รอยเตอร์ - เศรษฐกิจบราซิลเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปี หลังการลงทุนลดลงอย่างรุนแรงและกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก นับเป็นความผิดหวังครั้งใหญ่ของประธานาธิบดีดิลมา รูสเซฟฟ์ ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้าศึกเลือกตั้งในเดือนตุลาคม
ชาติเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของละตินอเมริกา ต้องเผชิญกับภาวะเติบโตอย่างซึมเซามากว่า 3 ปี ภายใต้นโยบายทางเศรษฐกิจต่างๆ ของนางรูสเซฟฟ์ ประธานาธิบดีหัวเอียงซ้าย ที่กัดเซาะความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ รวมถึงถูกกลุ่มนักลงทุนทางการเงินต่างก็เบือนหน้าหนี
เศรษฐกิจประสบกับภาวะตกต่ำกว่าเดิมในช่วงไตรมาส 2 ด้วยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (IBGE) เผยในวันศุกร์ (29) ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หดตัวจากไตรมาสแรกร้อยละ 0.6 ขณะเดียวกันยังปรับลดประมาณการณ์จีพีดีในช่วงไตรมาสแรกเป็นหดตัวร้อยละ 0.2 นั่นจึงหมายความว่าเศรษฐกิจของบราซิลเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว
ตัวเลขดังกล่าวยืนยันว่า บราซิลเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกในปี 2008-09 หยิบยื่นอาวุธทรงแสนยานุภาพให้ฝ่ายต่อต้านนางรูสเซฟฟ์ ในศึกเลือกตั้งวันที่ 5 ตุลาคม ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่การเสนอตัวนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีอีกสมัยของเธอ อยู่ในภาวะอ่อนแอที่สุด
ผลสำรวจความคิดเห็นของสำนักโพลต่างๆ เผยให้เห็นว่านางรูสเซฟฟ์ กำลังตกเป็นฝ่ายตามหลัง มารินา ซิลวา ผู้สมัครสายกลางในกรณีที่ต้องตัดสินกันในการลงคะแนนรอบ 2 ซึ่งดูจากแนวโน้มแล้วดูมีความเป็นไปได้อย่างมาก
ซิลวาและส.ว.เอซิโอ เนเวส ผู้สมัครจากพรรคฝ่ายค้านหลักอื่นอีกคน วิพากษ์วิจารณ์นางรูสเซฟฟ์ อย่างดุเดือดต่อภาวะเงินฝืดและล้มเหลวในการรักษาแรงเหวี่ยงทางเศรษฐกิจที่เคยทำให้บราซิลเป็นขวัญใจของวอลล์สตรีทเมื่อทศวรรษที่แล้ว
เศรษฐกิจของบราซิลขยายตัวโดยเฉลี่ยร้อยละ 4 ระหว่างปี 2003 ถึง 2010 ภายใต้การบริหารงาน ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีคนก่อนหน้านางรูสเซฟฟ์ ขณะที่ในยุคสมัยของนางรูสเซฟฟ์ เศรษฐกิจของประเทศเติบโตเฉลี่ยแค่ร้อยละ 2 เท่านั้น
แม้ว่าเมื่อเร็วนี้นนางรูสเซฟฟ์จะพยายามขับเคลื่อนเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่การลงทุนในช่วงไตรมาส 2 ก็ยังลดลงร้อยละ 5.3 ถือว่าแย่ที่สุดตั้งแต่ต้นปี 2009 ขณะที่ตัวเลขการผลิตก็ปรับลดร้อยละ 1.5 นับเป็นการขยับลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน
นอกจากนี้แล้ว กิจกรรมทางธุรกิจก็ชะลอตัวลงในช่วงที่บราซิลเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก เดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม เนื่องจากหลายเมืองประกาศให้วันที่มีเกมการแข่งขันเป็นวันหยุด เพื่อป้องกันปัญหาการจรจาจรและประเด็นทางลอจิสติกส์ต่างๆ โดยมีโรงงานบางแห่งลดกำลังผลิตลงก่อนหน้าทัวร์นาเมนต์จะเริ่ม ด้วยคาดหมายว่าจะเกิดความวุ่นวายด้านการขนส่ง
อย่างไรก็ตาม นางรูสเซฟฟ์และทีมเศรษฐกิจของเธอ กล่าวโทษภาวะชะลอตัวว่าเป็นผลกระทบจากปัญหาต่างๆ ในต่างแดน อย่างเช่นในยุโรปตอนใต้ ขณะที่รัฐมนตรีคลังย้ำกับผู้สื่อข่าวว่าอัตราคนว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำและมีเสถียรภาพ และเชื่อว่าสถานการณ์ในบราซิลไม่ใช่การถดถอยที่แท้จริง