เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาเข้าสลายผู้ชุมนุมที่รวมตัวเรียกร้องให้ทางการเปิดใช้งานที่ชุมนุมหลักในกรุงพนมเปญ และจากเหตุปะทะกันที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 30 คน
ความรุนแรงปะทุขึ้นหลังนักเคลื่อนไหวฝ่ายค้านราว 300 คน รวมตัวประท้วงอยู่ภายนอกสวนเสรีภาพในกรุงพนมเปญ ที่ถูกปิดใช้งานนับตั้งแต่เหตุปราบปรามอย่างรุนแรงแรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในเดือน ม.ค.
นายจัน สุเวธ เจ้าหน้าที่จากสมาคมเพื่อการพัฒนาและสิทธิมนุษยชนกัมพูชา (ADHOC) ระบุว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และผู้ชุมนุมประท้วงเข้าปะทะกันด้วยไม้ และหิน จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 30 คน ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
ช่างภาพของสำนักข่าวเอเอฟพีที่อยู่ในที่เกิดเหตุระบุว่า มีเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 2 นาย นอนอยู่บนพื้น และมีเลือดออกจากบาดแผลที่ศีรษะ
“เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาหลายนัดเพื่อสลายการชุมนุม” อัม สัม อัธ จากกลุ่มสิทธิมนุษยชน LICALHO ระบุ
นับเป็นการชุมนุมของฝ่ายค้านครั้งล่าสุดในกัมพูชาที่ทางการได้ตอบโต้ด้วยความรุนแรงต่อผู้เห็นต่างในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้
เมื่อเดือน ม.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงปืนใส่พนักงานโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผละงานประท้วงเรียกร้องให้ปรับค่าแรงสูงขึ้น จนเสียชีวิตไป 4 คน ซึ่งนักเคลื่อนไหวระบุว่า เป็นความรุนแรงจากรัฐต่อประชาชนครั้งเลวร้ายที่สุดของประเทศในรอบ 15 ปี
เค็ง ติโต โฆษกสารวัตรตำรวจระบุว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 17 นาย ได้รับบาดเจ็บในการปะทะกันเมื่อวันอังคาร (15) และนักการเมืองฝ่ายค้าน 3 คน ถูกควบคุมตัวจากการนำการประท้วง
กัมพูชา ได้ยุติคำสั่งห้ามการชุมนุมประท้วงในที่สาธารณะที่ระบุขึ้นหลังการผละงานประท้วงของแรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป
นายยิม สุวรรณ โฆษกพรรคกู้ชาติกัมพูชา ที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน ได้เรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวคนของพรรค โดยระบุว่า การกระทำของพวกเขาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
“ทางการไม่ควรปิดสวนเสรีภาพ เพราะนี่เป็นสถานที่เดียวสำหรับประชาชนในกรุงพนมเปญ และจังหวัดอื่นๆ เพื่อใช้ในการชุมนุมประท้วง” ยิม สุวรรณ กล่าว
สวนเสรีภาพเปิดใช้งานในปี 2553 โดยถูกออกแบบให้เห็นพื้นที่สำหรับประชาชนในการแสดงความคิดเห็น คล้ายกับสวนสาธารณะไฮด์ปาร์ก ในกรุงลอนดอน แต่สวนแห่งนี้ถูกปิดล้อมด้วยรั้วลวดหนามตั้งแต่เดือน พ.ค.
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีการจัดการชุมนุมหลายสิบครั้งที่ด้านนอกสวนแห่งนี้ ซึ่งกลุ่มสิทธิมนุษยชนได้กล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่เข้าทำร้ายประชาชนถูกว่าจ้างโดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น
ทูตพิเศษสหประชาชาติประจำกัมพูชา ที่เดินทางเยือนกัมพูชาเดือนก่อนได้กล่าวเตือนว่า พื้นที่ประชาธิปไตยของกัมพูชากำลังหดตัวลง
“สิ่งกีดขวางที่สวนเสรีภาพไม่เป็นไปตามหลักของกฎหมาย และยังส่งผลกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และการรวมตัวชุมนุมของประชาชนชาวกัมพูชา” ทูตพิเศษสหประชาชาติ กล่าว
นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ผู้นำกัมพูชา ต้องเผชิญต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับการปราบปรามการชุมนุมประท้วงที่มีจุดมุ่งหมายท้าทายอำนาจเกือบ 3 ทศวรรษของเขา หลังการเลือกตั้งพิพาทเมื่อปีก่อน และนักการเมืองพรรคฝ่ายค้านได้คว่ำบาตรรัฐสภานับแต่นั้น และเมื่อเดือนก่อน การหารือระหว่างพรรคกู้ชาติกัมพูชากับพรรคประชาชนกัมพูชาเกี่ยวกับข้อเรียกร้องที่รวมทั้งการจัดการเลือกตั้งใหม่ก็ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกันได้.
ปะทะเดือดPhoto/Agence France-Press