xs
xsm
sm
md
lg

กอ.รมน.เผยเหตุใต้ช่วงรอมฎอนลด สั่งเพิ่มการป้องกัน-ปราบปราม วิเคราะห์แนวโน้มก่อเหตุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โฆษก กอ.รมน.เผยแม่ทัพภาค 4 แจงที่ประชุม ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ถึงสถานการณ์ใต้ สั่งชาวบ้านงดสวมหมวกกันน็อกเมื่อเข้าเขตเมือง พร้อมปฏิบัติการเชิงรุก จับ กดดัน ใช้กฎหมายเข้ม ชูเหตุช่วงรอมฎอนลด พากลุ่มสิทธิมนุษยชนเยี่ยมชมการควบคุมตัว เชิญคนเห็นต่างเป็นที่ปรึกษา ด้านเลขาฯ กอ.รมน.สั่งเพิ่มมาตรการป้องกันและปราบปราม ตรวจสอบสาเหตุ และวิเคราะห์แนวโน้ม สร้างความเข้าใจองค์กรต่างประเทศ

วันนี้ (23 ก.ค.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) เพื่อติดตามสถานการณ์ โดยมี พล.อ.อักษรา เกิดผล เสนาธิการทหารบก และเลขาธิการ กอ.รมน. เป็นประธานการประชุมว่า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ทาง พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 ได้บรรยายสรุปสถานการณ์ และการปฏิบัติที่สำคัญในรอบสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 16-22 ก.ค. โดยระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ โดย พล.ท.วลิตได้ระบุถึงสถิติการเกิดเหตุรวมทั้งสิ้น 13 เหตุการณ์ แยกเป็นคดีความมั่นคง 4 เหตุการณ์ เรื่องส่วนตัว 5 เหตุการณ์ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ 4 เหตุการณ์ การควบคุมสถานการณ์ได้ปฏิบัติการเชิงรับด้วยการเพิ่มความเข้มงวดของด่านตรวจ จุดตรวจ และเสริมจุดสกัด รอบนอกด่านตรวจและจุดตรวจ การขอความร่วมมือประชาชนในการไม่สวมหมวกนิรภัย เมื่อเข้าเขตเมือง อาคารสาธารณะ ธนาคาร ร้านสะดวกซื้อ และปฏิบัติการเชิงรุกติดตามจับกุม ลาดตระเวน กดดันในพื้นที่ที่ปรากฏข่าวสาร และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ผลทำให้ในช่วง 4 วันแรกของ 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน เหตุการณ์ลดลงจากช่วงปีที่ผ่านมา

พ.อ.บรรพตกล่าวต่อว่า ส่วนการปฏิบัติตามนโยบายและสั่งการในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เชิญภาคประชาสังคม กลุ่มอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 15 คน เข้าเยี่ยมชมกระบวนการควบคุมตัว และซักถามผู้ต้องสงสัยที่เชิญตัวตามกฎอัยการศึก และการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งที่มีความเห็นด้วย และเห็นต่างกับรัฐ จำนวน 50 คน แต่งตั้งเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษา กอ.รมน.ภาค 4 สน. มีองค์ประกอบ 6 กลุ่ม คือ กลุ่มศาสนา กลุ่มการศึกษา กลุ่มเศรษฐกิจ กลุ่มสื่อมวลชน กลุ่มภาคประชาสังคม และองค์กรพัฒนาเอกชน และกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น สำหรับการปฏิบัติตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบให้ กอ.รมน.จังหวัด จัดตั้งศูนย์ดำรงธรรม และฉก.จังหวัด จัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อเพิ่มช่องทางการช่วยเหลือและสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน และการประชุมชี้แจงขั้นตอนการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว สัญชาติพม่า ลาว กัมพูชา ที่หอประชุมอำเภอเมืองปัตตานี โดยมีนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบการที่ใช้แรงงานต่างด้าวเข้ารับฟังกว่า 700 คน

“ภายหลังจากการรับฟังบรรยายสรุป ทางเลขาธิการ กอ.รมน.ได้ขอให้หน่วยเพิ่มมาตรการป้องปรามการก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นมาตรการเสริมช่วยลดการก่อเหตุ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ช่วงนี้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.ปัตตานี มากกว่าพื้นที่อื่น จึงขอให้หน่วยตรวจสอบสาเหตุ และวิเคราะห์แนวโน้มการเกิดเหตุในระดับยุทธการ สำหรับการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนนั้นถือว่ามีความสำคัญในมุมมองของต่างประเทศ ขอให้หน่วยพยายามเสริมสร้างความเข้าใจกับกลุ่มองค์กรต่างๆ ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตามที่หัวหน้า คสช.ได้เคยสั่งการไว้แล้ว” โฆษก กอ.รมน.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น