xs
xsm
sm
md
lg

มหาอำนาจกดดันไทยชิงผลประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ปณิธาน” ชี้ต่างชาติกดดันประเทศไทยเป็นเกมระดับโลก เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง สอดคล้องฝ่ายความมั่นคงเชื่องานนี้ต่างชาติเดินเครื่องเอง ทักษิณคงทำเองไม่ได้ เพียงแต่ประโยชน์สอดคล้องกันเท่านั้น แนะ คสช.เร่งทำความเข้าใจ เรื่องค้ามนุษย์เป็นเรื่องสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ส่วนอียูแค่มีเลือกตั้งก็จบ พร้อมแฉสหรัฐฯ-อียูหวังประโยชน์จากไทยทั้งทางทหารและภาคการค้า

ปฏิบัติการยึดอำนาจมาจากรัฐบาลรักษาการพรรคเพื่อไทยเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของคนในชาติ สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ไม่มีความรุนแรงหรือเหตุปะทะกัน พร้อมทั้งแก้ปัญหาเร่งด่วนอย่างการจ่ายเงินให้กับชาวนาที่รัฐบาลเดิมติดค้างมากว่า 6 เดือนในโครงการรับจำนำข้าว

รวมไปถึงกิจกรรมคืนความสุขให้คนในชาติอย่างดูหนังฟรีและชมฟุตบอลโลก 2014 ได้ทุกคู่ โดยเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ตามลำดับพร้อมเร่งแก้ปัญหาเร่งด่วนที่ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เสียงตอบรับจากคนในชาติจึงออกมาในทางบวกต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช.

แต่สำหรับปฏิกิริยาจากต่างชาติแล้ว การเข้ายึดอำนาจในครั้งนี้มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯและออสเตรเลีย ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยทันที ความร่วมมือทางทหารถูกระงับไว้เป็นลำดับแรก พร้อมทั้งเรียกร้องให้คืนอำนาจกับประชาชนเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง

เริ่มที่แรงงานกัมพูชา

ไม่ว่าจะเป็นความบังเอิญหรือจงใจของชาติมหาอำนาจ หลังจากที่ คสช.มีคำสั่งฉบับที่ 59/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว และคำสั่ง 60/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว พร้อมด้วยการเดินหน้าจัดระเบียบแรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมาย

ตรงกับวันที่หนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียน รายงานเรื่องการค้ามนุษย์ในไทย โดย เปิดโปงชะตากรรมของแรงงานต่างด้าวอาเซียนบนเรือประมงไทย และเปิดเผยว่าทางการสหรัฐฯ กำลังพิจารณาลดระดับไทยในบัญชีดำการค้ามนุษย์

จากนั้นเกิดปรากฎการณ์แรงงานชาวกัมพูชาแห่เดินทางกลับประเทศกันอย่างพร้อมเพรียงมากกว่าแสนคนในช่วง 12-15 มิถุนายน 2557 นับเป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างยิ่ง เนื่องจากแรงงานชาวกัมพูชานั้นมีสัดส่วนผู้ใช้แรงงานที่น้อยกว่าพม่าหลายเท่าตัว แต่แรงงานพม่ากลับไม่พบการเดินทางกลับประเทศ ข่าวลือจากฝั่งกัมพูชา รวมไปถึงการจัดรถไปรับแรงงานกัมพูชาของรัฐบาลฮุน เซน

ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องปกตินักสำหรับการดำเนินการเพื่อจัดระเบียบแรงงานต่างชาติของ คสช.

นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนกัมพูชา (CHRAC) ออกแถลงการณ์เมื่อ 15 มิถุนายน 2557 ตำหนิการส่งตัวผู้อพยพชาวกัมพูชาจำนวนมากออกนอกประเทศ โดยถือว่ากองทัพไทยละเมิดสิทธิแรงงานโดยการบังคับให้พวกเขาออกจากประเทศและนำตัวพวกเขาไปอยู่ในยานพาหนะที่แออัดยัดเยียด

พร้อมด้วยการอ้างถึงจากการสืบสวนของสมาคมเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาของกัมพูชา (ADHOC) มีแรงงานข้ามชาติบางรายถูกทุบตีหรือถูกสังหารโดยกองทัพไทย ในแถลงการณ์ระบุอีกว่าเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานตามมาตรา 1 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยและกัมพูชาต่างลงนามในปฏิญญานี้ โดยกองทัพไทยละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานข้ามชาติด้วยการขับไล่ออกจากประเทศและให้อยู่ในยานพาหนะแออัดยัดเยียด ถือเป็นการกระทำที่โหดร้ายและทำลายคุณค่าความเป็นมนุษย์
การฝึก Cobra Gold 2014 ที่จะตามมาด้วยการจัดซื้ออาวุธ(ภาพ:US Embassy Bangkok)
เอ็นจีโอสหประชาชาติท้วง

