xs
xsm
sm
md
lg

ในกรณียูเครน ‘ปูติน’ ไร้หลักการยิ่งกว่า ‘ฝ่ายตะวันตก’

เผยแพร่:   โดย: แบรด วิลเลียมส์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Putin's double standards in Ukraine
By Brad Williams
15/08/2014

การที่รัสเซียมีความหวั่นเกรงมานานแล้ว เกี่ยวกับการแผ่ขยายตัวมาทางตะวันออกขององค์การนาโต้ คือปัจจัยซึ่งมีส่วนสำคัญในการกำหนดจุดยืนของวังเครมลินในเรื่องยูเครนตะวันออก อีกทั้งชวนให้นำมาเปรียบเทียบกับความหวาดกลัวอิทธิพลต่างประเทศ ซึ่งเคยเป็นตัวการเร่งรัดให้ สตาลิน ก่อตั้งจักรวรรดิภาคยุโรปของเขาขึ้นมา อย่างไรก็ตาม การจงใจเลือกปฏิบัติอย่างไร้หลักการของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ในเรื่องการติดอาวุธให้แก่พวกนิยมมอสโกในแหลมไครเมียนั้น ควรต้องถือว่าเป็นการกระทำซึ่งเลวร้ายยิ่งกว่าการที่ฝ่ายตะวันตกมีสายตาสั้นในทางศีลธรรม ต่อความปรารถนาของประชาชนในดินแดนแห่งนี้ ที่จะกลับมาผนวกรวมเป็นชาติเดียวกันกับรัสเซียผู้เป็นมารดา

การร่วงโหม่งโลกอย่างน่าเศร้าของเครื่องบินโดยสารมาเลเซียในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และการที่รัสเซียไม่ค่อยให้ความร่วมมือเพื่อเปิดทางให้คณะผู้สอบสวนเข้าไปยังบริเวณจุดตก รวมทั้งยังคงแอบส่งยุทโธปกรณ์ขนาดหนักและอาวุธอื่นๆ ให้แก่กองกำลังกบฎในยูเครนตะวันออก กำลังทำให้ความตึงเครียดระหว่างวังเครมลินกับฝ่ายตะวันตกยิ่งลุกลามขยายตัว นโยบายของรัสเซียต่อยูเครนนั้นอยู่ในลักษณะ “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” โดยแท้ และขับดันด้วยความหวั่นเกรงที่ว่า กลุ่มพันธมิตรทางทหารซึ่งเป็นคู่แข่งกำลังแผ่ขยายอิทธิพลบารมีออกไปครอบคลุมตลอดพรมแดนด้านตะวันตกที่อ่อนเปราะของตน

แน่นอนทีเดียวว่า พวกที่เป็นคู่พิพาทรายใหญ่ๆ ในวิกฤตการณ์ยูเครนทุกๆ ราย ล้วนแล้วแต่ประกาศออกมาอย่างเปิดเผยว่า มีเจตจำนงมุ่งมั่นที่จะแยกเรื่องนโยบายออกจากเรื่องหลักการ แต่แล้วก็ไม่ได้กระทำอย่างที่พูด สหรัฐฯกับพวกพันธมิตรยุโรปนั้น ต่างป่าวร้องอยู่เป็นประจำถึงคุณงามความดีของประชาธิปไตย ทว่าพวกเขากลับแทบไม่ได้รู้สึกลำบากใจอะไรเลย ในการให้การรับรองการโค่นล้ม วิกตอร์ ยานูโควิช (Victor Yanukovych) อย่างผิดกฎหมาย ทั้งนี้ถึงแม้ ยานูโควิช จะกระทำการทุจริตคดโกงอย่างมากมายและกลายเป็นผู้เผด็จการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เขาก็เป็นประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้งตามแบบประชาธิปไตย จากนั้นฝ่ายตะวันตกยังได้เพิกเฉยละเลยหลักการอีกคำรบหนึ่ง เมื่อพวกเขาออกมาคัดค้านการรณรงค์ของพวกนิยมรัสเซียในแหลมไครเมีย ซึ่งต้องการกลับไปผนวกรวมเข้าเป็นชาติเดียวกันกับรัสเซียผู้เป็นมารดาอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ตระหนักเป็นอย่างดีว่า พวกนิยมรัสเซียเหล่านี้เป็นคนส่วนข้างมากอย่างชัดเจน ในหมู่ประชากรทั้งหมดของดินแดนแห่งนี้

อย่างไรก็ตาม พฤติการณ์แบบเลือกปฏิบัติอย่างชนิดไร้มาตรฐานของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียต่างหาก ที่ต้องถือเป็นเรื่องชวนให้งงงวยน่าใจหายเป็นพิเศษ กล่าวคือ เมื่อพวกนิยมรัสเซียในยูเครนตะวันออก ซึ่งมีฐานะเป็นชนกลุ่มน้อย พยายามที่จะลอกเลียนแบบการรณรงค์ของพวกพี่น้องในไครเมียของพวกเขา ทว่าผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ได้เป็นไปดังที่มุ่งหวังเอาไว้ จากนั้นพวกเขาจึงจับอาวุธขึ้นมาทำการสู้รบ ปรากฏว่ารัสเซียก็ให้ความสนับสนุนผู้คนเหล่านี้ ประธานาธิบดีปูตินนั้นเฝ้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงต่อความพยายามของกรุงเคียฟที่จะธำรงรักษาบูรณภาพแห่งดินแดนของตนเอาไว้ แล้วตัวปูตินเองล่ะมีการตอบสนองอย่างไรต่อขบวนการแบ่งแยกดินแดนภายในรัสเซีย?

เรื่องนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องขบคิดตั้งสมมุติฐานสร้างทฤษฎีอะไรขึ้นมาเลย สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำก็เพียงแค่มองย้อนหลังกลับไปในประวัติศาสตร์ช่วงใกล้ๆ ก็สามารถพบคำตอบแล้ว นั่นก็คือ เขาใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างเหี้ยมโหด การรณรงค์ของรัสเซียเพื่อสยบขบวนการแบ่งแยกดินแดนใน เชชเนีย นั้น มีทั้งการใช้พฤติการณ์อันเหี้ยมโหดและการละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบอื่นๆ อย่างกว้างขวาง แล้วยังติดตามมาด้วยการตั้งเจ้าพ่อในท้องถิ่นผู้หนึ่งให้เป็นผู้ปกครองสาธารณรัฐในแถบเทือกเขาคอเคซัสแห่งนี้โดยอาศัย “กำปั้นเหล็ก” เป็นสำคัญ การที่ปูตินเรียกร้องให้ยูเครนยอมรับรูปแบบการปกครองแบบสหพันธรัฐนั้น ก็เป็นสิ่งที่หักเหแตกต่างไปจากการประพฤติปฏิบัติของเขาเองในรัสเซีย ทั้งนี้ในระหว่างเวลาที่ปูตินเป็นผู้ปกครองนั่นแหละ รัสเซียได้หวนกลับมาสู่กระบวนการรวมอำนาจเอาไว้ที่ศูนย์กลางอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งกำลังเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำในภูมิภาคซึ่งจนถึงเวลานี้เป็นผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ให้กลายเป็นระบบที่ส่วนกลางเป็นผู้แต่งตั้ง

จุดยืนของวังเครมลินในเรื่องยูเครนตะวันออกนั้น สามารถอธิบายได้ดีทีเดียวโดยใช้ปัจจัยเรื่องรัสเซียมีความหวาดกลัวมานานแล้ว ต่อการที่องค์การนาโต้ค่อยๆ คืบคลานขยายไปทางตะวันออกอย่างไม่หยุดหย่อน เมื่อชาวยูเครนโค่นล้มยานูโควิช และกำลังส่งสัญญาณแสดงความปรารถนาที่จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับยุโรป จึงกลายเป็นการสั่นระฆังเตือนภัยขึ้นในวังเครมลิน การรุกล้ำของนาโต้ครั้งก่อนๆ เข้าไปในดินแดนส่วนต่างๆ ของอดีตจักรวรรดิสหภาพโซเวียตทั้งในยุโรปตะวันออกและยุโรปกลาง ทำให้ทรัพย์สินทางการทหารของกลุ่มพันธมิตรนี้ กำลังขยับเข้าไปประชิดรัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ และจึงประสบกับการวิพากษ์ประณามอยู่เป็นประจำจากทางวังเครมลิน ทั้งนี้ในอดีตที่ผ่านมา ความหวาดกลัวว่าอิทธิพลของต่างชาติกำลังล่วงล้ำเข้ามาอย่างไร้การทัดทานนี่เอง ได้กลายเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่เร่งรัดให้ สตาลิน ต้องเร่งรีบสถาปนาจักรวรรดิแห่งยุโรปของเขาขึ้นมา

เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้สึกหวาดกลัวของรัสเซีย ซึ่งหล่อหลอมขึ้นจากประวัติศาสตร์ของการถูกต่างชาติรุกรานครั้งแล้วครั้งเล่า เราอาจจะลองเปรียบเทียบด้วยการจินตนาการว่า สหรัฐอเมริกาจะตอบโต้อย่างไรถ้าหากเกิดมีกองทัพที่ไม่เป็นมิตร ปรากฏตัวขึ้นที่บริเวณชายแดนของตน

ในความคิดของวังเครมลินแล้ว ยูเครนซึ่งเปลี่ยนไปเป็นสหพันธรัฐ โดยที่มีการถ่ายโอนอำนาจอันสำคัญต่างๆ ให้แก่ภาคตะวันออกที่นิยมรัสเซีย ย่อมสามารถเป็นกันชนที่คอยกันให้ทรัพย์สินทางทหารของนาโต้ห่างออกไปจากพรมแดนรัสเซีย ยูเครนที่ไร้เสถียรภาพและประสบความหายนะจากสงครามกลางเมือง –ซึ่งได้รับการเติมเชื้อโดยรัสเซีย จะช่วยขวางกั้นให้กลุ่มพันธมิตรทางทหารของฝ่ายตะวันตกนี้อยู่ไกลออกไป จึงเป็นการรักษากันชนอันทรงคุณค่าทางยุทธศาสตร์เอาไว้

ขณะที่ความหวาดกลัวเหล่านี้ ย่อมไม่ใช่คำแก้ตัวที่ควรรับฟังสำหรับการกระทำของรัสเซียในยูเครนตะวันออก แต่กระนั้นมันก็ช่วยในการอธิบายให้เราเข้าใจว่าทำไมวังเครมลินจึงแสดงพฤติการณ์ดังกล่าว

ข้อเขียนนี้ปรากฏอยู่ในส่วน “Speaking Freely ” ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนที่เปิดทางให้เหล่านักเขียนรับเชิญสามารถแสดงความคิดเห็นของพวกตน โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานทางด้านบรรณาธิการในระดับเดียวกับพวกนักเขียนที่ เขียนให้แก่เอเชียไทมส์ออนไลน์เป็นประจำ

ดร.แบรด วิลเลียมส์ เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาเอเชียและการระหว่างประเทศศึกษา (Department of Asian and International Studies), มหาวิทยาลัย ซิตี้ ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ ฮ่องกง (City University of Hong Kong)
กำลังโหลดความคิดเห็น