xs
xsm
sm
md
lg

อนามัยโลก’วิพากษ์ ‘โสมขาว’ ไม่ดูแล ‘การแพทย์แผนเกาหลี’

เผยแพร่:   โดย: อเล็กซานเดอร์ คาเซลลา

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

WHO slams Seoul on failure to track traditional medicine
By Alexander Casella
28/07/2014

มีชาวเกาหลีใต้จำนวนมากที่พึ่งพาอาศัยการแพทย์แผนเดิมของแดนโสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบำบัดรักษาโดยใช้สมุนไพร และการฝังเข็ม อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกเน้นย้ำว่า ทางการผู้รับผิดชอบของโซลยังคงบกพร่องล้มเหลวไม่คอยติดตามผลด้านลบของการรักษาเหล่านี้ จึงทำให้บรรดาคนไข้ยังแทบไม่มีความรู้เอาเลยว่าพวกเขาต้องเจอกับความเสี่ยงมากน้อยขนาดไหน

เจนีวา, สวิตเซอร์แลนด์ - การพึ่งอาศัยสิ่งที่เรียกขานกันว่า การแพทย์ “แผนเดิม” ซึ่งโดยหลักๆ ประกอบด้วยการฝังเข็ม, การรมยา, และการใช้สมุนไพรปรุงสำเร็จ เหล่านี้ถือเป็นปรากฏการณ์ปกติธรรมดาในประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางแถบเอเชีย ดังเห็นได้จากข้อมูลสถิติของปี 2008 ซึ่งออกมาว่า ชาวออสเตรเลีย 69%, ชาวจีน 90%, ชาวเกาหลีใต้ 86%, และชาวสิงคโปร์ 53% ได้ใช้การแพทย์แผนเดิมบางรูปแบบในการรักษาตัวและดูแลสุขภาพ

ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization ใช้อักษรย่อว่า WHO) ขณะที่การบำบัดรักษาเหล่านี้หลายๆ อย่างหลายๆ แบบ ดูเหมือนจะเป็นประโยชน์ ทว่าก็มีหลายแบบหลายอย่างเช่นกันซึ่งยังคงไม่ได้มีการทดสอบอย่างจริงจัง รวมทั้งผลในทางลบจำนวนมากก็ยังคงไม่มีการรายงานบันทึกเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ดูจะอยู่ในสภาพเช่นนี้อย่างชัดเจนเป็นพิเศษ จนทำให้ทางองค์การอนามัยโลกเกิดความกังวลกันทีเดียว

ตามการสืบสวนสอบสวนเมื่อไม่นานมานี้ของ WHO ตัวเลขจำนวนของผลด้านลบที่เกิดขึ้นจากการใช้การแพทย์แผนเดิมในเกาหลีใต้ ดูจะน้อยกว่าที่ควรจะเป็น จนน่าจะต้องถือเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญปัญหาหนึ่งของประเทศนี้ ยิ่งเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่ายังไม่มีกลไกอันละเอียดครอบคลุมใดๆ สำหรับใช้ระบุบ่งบอกและติดตามผลด้านกลับเหล่านี้ด้วยแล้ว ก็ทำให้ปัญหานี้ยิ่งยุ่งยากซับซ้อนเพิ่มขึ้นอีก

การแพทย์แผนเดิมของเกาหลีนั้น ประกอบด้วยการฝังเข็ม, การใช้สมุนไพร, ตลอดจนการนวดและการดัดดึงข้อต่อหลายหลากรูปแบบ ในจำนวนนี้ การฝังเข็มถือเป็นวิธีการบำบัดรักษาซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุด ติดตามมาด้วยการใช้ยาสมุนไพรปรุงสำเร็จ ทั้ง 2 อย่างนี้รวมกันแล้วคิดเป็นประมาณ 90% ของการบำบัดรักษาที่คนไข้ได้รับอยู่ แต่ขณะที่แผนการประกันสุขภาพแห่งชาติของรัฐบาลได้ระบุยอมรับวิธีการบำบัดรักษา 2 อย่างนี้เอาไว้ด้วย ทว่ากลับยังไม่มีกลไกที่ละเอียดครอบคลุมใดๆ ซึ่งจะนำมาใช้ติดตามผลด้านลบของมัน

ในเกาหลีใต้ การติดตามความปลอดภัยจากการใช้ยา ถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบของสำนักงานอาหารและยา (Food and Drug Administration ใช้อักษรย่อว่า FDA) เพื่อปฏิบัติภารกิจดังกล่าวนี้ ทาง FDA จะคอยรายงานบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับปฏิกิริยาทางลบจากการใช้ยาซึ่งมาจากแหล่งต่างๆ อย่างเช่น พวกบริษัทยา, ร้านขายยา, และผู้ให้การดูแลรักษาสุขภาพทั้งหลาย ในปี 1988 FDA เก็บรายงานบันทึกปฏิกิริยาด้านกลับจากการใช้ยาในทั่วประเทศเอาไว้เพียง 5 รายเท่านั้น แต่หลังจากนั้นจำนวนรายงานบันทึกได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสม่ำเสมอจนกระทั่งอยู่ในราว 54,000 รายในปี 2010