ในช่วงที่แรงงานชาวกัมพูชาเร่งเดินทางกลับประเทศอยู่นั้น กลุ่มผู้เชี่ยวชาญสิทธิมนุษยชนอิสระของสหประชาชาติออกแถลงการณ์เรื่องสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในไทยความว่าไม่ได้รับการรับรอง พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกมาตรการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพ และความปรองดองจะไม่เกิดขึ้นได้ในประเทศไทยถ้าหากไม่แก้ไขเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและเร่งฟื้นฟูประชาธิปไตย

แถลงการณ์ระบุว่ามีการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานหลายอย่างในประเทศไทยนับแต่ทหารยึดอำนาจ รัฐธรรมนูญถูกยกเลิก มีบุคคลจำนวนมากถูกคุมขัง และมีการจัดกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุม จนนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังเข้าพบหารือกับนางนาวาเนเธ็ม พิลเล ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในค่ำของวันที่ 13 มิถุนายน 2557 ที่นครเจนีวา

ดาบ 3 ค้ามนุษย์

ตามมาด้วยนายจอห์น แครี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาในการแถลงรายงานประจำปี เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2557 ที่วอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อ 20 มิถุนายน 2557 ประเทศไทยถูกลดอันดับจากบัญชีกลุ่มที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ลงมาอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) รายงานระบุว่า ประเทศไทยเป็นประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่านสำหรับการค้าผู้ชาย ผู้หญิงและเด็ก เพื่อการบังคับใช้แรงงานและการบังคับค้าประเวณี เหยื่อจากประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลไทยไม่สามารถดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐอเมริกาเพื่อการขจัดการค้ามนุษย์ ในรายงานการค้ามนุษย์ปี 2555 และ 2556 ประเทศไทยได้รับการยกเว้นจากการถูกลดระดับไปอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) เนื่องจากรัฐบาลเสนอแผนที่จะดำเนินการให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์

อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายว่าด้วยการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ (TVPA) ให้ยกเว้นประเทศจากการถูกลดอันดับได้ 2 ปี มาตรการยกเว้นนี้ไม่สามารถใช้ได้กับประเทศไทยด้วยถือว่าไม่ได้มีความพยายามอย่างเพียงพอที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดการค้ามนุษย์ จึงให้ลดระดับลงไปอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3)

เป็นไปตามรายงานที่หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน เคยเสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว

อียูร่วมวง

ยังไม่จบเพียงแค่นี้ 23 มิถุนายน ผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ที่ประเทศลักเซมเบิร์ก ได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนประณามการยึดอำนาจปกครองประเทศโดยกองทัพไทย และที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการลงโทษไทย เพื่อกดดันให้ไทยกลับคืนสู่ระบอบการปกครองแบบพลเรือนโดยเร็ว

แรงกดดันจากมหาอำนาจทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ที่พร้อมใจถล่มตรงมาที่ คสช.โดยตรงในห้วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน นับเป็นเรื่องที่น่าจับตาอย่างยิ่ง เพราะเมื่อมหาอำนาจเหล่านี้ออกมาเรียกร้องให้ คสช.ปฏิบัติตามแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการอาศัยข้ออ้างเหล่านี้ในการออกมาตรการกีดกันทางการค้ากับประเทศไทย ย่อมทำให้แนวทางในการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศที่หยุดชะงักมาราว 7 เดือนนับตั้งแต่มีวิกฤตทางการเมืองล่าช้าออกไป

ประกอบกับการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่จัดตั้งองค์กรเสรีไทยขึ้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2557 ที่ระบุว่าการเข้ายึดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นการทำผิดกฎหมายไทยและสากล

พร้อมระบุวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งองค์กรไว้ 6 ข้อ คือ 1. ต่อต้านระบอบเผด็จการทหารและเครือข่ายอํามาตย์ เพื่อให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน 2. ฟื้นฟูและเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตย ให้มีความถาวรและเป็นเสาหลักของรัฐไทย 3. ให้เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค เสรีภาพ และสันติภาพ 4. ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจเสรีและเป็นธรรม 5. ปฏิรูปวัฒนธรรมไทยให้สอดรับกับระบอบประชาธิปไตย 6. พัฒนาคุณภาพประชาชนไทยสู่ความเป็นสากล

