รอยเตอร์ - ดิลมา รูสเซฟฟ์ ประธานาธิบดีบราซิลที่ถูกพักงาน ประกาศในวันพฤหัสบดี (12 พ.ค.) ว่าจะต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง หลังวุฒิสภาลงมติสนับสนุนให้เปิดกระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนเธอจากตำแหน่ง ในฐานละเมิดกฎหมายงบประมาณ
นางรูสเซฟฟ์ ผู้นำฝ่ายซ้ายอยู่ในตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2011 ถูกแทนตำแหน่งโดยนายมิเชล ทีเมอร์ รองประธานาธิบดีของเธอ ซึ่งจะเข้ามารับหน้าที่รักษาการประธานาธิบดีระหว่างกระบวนการไต่สวนความผิดของวุฒิสภา ซึ่งคาดหมายว่าน่าจะใช้เวลาสูงสุด 6 เดือน
ในการแถลงไม่นานก่อนเดินทางออกจากทำเนียบประธานาธิบดี นางรูสเซฟฟ์บอกกับผู้สื่อข่าวว่าเธอได้รับแจ้งเกี่ยวกับการถูกพักงานในวันพฤหัสบดี (12 พ.ค.) และได้ย้ำในสิ่งที่เธอยืนหยัดมาตลอดตั้งแต่กระบวนการถอดถอนเธอได้เริ่มขึ้นในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนธันวาคม ปีก่อน
“ฉันอาจเคยทำผิดพลาด แต่ฉันไม่เคยก่ออาชญากรรมใดๆ” รูสเซฟฟ์แถลงด้วยความโกรธ พร้อมเรียกการถอดถอนว่าเป็น “การฉ้อฉล” และ “รัฐประหาร”
รูสเซฟฟ์แถลงข่าวโดยมีเหล่าคณะรัฐมนตรีหลายสิบคนที่กำลังพ้นจากตำแหน่งไปพร้อมกับเธอยืนขนาบข้าง โดยบางส่วนถึงกับน้ำตาซึม แต่ในส่วนของนางรูสเซฟฟ์แล้ว เธอไม่แสดงถึงความหวั่นไหวใดๆ “ฉันไม่เคยจินตนาการมาก่อนเลยว่า มันถึงคราวจำเป็นแล้วที่ต้องสู้กับการก่อรัฐประหารในประเทศแห่งนี้อีกครั้ง” เธอกล่าวอ้างถึงคนหนุ่มสาวที่เคยต่อสู้กับเผด็จการทหารของบราซิล
ไม่นานหลังจากนั้น นางรูสเซฟฟ์ได้ออกมากล่าวปราศรัยกับกลุ่มผู้สนับสนุนหลายร้อยคนที่อยู่ภายนอก หลายคนสวมชุดแดงของพรรคคนงานของเธอ และตะโกนว่า “ทีเมอร์ ออกไป”
“นี่คือชั่วโมงน่าเศร้าสำหรับประเทศของเรา” รูสเซฟฟ์กล่าว พร้อมชี้ว่าการพักงานเธอเป็นความพยายามของฝ่ายอนุรักษนิยมที่อยากทำให้ความรุ่งเรืองทางสังคมและเศรษฐกิจจากฝีมือของพรรคคนงานระหว่าง 13 ปีที่อยู่ในอำนาจก้าวถอยหลัง
พรรคแห่งนี้เติบโตมาจากกระบวนการแรงงานของบราซิล และช่วยดึงประชาชนหลายล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน ก่อนดำดิ่งสู่ภาวะถดถอยและเรื่องอื้อฉาวที่แกนนำหลายคนแปดเปื้อนไปด้วยการถูกสืบสวนข้อหาคอร์รัปชัน
วุฒิสภาใช้เวลาอภิปรายนานถึง 20 ชั่วโมง ก่อนลงมติ 55 ต่อ 22 เสียงในวันพฤหัสบดี (12 พ.ค.) รับนางรูสเซฟฟ์เข้าสู่กระบวนการสืบสวนตามข้อกล่าวหาปกปิดและปลอมแปลงยอดขาดดุลงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อให้เศรษฐกิจดูแข็งแกร่งเกินความเป็นจริง ก่อนหน้าที่เธอจะได้รับเลือกตั้งกลับมาดำรงตำแหน่งอีกสมัยในปี 2014
รูสเซฟฟ์ นักเศรษฐศาสตร์และอดีตสมาชิกกลุ่มกองโจรมาร์กซิสต์ ซึ่งเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของบราซิล ปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่าไม่ได้ทำอะไรผิด และเรียกข้อกล่าวหาต่างๆ เหล่านั้นว่ามีแรงจูงใจทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม แม้เธอประกาศสู้ต่อ แต่ดูเหมือนเธอไม่น่าจะพ้นผิดในกระบวนการไต่สวน เนื่องจากจำนวนคะแนนโหวตนำเธอเข้าสู่กระบวนการ แสดงให้เห็นว่าฝ่ายต่อต้านมีเสียงสนับสนุนมากเกิน 2 ใน 3 ที่จำเป็นสำหรับตัดสินว่าเธอมีความผิด และถอดเธอพ้นจากตำแหน่ง