xs
xsm
sm
md
lg

ข้อตกลงการค้า TPP ต้องเอื้อแก่ทุกประเทศ

เผยแพร่:   โดย: ฮาร์ชา วาร์ดานา ซิงห์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Wanted: an inclusive TPP trade pact
By Harsha Vardhana Singh
07/08/2014

โฟกัสในการเจรจาข้อตกลงการค้าภายในกลุ่มหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกบ่งชี้ว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่โอกาสเชิงเศรษฐกิจและตลาดจะถูกแยกส่วนไปสร้างผลประโยชน์เฉพาะแก่สมาชิกกลุ่ม  เรื่องนี้เป็นอะไรที่ต้องป้องกันเพื่อสร้างระบบที่จะเอื้อประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในโลกของเราที่นับวันแต่จะต้องพึ่งพิงกันและกันมากขึ้นเรื่อยๆ

นิวยอร์ก – การเจรจาว่าด้วยความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ปรากฏเป็นข่าวใหญ่บ่อยครั้งในระยะที่ผ่านมา แต่ที่มาที่ไปของข่าวมิได้เป็นไปเพื่อสิ่งที่ถูกต้องเสียทั้งหมด
สื่อมวลชนนำเสนอผลกระทบของ TPP ออกมาเป็นภาพที่ขาดความสมบูรณ์ โดยส่วนใหญ่ไปมุ่งที่กระบวนการการเจรจา กับการครอบงำโดยพวกประเทศใหญ่  การเจรจาเหล่านี้ซึ่งจัดกันหลายครั้งในกรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา ถูกสื่อมวลชนวิพากษ์อย่างกว้างขวางว่ามีอาการปกปิดลี้ลับ ไม่ว่าจะเป็นสื่อของแคนาดาเอง หรือสื่อมวลชนระดับโลก
อย่างไรก็ตาม มีข่าวรั่วและเอกสารหลุดต่างๆ นานา โผล่ออกมาชี้ว่าขอบเขตโดยรวมของการเจรจาที่ดำเนินกันอยู่เหล่านี้มุ่งเพื่อพัฒนาระบอบการค้าและการลงทุนของศตวรรษที่ 21  ในการนี้ แทบจะไม่มีความใส่ใจในประเด็นว่าด้วยสภาพการณ์ร้ายแรงที่ TPP อาจสร้างขึ้นมาภายในตลาดของประเทศที่มิได้เป็นส่วนหนึ่งของวงเจรจา แต่มีส่วนอย่างยิ่งในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ประเทศที่กำลังเจรจาข้อตกลง TPP นี้
ความตกลง TPP เป็นข้อเสนอเพื่อจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาค (FTA) ซึ่งปัจจุบันนี้อยู่ระหว่างการเจรจาในกลุ่ม 12 ชาติแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม (ซึ่งต่างจากองค์การการค้าโลกที่มีสมาชิกจำนวน 160 เขตเศรษฐกิจ) ทั้งนี้ ขนาดของเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มนี้มีสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของการค้าและการลงทุนทางตรงของโลก ดังนั้น การเจรจาของชาติสมาชิก TPP จะต้องไม่สร้างระบบใดๆ ที่เอื้อเฉพาะชาติสมาชิก หรือกลายเป็นการแยกวงออกต่างหาก หรือส่งผลกระทบต่อโอกาสทางเศรษฐกิจของชาติอื่นๆ
การเจรจาการค้าที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันจะพุ่งเป้าและเน้นกันมาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่มาตรการทางภาษี (NTB) เช่น มาตรฐานที่กำหนดบทบัญญัติไว้กับผลิตภัณฑ์ที่จะวางจำหน่ายในตลาดบางประเภท มาตรฐานเหล่านี้สามารถสร้างผลกระทบวงกว้าง เช่น มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม หรือมาตรฐานเชิงสังคม ในเวลาเดียวกันมาตรฐานพวกนี้อาจส่งผลเป็นการสร้างสเปกของผลิตภัณฑ์ เช่น สเปกของรถยนต์ เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ผลไม้ ฯลฯ  เรื่องนี้บ่งชี้ว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ตลาดและโอกาสทางเศรษฐกิจจะถูกแบ่งแยกแตกทอนลงเป็นส่วนๆ และกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับทุกฝ่าย  แต่หากจะป้องกันก็ยังทำได้ผ่านกระบวนการที่สร้างระบบซึ่งครอบคลุมทั่วถึง อันเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในโลกของเราที่นับแต่จะต้องพึ่งพากันและกันมากขึ้นเรื่อยๆ
ในระยะห้าถึงเจ็ดปีข้างหน้า ปัจจัยว่าด้วยการขยายตัวอย่างรวดเร็วของชนชั้นกลางในภูมิภาคต่างๆ ที่ไม่ใช่กลุ่ม TPP และปัจจัยความเชื่อมโยงระหว่างการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะสามารสร้างความขัดแย้งสำคัญหากปราศจากระบบที่ครอบคลุมทั่วถึง
เมื่อเร็วๆ นี้ ผมไปร่วมเวิร์คชอปในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งถกกันอย่างละเอียดยิบในหัวข้อว่า ผลกระทบของ TPP ต่อจีนและอินเดีย  โดยเป็นประชุมเชิงปฏิบัติการที่มีเจ้าภาพร่วม 3 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันนานาชาติเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ International Institute for Sustainable Development (IISD) ศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ International Centre for Trade and Sustainable Development (ICTSD)  และสมาคมจีนเพื่อการศึกษาองค์การการค้าโลก หรือ China Society for WTO Studies (CWTO) ในเวิร์กชอปครั้งนี้ ผมให้ความเห็น 2 ประการไปยังอินเดีย จีน ตลอดทั้งชาติกำลังพัฒนาทั้งปวงว่า (1)ประเทศเหล่านี้ควรยกระดับศักยภาพเพื่อให้ปฏิบัติได้ตามมาตรฐานที่นับแต่จะพัฒนาสูงขึ้นไป เพื่อที่จะรักษาขีดความสามารถในการเข้าถึงตลาดไว้ได้อย่างต่อเนื่องโดยปราศจากปัญหาแรงๆ ทั้งปวง และ (2)ประเทศนอกกลุ่ม TPP ควรรวมพลังเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบการค้าที่ครอบคลุมทั่วถึง พร้อมนี้ผมได้เสนอแนะแนววิธีที่จะดำเนินการดังกล่าวไว้แล้ว
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานหลักเพื่อพัฒนาระบบซึ่งครอบคลุมทั่วถึงภายใน TPP จะต้องมาจากการเจรจาต่อรองข้อตกลงเหล่านั้น เพื่อที่จะรักษาความเชื่อมโยงกับส่วนอื่นๆ ของโลกได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ
ในขณะที่บางเขตเศรษฐกิจต่างๆ อาจเข้าร่วมใน TPP เมื่อได้มีการสรุปรายละเอียดที่เกี่ยวข้องออกมาอย่างชัดเจนแล้ว แต่จะอย่างไรก็ตาม เขตเศรษฐกิจอื่นๆ ที่อาจไม่สะดวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ TPP ก็ย่อมเป็นส่วนสำคัญของระบบการค้าที่สร้างโอกาสแห่งความเจริญอันยั่งยืนให้แก่เขตเศรษฐกิจทั้งมวล การไปหน่วงเหนี่ยวยับยั้งความมีส่วนร่วมของเขตเศรษฐกิจเหล่านี้ย่อมหมายถึงการไปจำกัดศักยภาพดีๆ ของระบบโดยรวม
เมื่อพิจารณาว่า TPP คงจะกำหนดมาตรฐานสูงลิ่วนานัปการขึ้นมา  แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นจึงมีอยู่ว่าความพร้อมของประเทศต่างๆ จะแตกต่างกันไปหลากหลายมากมาย
