xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มบังคับใช้ ‘ข้อตกลงการค้าเสรีจีน-สวิส’ เอฟทีเอสำคัญที่สุดในเวลานี้ของแดนมังกร

เผยแพร่:   โดย: อเล็กซานเดอร์ คาเซลลา

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Sino-Swiss FTA comes into force
By Alexander Casella
09/07/2014

ข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างจีนกับสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งลงนามกันเมื่อปีที่แล้ว เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป เมื่อมองจากหลายแง่หลายมุมแล้ว ข้อตกลงนี้ ถือเป็นสัญญาประเภทนี้ฉบับสำคัญที่สุดสำหรับแดนมังกรทีเดียว

เจนีวา, สวิตเซอร์แลนด์ - ในวันที่ 1 กรกฎาคม ข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ลงนามกันไว้เมื่อปีที่แล้วระหว่างจีนกับสวิตเซอร์แลนด์ เริ่มมีผลบังคับใช้ ข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งมีความยาวกว่า 1,100 หน้าและใช้เวลาในการเจรจาจัดทำกันอยู่นานถึง 7 ปี คือเอฟทีเอฉบับที่ 3 เท่านั้นที่แดนมังกรลงนามกับประเทศตะวันตกใดๆ ก็ตาม และน่าจะถือได้ว่าเป็นฉบับที่มีความสำคัญที่สุดด้วย ทั้งนี้ สำหรับจีนแล้ว นี่คือข้อตกลงการค้าเสรีฉบับแรกที่ทำกับประเทศในภาคพื้นยุโรป อีกทั้งเป็นฉบับแรกที่ทำกับชาติเศรษฐกิจชั้นนำ 1 ใน 20 รายของโลก

ในระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ปักกิ่งมีความมั่นอกมั่นใจมากขึ้นเรื่อยๆ ในการเข้ามีปฏิสัมพันธ์ในทางการทูตแบบพหุภาคี กระนั้นก็ตามที ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคียังคงเป็นแวดวงซึ่งการทูตของจีนมีความมั่นอกมั่นใจสูงที่สุด สภาพการณ์เช่นนี้ยิ่งเห็นได้ชัดเจนแจ๋วแหวว เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และยิ่งเป็นจริงขึ้นไปใหญ่เมื่อเป็นประเด็นนโยบายการเปิดการค้าเสรีกับดินแดนซึ่งอยู่นอกเหนือเขตผลประโยชน์โดยตรงของแดนมังกร

ด้วยเหตุนี้เอง ในเบื้องต้นทีเดียว จีนจึงมักจำกัดวงการเปิดเจรจาด้านการค้าเสรี ให้อยู่เฉพาะกับพวกประเทศและดินแดนอย่าง ฮ่องกง, มาเก๊า, สิงคโปร์, และ 10 ชาติสมาชิกสมาคมอาเซียน จนกระทั่งภายหลังจากนั้นมา แดนมังกรจึงได้เสาะแสวงหาทางขยายหุ้นส่วนทำการค้าเสรีให้เพิ่มมากขึ้นอีก

สำหรับสวิตเซอร์แลนด์ นับว่าเป็นรัฐยุโรปรายที่ 2 และสมาชิกรายที่ 3 ใน 34 รัฐสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development ใช้อักษรย่อว่า OECD) ซึ่งได้เซ็นข้อตกลงเอฟทีเอกับจีน ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2007 จีนได้ลงนามเอฟทีเอกับนิวซีแลนด์ ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ผลของข้อตกลงดังกล่าวที่มีต่อแดนกีวี อยู่ในระดับน่าตื่นตาตื่นใจ โดยที่ในช่วงระหว่างปี 2007 ถึง 2013 สินค้านิวซีแลนด์ซึ่งส่งออกเข้าสู่จีนได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าตัว และการค้าขายทั้งหมดระหว่างสองประเทศนี้ก็เพิ่มขึ้นจากระดับ 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 9,700 ล้านดอลลาร์ เมื่อมองกันเป็นภาพรวมแล้ว การค้าที่ทำกับจีนนี่เองได้รับยกย่องว่าทำให้นิวซีแลนด์มีที่พักพิงหลบภัย จนเศรษฐกิจแดนกีวีรอดพ้นผลกระทบต่างๆ ของวิกฤตการณ์ภาคการเงินทั่วโลกปี 2008