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนกรณีปฏิกิริยาด้านลบจากการใช้ยารวมทั้งสิ้น 95,449 รายซึ่งรายงานบันทึกเอาไว้ในช่วงระหว่างปี 1999 ถึง 2010 นั้น ปรากฏว่ามีเพียง 8 กรณีเท่านั้นที่มาจากการใช้ยาสมุนไพร

ขณะที่ในทางทฤษฎี สภาวการณ์เช่นนี้อาจจะเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่า ยาสมุนไพรค่อนข้างมีความปลอดภัยมาก หรือไม่ค่อยมีผลด้านกลับอะไรนัก แต่ฉันทามติในแวดวงสาธารณสุขกลับชี้ว่ามันน่าจะเกิดจากสาเหตุอีกประการหนึ่งมากกว่า กล่าวคือ ความบกพร่องของระบบการรายงานสิ่งที่เป็นผลด้านกลับของการแพทย์แผนเดิม

สำนักงาน FDA ของเกาหลีใต้นั้น รวบรวมข้อมูลที่ได้มาจากพวกสถาบันอย่างเช่น บริษัทยา และผู้ให้บริการดูแลรักษาสุขภาพทั้งหลาย การปฏิบัติงานเช่นนี้โดยเนื้อหาสาระแล้วก็คือการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการแพทย์ตะวันตกสมัยใหม่ โดยที่ในทางปฏิบัติแล้วไม่ได้มีการเข้าไปติดต่อสัมพันธ์กับพวกที่ให้การบำบัดรักษาด้วยการแพทย์แผนเดิมเอาเลย ผิดกับองค์การผู้บริโภค (Consumer Agency ใช้อักษรย่อว่า CA) ของประเทศ ซึ่งปฏิบัติงานในฐานะที่เป็นผู้รับเรื่องราวร้องทุกข์จากพวกผู้บริโภคธรรมดาทั่วๆ ไป

ปรากฏว่าในช่วงระหว่างปี 1999 ถึง 2010 คำร้องเรียนในเรื่องเกี่ยวกับการบำบัดรักษาทางการแพทย์และยาทั้งหมดที่ CA ได้รับ มีจำนวนเฉลี่ยต่อปีเพิ่มขึ้นจากราวๆ 5,500 ราย เป็นราวๆ 27,000 ราย เมื่อเข้าไปดูรายละเอียดของตัวเลขการร้องทุกข์เหล่านี้ ก็พบว่ากรณีที่เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับการแพทย์แผนเดิมได้เพิ่มขึ้นจาก 198 รายต่อปี เป็น 859 รายต่อปี

จำนวนการร้องเรียนเกี่ยวกับการแพทย์แบบเดิมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ ทำให้องค์การผู้บริโภค สามารถจัดทำฐานข้อมูลทางสถิติขึ้นมา โดยที่มีการจำแนกการแพทย์แผนเดิมด้านต่างๆ ที่เกิดปัญหาความบกพร่อง ด้วยเหตุนี้ CA จึงสามารถระบุว่า 52% ของการร้องเรียนเป็นกรณีเกี่ยวกับการใช้ยาสมุนไพร และราว 31% เกี่ยวกับการฝังเข็ม กรณีร้องทุกข์สามัญธรรมดาที่สุดเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาการป่วยซึ่งย่ำแย่ลงหลังการบำบัดรักษา, ผลด้านลบของการบำบัดรักษาด้วยสมุนไพร, และการติดเชื้อหลังจากการฝังเข็มที่ผิดพลาด

ด้วยเหตุที่การบำบัดรักษาโดยการใช้ยาสมุนไพรดั้งเดิม เป็นที่มาของคำร้องทุกข์มากที่สุด ในปี 2002 องค์การอนามัยโลกจึงบรรจุเอาเรื่องการบำบัดรักษาด้วยสมุนไพร เอาไว้ในแผนการติดตามความปลอดภัยจากการใช้ยาของตนด้วย ในปัจจุบัน รัฐสมาชิกของ WHO แต่ละราย จะถูกเรียกร้องให้คอยติดตามใกล้ชิดในเรื่องการใช้วิธีบำบัดรักษาด้วยสมุนไพร ตลอดจนติดตามสอบสวนกรณีผลด้านลบที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้เอง ในปี 2010 เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในประเทศจีนสามารถระบุออกมาในเชิงปริมาณได้ว่า เกิดกรณีผลด้านกลับจากวิธีบำบัดรักษาด้วยสมุนไพรขึ้นมา 95,620 ราย ในจำนวนนี้เป็นกรณีร้ายแรง 13,420 ราย