ช่างเป็นเรื่องที่ถาโถมเข้ามาพร้อมๆ กันในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกันอย่างมีนัยเป็นอย่างยิ่ง
แท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล(ภาพ:www.offshoresafetyofficer.com)
มหาอำนาจ-ผลประโยชน์

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่สหรัฐฯและยุโรปมีท่าทีต่อประเทศไทยนั้นมีผลกับประเทศไทยระดับหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นพลวัตใหม่ที่เข้ามากดดันประเทศไทย เพื่อให้เปิดรับเสรีนิยมมากขึ้น เรื่องลักษณะนี้มีให้เห็นในหลายประเทศ

นี่เป็นเกมระดับโลก เป็นการแข่งขันกันในด้านอิทธิพลของชาติมหาอำนาจ โดยใช้จังหวะความขัดแย้งในเมืองไทยถือเป็นตัวเร่งให้มหาอำนาจเร่งเข้ามากดดันเราไปสู่สภาวะที่ให้ประโยชน์กับเขามากขึ้น รวมไปถึงเป็นการกดดันในเรื่องที่ไทยหันไปร่วมมือทางทหารกับจีน อินเดีย และรัสเซีย

“ชาติตะวันตกกลัวเรื่องกระแสชาตินิยมและการต่อต้านตะวันตก ยิ่งภาคธุรกิจตลาดทุนออกมาพูดว่า การส่งออกไป EU กระทบเพียง 10% นั่นคือสิ่งที่เขาไม่อยากได้ยิน ดังนั้นการเร่งกดดันให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วนั้น หากมีรัฐบาลพลเรือนจะสามารถเจรจาได้ง่ายกว่ารัฐบาลจากทหาร”

ดังนั้น คสช.ต้องใช้กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงเรื่องที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปกล่าวหาประเทศไทยให้มากขึ้น และหาภาคธุรกิจที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยงาน ชี้แจงและทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ คสช.ต้องใช้กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงเรื่องที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปกล่าวหาประเทศไทยให้มากขึ้น และหาภาคธุรกิจที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยงาน ชี้แจงและทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่

ไม่ใช่ฝีมือทักษิณ

ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงกล่าวว่า การที่ต่างชาติอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปมีมาตรการกดดันประเทศไทยพร้อมๆ กันในเวลานี้ โดยส่วนตัวไม่คิดว่าเป็นฝีมือของทักษิณ ชินวัตร ที่จะใช้นโยบายโลกล้อมประเทศไทย เข้ามากดดัน คสช.

เชื่อว่ามหาอำนาจทั้งสองที่กดดันประเทศไทยนั้น เป็นเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ของชาติพวกเขามากกว่า แต่บังเอิญไปสอดคล้องกับแนวทางที่ทักษิณเคยใช้ และการกดดันในครั้งนี้ทักษิณก็เหมือนได้ประโยชน์ไปพร้อมๆ กัน

กรณีของสหรัฐฯ ในเรื่องการออกมากดดันเรื่องการค้ามนุษย์ในประเทศไทย ที่มีการลดอันดับจากบัญชีที่ 2 (Tier 2 Watch List) บัญชี 3 (Tier 3) นั้น เมื่อพิจารณาให้ดีจะพบว่าเป็นการพิจารณาสถานการณ์ในช่วง 1 เมษายน 2556 ถึง 31 มีนาคม 2557 ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเข้ามายึดอำนาจของ คสช. เขาพิจารณามาตั้งแต่ช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์แต่มาประกาศในช่วง คสช.

“เรื่องนี้ทาง คสช.ต้องชี้แจงทุกฝ่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ทราบว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลชุดที่แล้ว ไม่ใช่เป็นเพราะการเข้ามายึดอำนาจของ คสช. เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน”

ขณะที่หลังจากการยึดอำนาจแล้ว คสช.เดินหน้าที่จะจัดระเบียบแรงงานต่างชาติให้เป็นระบบ ดังนั้นเมื่อทุกอย่างเป็นไปตามแผนในการจัดการแล้ว อันดับของประเทศไทยน่าจะดีขึ้น

ส่วนท่าทีของกลุ่มสหภาพยุโรปที่กดดันเรื่องการคืนความเป็นประชาธิปไตย และมีมาตรการลงโทษประเทศไทยนั้น ถือเป็นเรื่องปกติของประเทศในแถบนี้ เนื่องจากมีชุดความคิดในเรื่องการเข้ามายึดอำนาจของทหารในเชิงลบ รวมไปถึงส่วนงานต่างๆ อย่างกลุ่มเอ็นจีโอก็มีชุดความคิดแบบเดียวกัน

