดสวนผสมความหลากหลายของแอนติบอดี (combinations of antibodies) เพื่อหาทางรักษาโรคอีโบลา โดยก่อนหน้านี้ มีการพบความสำเร็จของสัดส่วนผสมแอนติบอดีในการรักษาอีโบลาในสัตว์ทดลองอย่างมีประสิทธิภาพ และ Zmapp ถือเป็นความสำเร็จล่าสุด เป็นเซรุมประกอบไปด้วยแอนติบอดี 3 ชนิด และเมื่อทดสอบกับลิงวอก 18 ตัวที่ติดเชื้ออีโบลา ผลที่ได้พบว่าลิงทุกตัวมีชีวิตรอดปลอดภัย และยังรวมไปถึงการทดสอบให้เซรุมกับลิงทดลองหลังป่วยไปแล้วถึง 5 วัน ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการค้นพบเพราะในลิง การติดเชื้อไปแล้ว 3 วันถือเป็นระยะรุนแรงก่อนเสียชีวิต โดยทีมวิจัยยืนยันว่า “การค้นพบล่าสุดจะช่วยปฏิวัติการรักษาอีโบลาเพราะก่อนหน้านี้ จะต้องให้การรักษาก่อนที่อาการของโรคจะปรากฏ”
หนึ่งในนักวิจัยจากหน่วยงานของรัฐบาลแคนาดา นายแพทย์ แกรี โคบินเกอร์ (Dr Gary Kobinger) ที่ร่วมมือพัฒนาเซรุมรักษาอีโบลาร่วมกับ Mapp Biopharmaceutical บริษัทวิจัยยาในสหรัฐฯ ยอมรับว่า “การค้นพบครั้งนี้ทำให้ผมรู้สึกประหลาดใจเหนือความคาดหมาย ที่พบว่าสัดส่วนที่เหมาะสมของแอนติบอดีสามารถช่วยชีวิตสัตว์ทดลองที่ถึงแม้ป่วยมานานกว่า 5 วันแล้วได้สำเร็จ และทำให้เราสามารถช่วยชีวิตสัตว์เลี้ยงที่ป่วยหนักได้ ช่างเป็นข่าวดีจริงๆ”
แต่ทว่ายังมีข้อระวังเป็นอย่างมากในการนำผลวิจัยจากสัตว์มาใช้กับมนุษย์ เพราะจากผู้ป่วย 7 รายที่ได้รับเซรุม Zmapp มีนายแพทย์ชาวไลบีเรีย 1 คน และบาทหลวงชาวสเปนอีก 1 คน ต้องจบชีวิต และล่าสุดพยาบาลอาสาชายชาวอังกฤษ วิลเลียม พูลีย์อยู่ในระหว่างการรักษาตัวด้วยเซรุม Zmapp ที่โรงพยาบาลรอแยลฟรีในกรุงลอนดอนนั้นถือเป็นรายล่าสุดที่ได้รับ Zmapp
นอกจากนี้ การติดเชื้ออีโบลาในคนนั้นช้ากว่าในลิงวอก ดังนั้นจึงมีการคาดว่า การให้เซรุม Zmapp ให้ได้ผลในคนป่วยอย่างช้าที่สุดต้องอยู่ในช่วงวันที่ 9-11 ของการล้มป่วย แต่โคบินเกอร์เตือนว่า “แต่จุดนี้ถือว่าสายไปมากแล้วเพราะอวัยวะได้ถูกทำลายไปส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงเป็นข้อจำกัดการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ”
ทั้งนี้ ทีมวิจัย Zmapp ต้องการเริ่มต้นทดสอบในชั้นคลินิกกับมนุษย์เพื่อยืนยันผลการรักษาของเซรุมโรคอีโบลา
ในขณะเดียวกันที่แอฟริกาตะวันตก หัวใจของการระบาดโรค เกิดเหตุน่าสะพรึงกลัวขึ้นในจอห์นสัน ทาวน์ชิป (Johnsonville Township) นอกกรุงมอนโรเวีย ไลบีเรีย 3 สัปดาห์หลังจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไลบีเรียพยายามหาทางควบคุมอัตราการติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้น พยายามเร่งรีบฝังร่างผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคอีโบลาท่ามกลางความโกรธเกรี้ยวของชาวหมู่บ้านในพื้นที่ซึ่งไม่ต้องการให้ใช้ที่ดินของพวกเขา
และเพื่อป้องกันเหตุปะทะทำให้ทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไลบีเรียแอบใช้เวลาช่วงค่ำคืนที่ชาวบ้านหลับลักลอบฝังร่างผู้เสียชีวิต และอาจเพราะฝังตื้นเกินไป จึงเป็นผลทำให้ในเช้าวันศุกร์ (22) เหล่าสุนัขจรจัดสามารถขุดและลากศพติดเชื้อขึ้นมากินข้างถนนได้ ชาวไลบีเรียกล่าว
และเปิดเผยต่อไปว่า ความกลัวได้เพิ่มขึ้นจากการที่เหล่าสุนัขเร่ร่อนที่ไม่แสดงอาการติดเชื้อล้มป่วยด้วยไวรัสอีโบลา แต่ยังสามารถเป็นพาหะนำเชื้อโดยผ่านน้ำลาย และของเหลวร่างกายได้ ต่างวิ่งเพ่นพ่านอยู่ทั่วบริเวณแอฟริกาตะวันตก และจะแพร่เชื้อไวรัสมาติดต่อมนุษย์ในที่สุด “เราผิดหวังในกระทรวงสาธารณสุขไลบีเรีย ที่ได้ปฎิญาณจะรับใช้และปกป้องชีวิตพลเมืองไลบีเรีย” อัลเฟรด ไวลาห์ (Alfred Wiah) เผยกับสื่อ The New Dawnในวันอังคาร(26) และเพิ่มเติมว่า “จะไม่ยอมรับในการกระทำของรัฐบาลไลบีเรียครั้งนี้ อีกทั้งจะไม่ยอมให้เดินทางเข้าฝังร่างผู้เสียชีวิตอีกด้วย และทางทีมสาธารณสุขจะต้องถูกขัดขวามจากพวกเราเพราะไม่สามารถปกป้องชีวิตประชาชนได้ เกิดอะไรขึ้นที่ไม่จัดการฝังศพเหล่านี้ให้ดี”
ด้านนายแพทย์สตีเฟน คอร์ชแมน (Dr. Stephen Korsman) ผู้เชี่ยวชาญแผนกไวรัสวิทยา จากมหาวิทยาลัยเคปทาวน์ได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันกับนิวส์ 24 ว่า ถึงแม้สุนัขเร่ร่อนจะไม่ล้มป่วยด้วยโรคอีโบลาแต่มีความเป็นไปได้สูงที่สุนัขจรจัดเหล่านั้นสามารถเป็นพาหะนำโรคร้ายติดต่อสู่คนได้ “การติดเชื้ออีโบลาในสุนัขไม่ปรากฏ ซึ่งหมายความว่าสุนัขไม่ล้มป่วย แต่สามารถแพร่เชื้อสู่คนผ่านการเลียและการกัดได้”
ข่าวสุนัขคุ้ยศพอีโบลาในไลบีเรียปรากฏขึ้นหลังจากมีข่าวล่าสุดพบผู้ติดเชื้อในเซเนกัล ซึ่งถือเป็นประเทศที่ 5 ในแอฟริกาตะวันตกที่มีการระบาดของโรค