อย่างไรก็ดี ตรงกันข้ามกับในเกาหลีใต้ ซึ่ง FDA ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานร่วมมือกับ WHO ในเรื่องการเฝ้าติดตามการใช้ยา ปรากฏว่าในช่วงระยะเวลาเดียวกันนี้ระบุกรณีผลด้านกลับของวิธีบำบัดรักษาด้วยสมุนไพรเอาไว้เพียง 8 รายเท่านั้น และขณะที่ FDA ได้รับการยอมรับว่ามีศักยภาพอยู่ในระดับโลก ทั้งในการรวบรวมข้อมูลและในการรายงานข้อมูลเรื่องความปลอดภัยจากการใช้ยา แต่หน่วยงานนี้กลับขาดการเน้นหนักสนใจเรื่องการแพทย์แผนเดิม ยิ่งในเรื่องวิธีบำบัดรักษาด้วยสมุนไพรด้วยแล้วถูกถือว่าทำงานบกพร่องทีเดียว

ตามความเห็นขององค์การอนามัยโลก มีเหตุผลอยู่ 4 ประการซึ่งทำให้ FDA บันทึกปัญหาที่เกิดจากวิธีบำบัดรักษาด้วยสมุนไพรเอาไว้น้อยเหลือเกิน

ประการแรก FDA เน้นหนักพึ่งพาอาศัยการรายงานของพวกบริษัทยา ซึ่งโดยสาระสำคัญแล้วก็ย่อมเน้นไปที่การแพทย์สมัยใหม่ มากกว่าพวกยาสมุนไพรปรุงสำเร็จ

ประการที่ 2 พวกสถาบันทางการแพทย์ 20 แห่งซึ่งเป็นแหล่งที่มาหลักของบันทึกรายงานที่ส่งมาถึง FDA นั้น ปรากฏว่าเป็นพวกโรงพยาบาลที่ไม่ได้ให้การบำบัดรักษาด้วยสมุนไพรแต่อย่างใด ขณะที่พวกที่บำบัดรักษาด้วยวิธีนี้ อันได้แก่คลินิกการแพทย์แผนเกาหลีทั้งหลาย ก็ไม่ได้มีส่วนในการส่งบันทึกรายงานให้แก่ระบบการติดตามความปลอดภัยจากการใช้ยาของประเทศแต่อย่างใด

ประการที่ 3 ข้อมูลเกี่ยวกับผลด้านกลับของวิธีบำบัดรักษาด้วยสมุนไพร ซึ่งรวมรวบโดยสมาคมการแพทย์แผนเกาหลี (Association of Traditional Korean Medicine) โดยทั่วไปแล้วจะจัดเก็บเอาไว้ภายในสมาคม และไม่ได้มีการส่งต่อไปให้ FDA

ประการที่ 4 เรื่องทำนองเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นกับพวกคำร้องทุกข์ที่อยู่ในมือขององค์การผู้บริโภค โดยที่มีน้อยนักที่ถูกส่งต่อไปให้ FDA

สำหรับการฝังเข็ม ซึ่งก็ทำนองเดียวกับการใช้สมุนไพร เป็นวิธีบำบัดรักษาซึ่งนิยมกันอยู่มากที่สุดวิธีหนึ่งในเกาหลีใต้ และก็ดูจะก่อให้เกิดผลด้านลบขึ้นมาจำนวนมากพอดูทีเดียว อย่างไรก็ดี เฉกเช่นเดียวกับวิธีบำบัดรักษาด้วยการใช้สมุนไพร เรื่องการฝังเข็มก็ไม่ได้มีระบบในการติดตาม และผลด้านกลับมีการบันทึกรายงานเอาไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างมากมายมหาศาล

สรุปโดยภาพรวมแล้ว องค์การอนามัยโรคย้ำเน้นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า การแพทย์แผนเดิมก็มีส่วนที่ก่อให้เกิดผลด้านลบขึ้นมาไม่ใช่น้อยเหมือนกัน โดยที่ในกรณีของเกาหลีใต้นั้น เห็นได้ชัดเจนว่ายังขาดความพยายามในการปรับปรุงทำให้ระบบติดตามระดับชาติของตนบังเกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ในสายตาของ WHO ภารกิจที่จะต้องปรับปรุงเรื่องนี้ เวลานี้ถือเป็นเรื่องที่ต้องทำกันเร่งด่วนแล้ว

อเล็กซานเดอร์ คาเซลลา ทำงานกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฝ่ายผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees) เป็นเวลา 20 ปี หนังสือของเขาที่เขียนเกี่ยวกับช่วงเวลาดังกล่าวซึ่งใช้ชื่อเรื่องว่า Breaking the Rules: Working for the UN can be fun สามารถสั่งซื้อได้ที่เว็บไซต์ Amazon
กำลังโหลดความคิดเห็น