แต่คำขู่การลงโทษของสหภาพยุโรปก็มีเงื่อนไข นั่นคือให้มีเรื่องการเลือกตั้ง ทุกอย่างก็จะกลับมาเหมือนเดิม ซึ่ง คสช.ก็เตรียมเรื่องเหล่านี้ไว้แล้ว เพียงแต่ตอนนี้อยู่ในช่วงที่ต้องปฏิรูปในหลายส่วนก่อน ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่น่าเป็นห่วง

อีกทั้งจะเห็นได้ว่าภาคธุรกิจของประเทศต่างๆ ได้เข้าพบกับรองหัวหน้า คสช.ที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ ทุกอย่างก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไม่กระทบกับการค้าการลงทุน เพียงแต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงท่าทีของรัฐบาลในยุโรปเท่านั้น
 เครื่องบินโดยสาร ค่ายโบอิ้งจากสหรัฐฯ ค่ายแอร์บัสจากฝรั่งเศส
สหรัฐฯ-อียู ประโยชน์ล้วนๆ

สำหรับผลประโยชน์ของชาติมหาอำนาจเหล่านี้ เริ่มที่สหรัฐฯ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศไทยค่อนข้างมาก มีหลายมิติ โดยเฉพาะเรื่องการถ่วงดุลกับประเทศจีนและรัสเซีย แม้ที่ผ่านมาไทยกับสหรัฐฯ จะมีความสัมพันธ์ที่ดีทางทหาร แต่ก็เป็นไปเพื่อคานอำนาจของประเทศคอมมิวนิสต์อย่างจีนและรัสเซีย เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจการปกครองในประเทศไทยมาเป็นฝ่ายทหาร สหรัฐฯ จึงออกมาตรการขู่เรื่องความช่วยเหลือทางทหารกับไทย

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการค้าที่พ่วงมาด้วย นั่นคือการขายอาวุธและเครื่องบินรบ ซึ่งหากไทยเปลี่ยนท่าทีหันไปหาจีนและรัสเซียแล้ว การจัดซื้ออาวุธครั้งต่อไป ไทยอาจเปลี่ยนไปซื้อจากจีนหรือรัสเซียแทน โดยก่อนหน้านี้กองทัพอากาศของไทยได้ซื้อเครื่องบินรบกริพเพนจากสวีเดนแทนเครื่องบินตระกูลเอฟของสหรัฐฯ

ในเชิงพาณิชย์แล้วสหรัฐฯ ยังมีเครื่องบินโดยสารค่ายโบอิ้ง ที่การบินไทยเคยเป็นลูกค้ามาโดยตลอด หรือกระทั่งเรื่องของพลังงานที่บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ มักจะเข้ามาได้รับสัมปทานการขุดเจาะในประเทศไทยเสมอ และในอีกไม่ช้านี้ประเทศไทยก็จะมีการเปิดสัมปทานด้านพลังงานใหม่ ซึ่งอยู่ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังปฏิรูปด้านพลังงาน เนื่องจากสัมปทานก่อนหน้านี้ทำให้คนไทยเสียประโยชน์กับบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ไปไม่น้อย ทำให้ต้องใช้พลังงานในราคาแพง

ขณะที่กลุ่มสหภาพยุโรปนั้น รศ.สมเกียรติ โอสถสภา อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงทรรศนะว่า อียูมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ ต้องการทำสัญญาเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับอียูอย่างยิ่งยวด เรียกว่าอนาคตทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปจะฟื้นหรือไม่ขื้นอยู่กับไทย

ถ้ามาแซงก์ชันไทย ไทยก็คงไม่เจรจากับอียูเรื่องนี้ ไทยเป็นเส้นทางระบายสินค้าเข้าสู่ตลาดอาเซียน ไทยจึงเป็นประเทศสำคัญมากๆ ไม่งั้นอียูไม่เอากรุงเทพฯ เป็นฐานหลัก เมื่อไม่สามารถทำข้อตกลงการค้าเสรีในเอเชียได้ เศรษฐกิจยุโรปพังยาวแน่นอน

ประการต่อมา ทำไมเศรษฐกิจอียูจึงพัง แข่งไม่ได้ ก็เพราะไทย อาเซียนมีข้อตกลงการค้าเสรีกับญี่ปุ่น จีน เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ประเทศเหล่านี้ค้าขายกันด้วยภาษีที่ต่ำมาก ปัจจุบันการค้าไทยกับยุโรปลดลงเหลือแค่ 10% กับอเมริกาก็ 10%