เมื่อปลายปี 2013 เกาหลีใต้ประกาศว่าสนใจจะเข้าร่วม TPP  ขณะที่ภายในจีนมีการถกกันอย่างเข้มข้นว่าจะเข้าร่วม TPP ดีหรือไม่
ในบราซิล ภาคส่วนต่างๆ ในซีกเอกชนมีท่าทีเปิดรับการเข้าร่วมกับอภิมหา FTA นี้ แต่ในซีกของรัฐบาลยังสงวนท่าที ส่วนในอินเดีย บรรดาผู้กำหนดนโยบายเริ่มเปิดฉากกระบวนการยกระดับศักยภาพภายในประเทศ แต่สำหรับช่วงหลายปีข้างหน้านี้ ยังไม่มีแนวโน้มมากนักว่าอินเดียจะสามารถเข้าร่วมในข้อตกลงอย่าง TPP ได้ไหว
สำหรับเขตเศรษฐกิจทั้งหลายในแอฟริกายังไม่เข้าสู่กระบวนการที่จะร่วมขบวนกับอภิมหา FTA อย่าง TPP กันเลย สถานภาพการเตรียมตัวก็นับว่าน้อยกว่าบรรดาเขตเศรษฐกิจใหญ่ในทวีปอื่น ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า TPP อาจจะไม่สามารถได้สรุปลงเป็นมรรคผลได้ แล้วไฉนจะไปใยดี
กระนั้นก็ตาม การเจรจา TPP กลับเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่รวดเร็วดั่งใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยคาดกันว่าจะฉลุยกันได้ในหลายๆ เดือนข้างหน้า
จีนซึ่งตระหนักถึงการก่อตัวของระบอบการค้าใหม่ที่ใกล้จะเป็นจริงภายในภาคส่วนใหญ่ๆ ของตลาดโลก ได้แสดงความพร้อมที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปเชิงนโยบายในอันที่จะเสริมเขี้ยวเล็บของพวกตนให้แข็งแกร่งดีขึ้นมาเพื่อจะรับมือได้กับโลกแห่งกฎระเบียบข้อบังคับใหม่ๆ ในการค้าและการลงทุน
สิ่งนี้จะช่วยสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่ฐานะแห่งความเป็นศูนย์กลางสำคัญของห่วงโซ่การเพิ่มมูลค่าสินค้าของโลก หรือ GVC เพื่อให้เอื้อแก่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างแท้จริง ความน่าสนใจเป็นพิเศษอยู่ที่ว่า การเตรียมตัวรับมือกับโลกยุคหลังการก่อตั้ง TPP นั้น จะต้องสัมพันธ์ให้ดีกับการปฏิรูปภายใน ณ ขั้นตอนถัดๆ ไปอย่างแนบแน่น
ในการนี้ แม้แต่จีนซึ่งเป็นชาติกำลังพัฒนาที่ก้าวหน้าค่อนข้างสูงมาก ก็ยังรู้ตัวว่า เป็นการยากยิ่งที่จะเข้าถึงตลาดในยุคหลังการก่อตั้ง TPP นอกเสียจากว่าข้อตกลง TPP มีระบบที่ครอบคลุมทั่วถึง และดังนั้นสำหรับประเทศที่มีการพัฒนาน้อยกว่าจีน เรื่องนี้ก็จะยิ่งยากมากขึ้น บริบทของมาตรฐานภายใต้ TPP มีแนวโน้มว่าจะสูง ซึ่งหมายถึงว่าต้นทุนของสินค้าส่งออกจะสูงขึ้นอย่างใหญ่หลวงสำหรับประเทศกำลังพัฒนาทั้งปวง
ขณะที่ภายใน TPP มีแนวโน้มสูงมากว่าจะเต็มไปด้วยเงื่อนไขด้านมาตรฐานซึ่งปรากฏดาษดื่นในสหรัฐฯ ในเวลาเดียวกัน ก็ยังมีการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนการค้าและการลงทุนข้ามแอตแลนติก (TTIP) ดำเนินอยู่ในระหว่างสหรัฐฯ กับอียู ซึ่งเน้นมากในเรื่องข้อกำหนดด้านมาตรฐานเช่นกัน  และคาดได้ว่าผลการเจรจาของ TPP ย่อมไม่อาจจะแตกต่างอะไรนักกับ TTIP
ผลการศึกษาจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าอุปสรรคกีดขวางการเข้าสู่ตลาดด้วยประเด็นมาตรฐานนั้น เป็นเรื่องที่ตระหนักกันอย่างยิ่งในบรรดาผู้ส่งออก รวมทั้งผู้ส่งออกอเมริกันและอียูที่ส่งสินค้าไปขายยังตลาดของกันและกัน  ในทำนองละม้ายกัน บริษัทฟอร์ด มอเตอร์ ของสหรัฐฯ ก็โวยไว้ว่ามาตรฐานของเกาหลีใต้เรื่องการปล่อยมลพิษไอเสียในยานยนต์จะทำให้ต้นทุนของ Ford Explorer สูงขึ้นคันละ 7,000 ดอลลาร์
เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงว่าการค้าและการลงทุนมีบทบาทสำคัญในศักยภาพการเติบโต การไม่สามารถเข้าถึงตลาดของกลุ่ม TPP ย่อมจะส่งผลเป็นความเสียหายอย่างมหาศาลสำหรับอินเดีย จีน และประเทศที่ไม่เป็นสมาชิกของ TPP อีกมากมาย
ในท้ายที่สุด ประเทศกำลังพัฒนาและเป็นตลาดเกิดใหม่อย่างจีน อินเดีย บราซิล ฯลฯ คงต้องดำเนินการอันเหมาะสมอย่างเช่น การรวมพลังงานเข้าด้วยกันเพื่อกดดันให้ได้เงื่อนไขซึ่งจะแน่ใจได้ว่าระบบการค้าระหว่างประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นมาใหม่นี้จะไปด้วยกันได้กับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่มิได้เข้าร่วมในข้อตกลง TPP หรือ TTIP
การผนึกประสานกันย่อมเป็นประโยชน์กว้างขวางครอบคลุมได้ถึงเรื่องของการยกระดับศักยภาพ ไปจนถึงการทำงานร่วมกันในโครงการความร่วมมือและโครงการการประสานงานต่างๆ
ความร่วมแรงร่วมใจนั้นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งยวดแก่การพัฒนาระบบที่จะนำมาใช้ร่วมกันอย่างทั่วถึง เพราะหากดำเนินการแยกส่วนไปในแต่ละประเทศย่อมจะสร้างผลกระทบได้ไม่มากพอที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบของกฎระเบียบที่กำลังพัฒนาตัวขึ้นมา การตอบโต้แบบที่เป็นการรวมพลังอย่างมีแบบแผนจะเสริมความแข็งแกร่งให้แก่พลังกดดันพวกชาติที่กำลังเร่งเจรจาสร้างระบบชุดใหม่ขึ้นมา เพื่อให้ระบบใหม่ๆ เหล่านี้เอื้อแก่ทุกประเทศ แทนที่จะกลายเป็นเรื่องที่สงวนรักษาไว้แก่พรรคพวกเดียวกันเท่านั้น

ดร.ฮาร์ชา วาร์ดานา ซิงห์ เป็นนักวิชาการอาวุโสของสถาบันนานาชาติเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ International Institute for Sustainable Development (IISD) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2013 โดยได้ให้คำแนะนำและการสนับสนุนแก่การดำเนินงานของสถาบันในประเทศจีน ตลอดจนการดำเนินงานเกี่ยวกับระบบการค้าพหุภาคี ก่อนเข้าร่วมงานใน IISD ดร.ซิงห์เคยดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) ช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2005 – กันยายน 2013

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจาก สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส) http://www.ipsnews.net ซึ่งเป็นสถาบันเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศที่มีสำนักข่าวระดับโลก (สำนักข่าวไอพีเอส) เป็นแกนกลาง ไอพีเอสก่อตั้งขึ้นในปี 1964 มีความชำนาญเป็นพิเศษในการเสนอข่าวด้านพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจ, สิทธิมนุษยชน, สิ่งแวดล้อม, ตลอดจนเรื่องนโยบายการต่างประเทศของพวกมหาอำนาจพัฒนาแล้ว ซึ่งมองจากแง่มุมของการที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับพวกประเทศกำลังพัฒนา
กำลังโหลดความคิดเห็น