เมื่อปี 2007 จีนยังได้เริ่มต้นการเจรจาเปิดการค้าเสรีกับไอซ์แลนด์ แต่แล้วกลับเผชิญอุปสรรคมากมาย การที่เศรษฐกิจไอซ์แลนด์อยู่ในสภาพ “หลอมละลาย” ภายหลังวิกฤตการณ์ปี 2008 บวกกับการที่ประเทศนี้ทำท่าจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ได้ส่งผลทำให้การเจรจากับจีนต้องชะงักไปชั่วคราว กว่าที่จะมีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ก็เข้าสู่ปี 2012 เมื่อกระแสของสาธารณชนซึ่งสนับสนุนให้ไอซ์แลนด์เข้าร่วมในอียูได้อ่อนตัวลงมาก และในที่สุดจีนกับไอซ์แลนด์จึงเซ็นข้อตกลงการค้ากันได้สำเร็จในปี 2013

แต่ผลประโยชน์ของข้อตกลงเอฟทีเอซึ่งจีนเซ็นกับนิวซีแลนด์และกับไอซ์แลนด์ ไม่ว่าจะมากมายขนาดไหนก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ของเอฟทีเอซึ่งลงนามกับสวิตเซอร์แลนด์แล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นคนละชั้นคนละลีกกันทีเดียว ไม่เพียงเพราะว่าสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งจีนได้ลงนามเอฟทีเอด้วยเท่านั้น หากแต่สวิตเซอร์แลนด์ยังเป็น 1 ใน 20 ระบบเศรษฐกิจที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดของโลกอีกด้วย ยิ่งกว่านั้น ประเทศนี้ยังเป็น 1 ในผู้นำของโลกทางด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ตลอดจนประชากรชาวสวิสก็เป็นผู้นำของโลกในเรื่องการจดสิทธิบัตรใหม่ๆ

นอกเหนือจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจเหล่านี้แล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าข้อพิจารณาในทางการเมืองก็มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นส่งเสริมให้จีนกับสวิตเซอร์แลนด์ตกลงรอมชอมกันได้เช่นกัน เมื่อเปรียบเทียบกับความสัมพันธ์ระหว่างแดนมังกรกับสหภาพยุโรปแล้ว เราจะเห็นว่าความพยายามหลายต่อหลายครั้งของฝ่ายจีนภายหลังปี 2004 ที่จะจัดการสนทนาเรื่องประเด็นทางการค้ากับอียูให้เป็นเรื่องเป็นราว กลับถูกทางฝ่ายบรัสเซลส์ตอกกลับหงายเก๋งกลับไปอย่างเป็นระบบ นอกจากนั้น การที่อียูประกาศตั้งแต่ปี 1989 ห้ามส่งออกอาวุธให้แก่จีน ก็ไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นเลย และยิ่งคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของอียู ออกรายงานฉบับหนึ่งที่ระบุว่า จีนยังไม่ถึงขั้นที่สามารถจัดให้อยู่ใน “สถานะการเป็นระบบเศรษฐกิจที่อิงกับพลังตลาด” (Market Economy Status) ได้ด้วยแล้ว ปักกิ่งก็มองว่ามันเป็นรายงานที่จัดทำขึ้นด้วยแรงจูงใจทางการเมือง ไม่ใช่พิจารณากันไปตามเนื้อผ้า

ต้องยอมรับว่า เฉพาะข้อพิจารณาเหล่านี้เอง ยังไม่ใช่เป็นพลังจูงใจเบื้องหลังการที่จีนตกลงทำเอฟทีเอกับสวิตเซอร์แลนด์ แต่มันก็มีบทบาทอยู่ไม่ใช่น้อย เฉกเช่นเดียวกับข้อเท็จจริงที่ว่า ในสายตาของปักกิ่งแล้ว สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศซึ่งไม่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพันธมิตรทางทหารใดๆ เลย และโดยสาระสำคัญแล้วดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่เป็นกลางเรื่อยมา ดังนั้นเอง จากข้อเท็จจริงที่ว่าทั้งจีนและสวิตเซอร์แลนด์ต่างไม่ได้ถือเอาความสัมพันธ์ทวิภาคีของพวกเขามาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการบรรลุวาระทางการเมืองอันชัดเจนใดๆ จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถที่จะรวมศูนย์ความสนใจไปพิจารณาที่เงื่อนไขความจำเป็นในทางเศรษฐกิจ ตลอดจนไปพิจารณาที่ผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งทั้งคู่จะได้รับจากการทำข้อตกลงเอฟทีเอ

ในปัจจุบัน จีนมีฐานะเป็นชาติคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดในเอเชียของสวิตเซอร์แลนด์ และเป็นอันดับ 3 ในขอบเขตทั่วโลก โดยที่การค้าทวิภาคีของทั้งสองประเทศในปี 2013 นั้น อยู่ในระดับ 26,300 ล้านดอลลาร์ สำหรับผู้ผลิตชาวสวิสแล้ว ข้อตกลงการค้าเสรีฉบับนี้ควรที่จะเปิดโอกาสให้พวกเขาส่งออกไปยังจีนได้เพิ่มขึ้นอีกอย่างเป็นกอบเป็นกำ

