เอเอฟพี - นักวิทยาศาสตร์ชาวเบลเยียม ผู้ค้นพบเชื้อไวรัสอีโบลาเมื่อปี 1976 "ปีเตอร์ ปิอ็อต" ได้ออกมาระบุในวันนี้ (26 ส.ค.) ว่าปัจจัยต่างๆ ที่เกื้อหนุนกันอย่างประจวบเหมาะ คือตัวการที่ทำให้การแพร่ระบาดอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกไม่สามารถควบคุมได้
หนังสือพิมพ์รายวัน "ลิเบราซิยอง" ของฝรั่งเศส รายงานโดยอ้างคำพูดของปิอ็อตที่ระบุว่า ไม่เคยเห็นการระบาดของเชื้ออีโบลามากขนาดนี้ โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เขาได้เป็นประจักษ์พยานในปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "เพอร์เฟ็กสตอร์ม" ที่ปัจจัยต่างๆ ล้วนเกื้อหนุนให้การระบาดรุนแรงขึ้น
"อีโบลาแพร่ระบาดในหลายประเทศที่ระบบสาธารณสุขขาดประสิทธิภาพ อันเนื่องมาจากความเสียหายที่เกิดจากสงครามกลางเมืองนานนับทศวรรษ นอกจากนี้ความรู้สึกหวาดระแวงสงสัยในภาครัฐ ยังฝังลึกเข้าไปในใจของประชาชน ดังนั้นจึงต้องมีการฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาก่อน มิฉะนั้นคงแก้ไขอะไรไม่ได้" ปิอ็อต กล่าว
ปิอ็อต เป็นอดีตผู้อำนวยการของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) และในปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของสถาบันสุขศึกษาและการแพทย์เขตร้อนในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นศูนย์การแพทย์ระดับแนวหน้าของโลก ที่มีความเชี่ยวชาญด้านโรคระบาดในเขตร้อน
ในบทสัมภาษณ์ เขาได้ตำหนิบรรดาหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับความล่าช้าจนผิดปกติของมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของอีโบลาในรอบนี้
เขาระบุว่า องค์การอนามัยโลกเพิ่งจะมาตื่นเอาเมื่อเดือนกรกฎาคม ทั้งที่การระบาดได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ขณะที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาเตือนช่วงต้นเดือนมีนาคม แม้ว่าตอนนี้ฮูได้แสดงความเป็นผู้นำออกมาแล้วแต่มันก็ช้าเกินไป
เชื้อไวรัสอีโบลาได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 1,427 ราย และมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 2,600 ราย ขณะที่บรรดาแพทย์และพยาบาลที่ดูแลผู้ติดเชื้อ ต่างก็ต้องเจอกับความสูญเสียอย่างหนักจนล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมากจากไวรัสชนิดนี้