xs
xsm
sm
md
lg

จับตา! บราซิลส่อเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งเลวร้ายสุดในรอบ 100 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีดิลมา รูสเซฟฟ์ แห่งบราซิล
เอเอฟพี - ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของบราซิล หดตัวถึงร้อยละ 3.8 ในปี 2015 จากการเปิดเผยของรัฐบาลในวันพฤหัสบดี (3 มี.ค.) บ่งชี้ว่าชาติยักษ์ใหญ่ในละตินอเมริกาแห่งนี้กำลังมุ่งสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบอย่างน้อย 1 ศตวรรษ

แม้ข่าวคราวอันมืดมนล่าสุดจากบราซิลจะไม่เป็นที่แปลกใจนัก แต่มันก็เป็นการย้ำชัดถึงระดับความเลวร้ายของปัญหาที่รัฐบาลของประธานาธิบดีดิลมา รูสเซฟฟ์ ต้องเผชิญ ขณะที่ประเทศแห่งนี้ต้องดิ้นรนต่อสู้กับทั้งผลผลิตทางเศรษฐกิจที่หดตัวลงและอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงถึง 10.67 เปอร์เซ็นต์

สำนักงานสถิติแห่งชาติของบราซิลเผยว่า ตัวเลขของปี 2015 ถือเป็นการหดตัวของจีพีดีในปีเดียวครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 1990 โดยปีนั้นเศรษฐกิจหดตัวร้อยละ 4.3 และด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดหมายว่าจีพีดีของบราซิลจะหดตัวอีกร้อยละ 3.5 ในปีนี้ ดังนั้นจึงดูท่าว่าประเทศแห่งนี้อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งรุนแรงและยาวนานที่สุดเป็นประวัติการณ์

ตัวเลขจีดีพีดังกล่าวทำให้บราซิล ซึ่งเวลานี้เป็นเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อันดับ 7 ของโลก ถูกกล่าวโทษสำหรับภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ในละตินอเมริกา โดยที่เวเนซุเอลา เป็นชาติที่ตกอยู่ในภาวะเลวร้ายที่สุด หลังผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หดตัวถึงร้อยละ 10

ปัจจัยสำคัญที่ฉุดเศรษฐกิจของบราซิลได้แก่ภาคอุตสาหกรรม ที่หดตัวในปี 2015 ถึงร้อยละ 6.2 โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน ภาคอุตสาหกรรมเหมืองอันสำคัญที่สุด หดตัวร้อยละ 6.6 อันเป็นผลจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำทั่วโลก รวมถึงอุปสงค์โลหะเหล็กและวัตถุดิบอื่นๆที่อ่อนแอในบราซิล ขณะที่ภาคบริการก็หดตัวร้อยละ 2.7

ภาพจีดีพีที่เลวร้ายของบราซิลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาวะยุ่งเหยิงทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

เมื่อเร็วๆ นี้ประเทศที่มีประชากร 204 ล้านคนแห่งนี้ เพิ่งถูกยกในฐานะยักษ์ใหญ่ของตลาดเกิดใหม่ที่ท้ายที่สุดสามารถยืนหยัดได้ ขณะที่ศึกโอลิมปิกเกมส์ที่มีกำหนดจัดขึ้นในเมืองริโอ เดือนสิงหาคมนี้จะเป็นเครื่องแสดงถึงสถานะใหม่ดังกล่าว

จีดีพีของบราซิลเติบโตอย่างมั่นคงตลอดยุค 2000 ยกเว้นการหดตัวตามหลังวิกฤตการเงินโลก 2008 โดยขยายตัวถึงร้อยละ 7.5 ในปี 2010, ร้อยละ 3.9 ในปี 2011, ร้อยละ 1.9 ในปี 2012 และ ร้อยละ 3.0 ในปี 2013

โปรแกรมใช้จ่ายในโครงการอุดหนุนต่างๆ ของรัฐบาลถูกชื่นชมว่าช่วยเหลือประชาชนหลายล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเมืองและการเกษตรของประเทศก็เฟื่องฟูจากอุปสงค์อันร้อนแรงของจีน

ทว่า เวลานี้งานเลี้ยงจบลงด้วยความโหดร้าย และนางรูสเซฟฟ์ ที่ถูกรุมเร้าด้วยความพยายามถอดถอนและเรื่องอื้อฉาวคอรัปชันอันครึกโครม ดูเหมือนจะเหลือทางเลือกเพียงเล็กน้อย

เมื่อวันพุธ (2 มี.ค.) ธนาคารกลางบราซิลได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 14.25 แต่ก็ไม่สามารถหยุดอัตราเงินเฟ้อที่แตะระดับตัวเลข 2 หลัก ขณะที่อัตราคนว่างงานในตอนนี้อยู่ที่ร้อยละ 7.6 และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือหลักทั้ง 3 แห่ง ต่างลดระดับความน่าเชื่อถือของบราซิลอยู่ในสถานะขยะ โดยเตือนถึงการฟื้นตัวล่าช้าและความไม่แน่นอนทางการเมือง


กำลังโหลดความคิดเห็น