เอเอฟพี - กลุ่มบริษัทหลักของยุโรป ส่งเสียงเอะอะโวยวายต่อการพิจารณาคดีนักเคลื่อนไหวชาวอังกฤษ ที่อาจต้องโทษจำคุกในไทย หลังถูกสืบสวนตามข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ ขณะที่องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรฟินแลนด์เตือนไทยปรับปรุงสภาพการจ้างงานที่ดีขึ้นแก่แรงงานข้ามชาติ ไม่เช่นนั้นอาจถูกผู้บริโภคบอยคอตต์ผลิตภัณฑ์
แอนดี ฮอลล์ ถูกเนเชอรัลฟรุต บริษัทแปรรูปผลไม้ไทยยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา ตอบโต้กรณีถูกกล่าวหาว่าบังคับแรงงานและใช้แรงงานเด็ก รวมถึงกดค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนดและมีชั่วโมงในการทำงานยาวนานเกินไป
“เราวิตกและกังวลอย่างยิ่งต่อพัฒนาการในทางลบนี้” ยูไนเต็ด นอร์ดิก กล่มพันธมิตรเหล่าบริษัทอาหารในยุโรปเหนือระบุในหนังสือที่ส่งถึงสมาคมแปรรูปอาหารของไทย “เราเชื่อว่าพัฒนาการนี้อาจยิ่งจะทำร้ายอุตสาหกรรมอาหารของไทยมากกว่าเดิม”
สเตนาร์ ฮัลวอร์เซน ซีอีโอของยูไนเต็ด นอร์ดิก บอกกับเอเอฟพีว่า กลุ่มของพวกเขาจะไม่ยอมรับการดำเนินการทางกฏหมายลักษณะดังกล่าวต่อผู้สื่อข่าวหรือบุุคคลอื่นๆที่สืบสวนและเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในโรงงานไทยหรือโรงงานอื่นใดทั่วโลก “เรามองว่าแนวทางที่ถูกต้องในการจัดการกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว ควรเป็นการเสนอข้อเท็จจริงและประสานงานเจรจาอย่างสร้างสรรค์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” เขากล่าว
นายฮอลล์มีกำหนดถูกนำตัวขึ้นศาลในกรุงเทพฯ วันที่ 2 กันยายนนี้ ในข้อหาใส่ร้ายทำลายชื่อเสียงอันเกี่ยวข้องกับกรณีที่เขาให้สัมภาษณ์กับเครือข่ายสถานีโทรทัศน์อัลญาซีเราะห์ ถึงรายงานของฟินน์ว็อทช์เกี่ยวกับบริษัทเนเชอรัลฟรุต
นักวิจัยฟินน์วอตช์และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติสัญชาติอังกฤษรายนี้ถูกริบพาสปอร์ตระหว่างการพิจารณาคดี ทั้งนี้หากถูกว่ามีความผิดตามคำฟ้องนี้จริง เขาก็อาจโดนจำคุกเป็นเวลา 1 ปี ขณะเดียวกัน เขายังต้องเผชิญข้อกล่าวหาอื่นที่ร้ายแรงกว่าภายใต้กฎหมายว่าด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งแต่ละกระทงจะมีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี ที่มีกำหนดเปิดการพิจารณาคดีถัดจากนี้ในเดือนกันยายนเช่นกัน
นอกจากนี้แล้ว เนเชอรัลฟรุต ซัปพลายเออร์รายใหญ่ของตลาดน้ำดื่มยุโรป ยังยื่นฟ้องทางแพ่ง เรียกค่าเสียหายเป็นเงินอีก 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายฮอลล์ประณามการฟ้องร้องดังกล่าวว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางกฎหมาย และในความเห็นที่ส่งผ่านอีเมล์ถึงเอเอฟพี เขาบอกด้วยว่ามันสะท้อนให้เห็นว่านักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยยังคงถูกลงโทษ ต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูงและสภาพแวดล้อมที่จำกัด
“โดยพื้นฐานแล้วการปกป้องสิทธิแรงงานต่างด้าวยังคงอันตรายและต้องเผชิญกับความท้าทายใหญ่หลวง บ่อยครั้งมากที่คนต่างด้าวถูกตีค่าเป็นแค่พลเมืองชั้นสองและถูกใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ แม้ว่าพวกเขามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งสำหรับอุตสากรรมส่งออกอาหารของไทย” เขากล่าว
โรงงานแห่งหนึ่งของเนเชอรัลฟรุตทางภาคใต้ของไทย ถูกสืบสวนตามรายงาน “Cheap Has a High Price” ของฟินน์วอตช์ องค์กรเฝ้าระวังจากฟินแลนด์ สืบเนื่องจากผลิตภัณฑ์สับปะรดของพวกเขาส่งออกไปขายยังซูเปอร์มาร์เกตในประเทศฟินแลนด์
ฟินน์วอตช์ระบุในถ้อยแถลงเรียกร้องไทย ชาติผู้ผลิตสับปะรดรายใหญ่ที่สุดของโลก เปลี่ยนวิธีการจากการข่มขู่และแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานต่างด้าว “มิฉะนั้นแล้ว มันจะเป็นอันตรายต่อบริษัทต่างๆ และผู้บริโภคจะไม่ต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ของไทยอีกต่อไป” ซอนยา วาร์เตียลา ผู้อำนวยการบริหารของฟินน์วอทช์กล่าว
ก่อนหน้านี้กลุ่มสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงานทั้งระดับชาติและสากล รวมถึงเอ็นจีโอเกือบ 100 แห่ง ส่งหนังสือแสดงเจตนารมณ์ร่วม เรียกร้องสมาคมอุตสาหกรรมสับปะรดไทยช่วยยุติการดำเนินคดีของเนเชอรัลฟรุต หนึ่งในสมาชิกของสมาคม
เอเอฟพีระบุว่า แรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะจากพม่า และกัมพูชา คือส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทยไล่ตั้งแต่อาหารทะเลไปจนถึงก่อสร้าง แต่จำนวนมากไม่มีใบอนุญาตการทำงานอย่างเป็นทางการและได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