เอเจนซีส์ - ทัพอิรักสามารถรุกคืบต่อไปในวันอังคาร (2 ก.ย.) โดยเข้ายึดคืนบางส่วนของทางหลวงสายสำคัญที่เชื่อมกรุงแบกแดดกับพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ ขณะที่องค์การนิรโทษกรรมสากลระบุ มีหลักฐานใหม่ยืนยันว่า กลุ่มนักรบญิฮัด “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) มีพฤติการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยในอิรัก ส่วนทางด้านคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็น ก็มีมติส่งทีมงานสอบสวนเข้าสอบสวนการกระทำของไอเอสในอิรัก
กองทัพอิรักที่ได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังอาวุธท้องถิ่นกลุ่มต่างๆ ยังคงรุกไล่ขึ้นเหนือ หลังจากผลักดันนักรบญิฮัดกลุ่มไอเอส ออกไปจากเมืองอเมอร์ลี ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวเติร์กเมนที่นับถือนิกายชีอะห์ได้สำเร็จเมื่อวันอาทิตย์ (31 ส.ค.) โดยได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังชาวเคิร์ดและการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ
นูรี อัล-มาลิกี นายกรัฐมนตรีอิรักที่กำลังอยู่ในช่วงเตรียมอำลาตำแหน่ง ประกาศเมื่อวันจันทร์ (1) ขณะเดินทางไปยังเมืองอเมอร์ลีว่า กองทัพแบกแดดจะทำให้อิรักกลายเป็น “สุสาน” ของกลุ่มไอเอส
ในวันอังคาร (2) กองกำลังอาวุธของอิรักก็สามารถยึดคืนบางส่วนของทางหลวงสายหลักที่เชื่อมกรุงแบกแดดกับภาคเหนือของประเทศ ซึ่งถูกนักรบไอเอสปิดมานานเกือบสามเดือน นอกจากนั้น กองทัพอิรักและกองกำลังอาวุธท้องถิ่นชาวชีอะห์ ยังร่วมกันยึดคืนเมืองสุไลมานเบค และ ยานคาจา ที่อยู่ทางเหนือของอเมอร์ลี ซึ่งเป็นที่มั่นสำคัญของไอเอสได้เมื่อวันจันทร์
อย่างไรก็ดี การที่สหรัฐฯกลับเข้าไปปฏิบัติการโจมตีทิ้งระเบิดในอิรักเช่นนี้ กำลังทำให้เกิดประเด็นโต้เถียงใหม่ ดังที่ เดวิด เพเทรอัส อดีตผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯในอิรัก ได้ออกมาเตือนว่า อเมริกาอาจกลายเป็น “กองทัพอากาศของนักรบชีอะห์” ที่เคยต่อสู้กับทหารอเมริกันในอิรักมาก่อน
กระนั้น ทางด้านนายกรัฐมนตรีโทนี แอ็บบอตต์ของออสเตรเลีย กล่าวเมื่อวันอังคารว่า การใช้กำลังรุนแรงกับนักรบไอเอสเป็นการกระทำที่เหมาะสม โดยเปรียบเทียบนักรบหัวรุนแรงกลุ่มนี้ว่ามีความเลวร้ายกว่าพวกนาซีและพวกคอมมิวนิสต์
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศตกลงจัดหาอาวุธให้แก่กองกำลังอาวุธของชาวเคิร์ดที่ร่วมกับกองทัพอิรักขับเคี่ยวกับไอเอส อยู่ทางภาคเหนือและภาคตะวันตก อาทิ เยอรมนีที่ประกาศส่งเครื่องยิงจรวดต่อต้านรถถัง ปืน และระเบิดมือให้กองกำลังเคิร์ด
วันจันทร์ (1)ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี ได้แสดงความกังวลว่า พลเมืองเยอรมันราว 400 คนที่เดินทางไปร่วมรบกับนักรบญิฮัดในอิรักและซีเรีย ในวันหนึ่งข้างหน้าอาจกลับไปก่อความรุนแรงในบ้านเกิด
ไม่เพียงเฉพาะเยอรมนีเท่านั้น อังกฤษเป็นอีกประเทศที่หวั่นวิตกในเรื่องนี้ โดยในวันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนแห่งอังกฤษ ได้แถลงในสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับการหาทางออกมาตรการใหม่ๆ เพื่อป้องกันผู้ต้องสงสัยเป็นนักรบญิฮัดเดินทางกลับไปก่อการร้ายในแดนผู้ดี ซึ่งรวมถึงการหาทางสกัดกั้นไม่ให้คนเหล่านี้เดินทางกลับประเทศแม้จะเป็นคนสัญชาติอังกฤษก็ตามที
ขณะเดียวกัน ฟลาเวีย แพนเซียรี รองข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แถลงว่า ไอเอสกระทำการป่าเถื่อนเกินจินตนาการ นับจากบุกยึดพื้นที่กว้างขวางของชาวอาหรับนิกายสุหนี่บริเวณถัดขึ้นไปทางเหนือจากกรุงแบกแดดในเดือนมิถุนายน และยกพลเข้าสู่ดินแดนของชนกลุ่มน้อยชาวคริสต์และชาวยาซิดีเมื่อเดือนที่แล้ว
ด้วยเหตุนี้ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็นจึงมีฉันทามติให้ส่งคณะเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินเข้าไปสอบสวนการกระทำโหดร้ายของไอเอสในอิรัก
ความเคลื่อนไหวคราวนี้ได้รับการขานรับจาก โดนาเทลลา โรเวอรา ที่ปรึกษาอาวุโสส่วนงานรับมือวิกฤตขององค์การนิรโทษกรรมสากล ที่กล่าวหาว่า นักรบญิหาดกลุ่มไอเอสได้ก่ออาชญากรรมสงคราม ซึ่งรวมถึงการสังหารหมู่และการลักพาตัวทั่วอิรัก
องค์การนิรโทษกรรมสากลยังระบุในรายงานที่นำออกเผยแพร่วันอังคาร (2) ว่า มีหลักฐานใหม่ที่ยืนยันการสังหารหมู่ในหลายพื้นที่ในเมืองซินจาร์ ทางเหนือของอิรักในเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะในวันที่ 3 และ 15 ส.ค. ที่ไอเอสบุกเข้าไปในหมู่บ้านต่างๆ และสังหารประชาชนนับร้อยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ตามเป้าหมายในการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ที่ไม่ใช่อาหรับและไม่ใช่ชาวมุสลิมที่นับถือนิกายสุหนี่