ในข้อตกลงกำหนดว่า จะมีการทยอยเปิดการค้าเสรีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ ซึ่งกว่าจะครอบคลุมครบถ้วนก็จะต้องใช้เวลาหลายปี แต่ในที่สุดแล้ว สินค้าสวิสที่ส่งออกไปยังจีนประมาณ 84.2% จะได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีศุลกากร ถ้าหากแจกแจงกันเป็นรายผลิตภัณฑ์กันไปเลย ก็ต้องบอกว่า สินค้าที่ถูกจัดว่าเป็นพวกสิ่งทอจะได้ลดกัน 99%, พวกเคมีภัณฑ์ เวชภัณฑ์ และเครื่องจักร ได้ลด 77%, และนาฬิกาแบบใช้กลไกที่มีราคาแพงจะได้ลด 64% ขณะที่พวกนาฬิกาคว็อตซ์ได้ลดเพียง 18% เท่านั้น

พวกผู้ผลิตนมในสวิตเซอร์แลนด์ น่าที่จะได้ประโยชน์มหาศาลทีเดียวจากเอฟทีเอฉบับนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากการที่พวกผู้บริโภคชาวจีนมีความระแวงสงสัยคุณภาพของนมซึ่งผลิตภายในประเทศ ในทางกลับกัน พวกสินค้าจีนที่ส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์ จะได้รับการลดหย่อนและยกเว้นภาษีศุลกากรประมาณ 99.7%

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ภาคไฮเทคของสวิตเซอร์แลนด์ คือสิ่งที่จีนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นทั้งสองประเทศยังจะได้เห็นการเปิดตลาดการเงินของพวกเขาให้แก่กันและกัน ตลอดจนมีการลงทุนในอีกประเทศหนึ่งแบบต่างตอบแทนกัน เรื่องนี้น่าที่จะเอื้ออำนวยหนุนส่งให้สวิตเซอร์แลนด์สามารถทำตามความทะเยอทะยานที่จะกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งหนึ่งของโลกในอนาคต สำหรับธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศซึ่งกระทำด้วยสกุลเงินหยวนของจีน ขณะเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายยังมีการหารือกันเพื่อจัดทำข้อตกลงสว็อปเงินตราระหว่างกันอีกด้วย

ประเด็นสุดท้ายแต่ไม่ใช่เป็นประเด็นที่ด้อยความสำคัญที่สุด ข้อตกลงเอฟทีเอฉบับนี้จะเปิดทางให้มีการคุ้มครองสิทธิบัตรและสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเคร่งครัด โดยที่สิทธิบัตรซึ่งจดทะเบียนเอาไว้ในสวิตเซอร์แลนด์ จะได้รับการยอมรับในประเทศจีนไปด้วยโดยอัตโนมัติ ถึงแม้พวกวงการอุตสาหกรรมสวิสมิได้ไร้เดียงสาถึงขนาดอวดอ้างว่าเมื่อเอฟทีเอฉบับนี้มีผลบังคับใช้ การละเมิดสิทธิบัตรและสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ จะสามารถหมดสิ้นไปได้ภายในเวลาชั่วข้ามคืน แต่ข้อดีเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่มองเห็นกันก็คือ ในเวลานี้จะมีกรอบโครงสำหรับแก้ไขข้อพิพาทต่างๆ ด้วยความมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแล้ว

เมื่อมองกันในองค์รวม ทั้งการเจรจาเพื่อจัดทำเอฟทีเอฉบับนี้และทั้งการปฏิบัติตามภายหลังข้อตกลงมีผลบังคับใช้แล้ว น่าที่จะเป็นก้าวสำคัญก้าวใหญ่ในการที่จีนจะได้เรียนรู้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการค้าเสรี และถ้าหากในอนาคตจีนจะเปิดการเจรจาจัดทำเอฟทีเอกับอียูแล้ว ประสบการณ์ที่ได้รับจากการติดต่อทำความตกลงกับสวิตเซอร์แลนด์นี้ ก็ควรที่จะให้ประโยชน์เป็นอย่างมาก

อเล็กซานเดอร์ คาเซลลา ทำงานกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฝ่ายผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees) เป็นเวลา 20 ปี หนังสือของเขาที่เขียนเกี่ยวกับช่วงเวลาดังกล่าวซึ่งใช้ชื่อเรื่องว่า Breaking the Rules: Working for the UN can be fun เพิ่งออกวางจำหน่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น