อียูและอเมริกาเข้ามาขายของลำบาก เพราะไม่มีสัญญากับเอเชีย ภาษีสูง ค่าขนส่งแพง ดูรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ก็ผลิตซื้อขายกันเองในเอเชีย ยุโรปจึงต้องง้อไทย กับอาเซียน ไม่ใช่เราไปเรียกร้องให้เขามาทำข้อตกลง Free Trade Area (FTA)

สอดคล้องกับฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจรายหนึ่งที่ระบุว่า FTA เป็นสิ่งที่กลุ่มยุโรปต้องการเซ็นกับประเทศไทยให้ได้ นอกจากนี้ยังมีประโยชน์บางประการที่ไทยเป็นลูกค้าของเขาคือเครื่องบินโดยสาร ยุโรปมีแอร์บัสมีฐานที่ฝรั่งเศสและมีประเทศอื่นๆ ร่วมผลิตชิ้นส่วน ซึ่งการบินไทยก็เป็นลูกค้ารายหนึ่งของแอร์บัส และยังมีเครื่องบินรบที่ไทยก็เคยซื้อกริพเพนจากสวีเดน ซึ่งในยุโรปก็มีหลายค่ายให้เลือก

แรงกดดันของมหาอำนาจเหล่านี้ด้านหนึ่งคือเพื่อให้ผู้มีอำนาจในปัจจุบันคือ คสช. ต้องหันมาเจรจากับพวกเขา เพื่อรักษาประโยชน์เดิมที่เคยมีอยู่และส่วนที่กำลังจะมีต่อไป อีกด้านหนึ่งเพื่อต้องการเร่งให้รัฐบาลทหารพ้นไปจากเส้นทางโดยอ้างเรื่องความเป็นประชาธิปไตย

ทั้งนี้ก็เพราะการเปลี่ยนรัฐบาลจากพลเรือนมาเป็นทหารนั้น ชาติตะวันตกจะกังวลในเรื่องเหล่านี้มาก เพราะเกรงว่าประโยชน์ที่เคยมีกับประเทศไทยจะหายไป ทั้งจากกระแสรักชาติหรือความนิยมในรัฐบาลทหารที่สามารถเข้ามาจัดการปัญหาที่สะสมมาเป็นเวลานานได้ หากไม่เร่งเข้ามาดำเนินการกดดันแล้วสุดท้ายพวกเขาจะเป็นฝ่ายเสียผลประโยชน์

อีกทั้งการเจรจากับรัฐบาลที่เป็นพลเรือนนั้นจะพูดคุยหรือต่อรองได้ง่ายกว่า เนื่องจากพวกเขาทราบดีว่านักการเมืองของไทยนั้น มีเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง การเจรจาแบ่งปันต่อรองกันจึงทำได้สะดวกกว่ารัฐบาลที่มาจากทหาร

“จารุพงศ์” ผสมโรง

ส่วนเรื่องการเคลื่อนไหวของขั้วอำนาจเก่าอย่างนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ตั้งองค์กรเสรีไทย อาจจะดูเหมือนสอดคล้องกับแนวทางที่ต่างชาติกดดันประเทศไทยนั้น เชื่อว่าเป็นจังหวะที่มาลงตัวในช่วงเวลานี้ เพราะทั้งนายจารุพงศ์ และนายจักรภพ เพ็ญแข ประกาศมาตลอดว่าจะตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ซึ่งการเลือกหาวันที่มีความหมายนั่นก็คือ 24 มิถุนายน ตรงกับวันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น

ตรงนี้ขึ้นอยู่กับการจัดการของ คสช.ว่าจะดำเนินการอย่างไร การประกาศลักษณะนี้เข้าข่ายกบฏหรือไม่ การเพิกถอนพาสปอร์ตเป็นสิ่งที่ทำได้ทันทีทั้งจารุพงศ์หรือจักรภพ และรวมไปถึงทักษิณ และบุคคลอื่นๆ ด้วย จากนั้นพิจารณาเรื่องกฎหมายอื่นๆ ว่าเข้าองค์ประกอบการยึดทรัพย์ได้ด้วยหรือไม่ วิธีการนี้จะทำให้การเคลื่อนไหวของบุคคลเหล่านี้ลดน้อยลง

นี่คือเกมผลประโยชน์ของชาติมหาอำนาจที่อาศัยจังหวะเวลาดังกล่าวเข้ามากดดัน เพื่อต่อรองผลประโยชน์ให้กับชาติตัวเอง แต่บังเอิญแนวทางที่กดดันนั้นไปสอดคล้องกับสิ่งที่ทักษิณ ชินวัตร อยากให้เป็น ดังนั้นต้องฝากความหวังไว้ที่ คสช. ต้องยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศ

กำลังโหลดความคิดเห็น