เอเอฟพี - สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์คองโก) ออกมายืนยันการพบผู้ติดเชื้อโรคอีโบลา 2 รายแรกของประเทศในปีนี้ แต่อ้างว่าพวกเขาไม่ได้เกี่ยวโยงกับการแพร่ระบาดของเชื้อมรณะชนิดนี้ใน 4 ประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดองค์การสหประชาชาติก็ออกมาประกาศวานนี้ (24 ส.ค.) ว่าหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขของพวกเขาซึ่งเป็นนักระบาดวิทยา ได้ติดเชื้อขณะปฏิบัติงานในเซียร์ราลีโอน
ผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลารายแรกของอังกฤษ ซึ่งเป็นพยาบาลหญิงที่สัมผัสกับเชื้อไวรัสในเซียร์ราลีโอน ได้ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอนแล้วเมื่อวานนี้ (24) เช่นกัน
ข่าวสารเกี่ยวกับการแพร่บาดของเชื้อไวรัสอีโบลาที่น่ากังวลในตอนนี้มีขึ้นขณะที่ บรรดาเจ้าหน้าที่ยูเอ็นให้คำมั่นว่าจะยกระดับความพยายามในการรับมือกับเชื้อไวรัสเขตร้อนชนิดนี้ ซึ่งทำให้มีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 2,600 คน และคร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 1,427 ราย ตัวเลขของ WHO ที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (22) ระบุ
เฟลิกซ์ คาบันเก นัมบี รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของดีอาร์คองโกแถลงที่กรุงกินชาซาว่า 2 ใน 8 ตัวอย่างที่ถูกคัดเลือกมาจากผู้ป่วยไข้หวัดปริศนา มีผลตรวจออกมาเป็นบวกสำหรับเชื้อไวรัสอีโบลา
“ผลออกมาเป็นบวก เชื้อไวรัสอีโบลาได้ถูกพบแล้วในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก” คาบันเกบอกกับเอเอฟพี
เขาได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ของรัฐหลังจากนั้นว่า การยืนยันถึงการพบเชื้อไวรัสในครั้งนี้นับเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาครั้งที่ 7 ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ที่ซึ่งมีการค้นพบเชื้อไวรัสดังกล่าวเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1976 ใกล้แม่น้ำอีโบลา
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า ทั้งสองกรณีล่าสุดนี้ “ไม่มีความเชื่อมโยงกับการแพร่ระบาดในแอฟริกาตะวันตก” และเป็นสายพันธุ์ที่ต่างจากเชื้อไวรัสอีโบลาของแถบนั้น
ทันทีที่มีการประกาศยืนยันการพบเชื้อ ทางการก็ได้กำหนดเขตกักกันโดยรอบพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในจังหวัดเอกวาเตอร์ (Equateur) ใกล้เมืองเจรา ที่อยู่ห่างจากกรุงกินชาซาไปทางตะวันออกเฉียงเหนือไกลกว่า 1,200 กิโลเมตร
องค์การแพทย์ไร้พรมแดน ซึ่งเป็นกลุ่มบรรเทาทุกข์ทางการแพทย์ระบุว่า พวกเขากำลังส่งทีมปฏิบัติงานไปช่วยดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ดังกล่าว
ทั้งนี้ WHO ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับผู้เชี่ยวชาญที่ติดเชื้อ แต่ระบุว่าเขากำลัง “ได้รับการดูแลอย่างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” และกำลังมีการพิจารณาถึงการอพยพผู้ป่วยออกมารักษาที่อื่น