xs
xsm
sm
md
lg

‘สหรัฐฯ’ เรียกร้อง ‘ยูเครนหยุดยิง’ เพื่อสอบสวน ‘กรณีเครื่องบินมาเลย์ตก’

เผยแพร่:   โดย: วิทยุยุโรปเสรี


(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

US urges Ukraine ceasefire for crash probe
By Radio Free Europe
18/07/2014

ในเวลาเดียวกับที่ญาติพี่น้องของผู้โดยสารและลูกเรือรวม 298 คนที่อยู่บนเครื่องบินโดยสารเที่ยวบิน MH17 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ กำลังเศร้าโศกเสียใจอยู่นั้น รัฐบาลสหรัฐฯก็ได้ออกมาเรียกร้องให้มี “การหยุดยิงในทันที” เพื่อเป็นเครื่องรับประกันให้มั่นใจได้ว่า จะสามารถดำเนินการสืบสวนสอบสวนได้อย่างไม่มีอุปสรรคกีดขวางใดๆ ในเหตุการณ์ที่เครื่องบินโบอิ้ง 777 ลำนี้ ตกลงโหม่งโลกในบริเวณภาคตะวันออกของยูเครน ท่ามกลางการกล่าวอ้างว่ามันถูกยิงตก

สหรัฐฯได้ออกมาเรียกร้องให้มี “การหยุดยิงในทันที” ในยูเครน เพื่อเป็นเครื่องรับประกันให้มั่นใจได้ว่า จะสามารถดำเนินการสืบสวนสอบสวนได้อย่างไม่มีอุปสรรคขัดขวางใดๆ ในเหตุการณ์ที่เครื่องบินโดยสารของสายการบินมาเลเซีย ตกลงโหม่งโลกในบริเวณภาคตะวันออกของยูเครน ท่ามกลางการกล่าวอ้างว่ามันถูกยิงตก

โฆษกทำเนียบขาว โจช เออร์เนสต์ (Josh Earnest) ระบุในคำแถลงว่า “เราขอเรียกร้องให้ทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย, กลุ่มแบ่งแยกดินแดนนิยมรัสเซีย, และยูเครน ให้ความสนับสนุนการหยุดยิงกันในทันที เพื่อเป็นเครื่องรับประกันว่าเหล่าเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนระหว่างประเทศจะสามารถเข้าถึงบริเวณซึ่งเครื่องบินตกได้อย่างปลอดภัยและอย่างเป็นอิสระ ตลอดจนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การเก็บกู้ซากศพของผู้เสียชีวิต”

ทั้งนี้เครื่องบินโดยสารของมาเลเซียแอร์ไลน์ลำดังกล่าว ซึ่งมีผู้โดยสารและลูกเรืออยู่บนเครื่องรวม 298 คน ได้ตกลงในพื้นที่ซึ่งฝ่ายกบฏยึดครองอยู่ใกล้ๆ กับชายแดนรัสเซีย ในเหตุการณ์ที่ประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก (Petro Poroshenko) ของยูเครนระบุว่า เป็นผลจาก “การกระทำของผู้ก่อการร้าย”

ตัวประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯเอง ก็ได้โทรศัพท์ถึง โปโรเชนโก ประธานาธิบดีผู้นิยมฝักใฝ่ตะวันตกของยูเครนผู้นี้ และนายกรัฐมนตรี มาร์ก รูตต์ (Mark Rutte) ของเนเธอร์แลนด์ โดยกล่าวย้ำว่า จะต้องไม่มีการเคลื่อนย้ายหลักฐานต่างๆ ออกมาจากจุดที่เครื่องบินตก

ทำเนียบขาวระบุว่า โอบามาได้แจ้งกับรุตต์ว่า สหรัฐฯพร้อมแล้วที่จะเข้าร่วมมีส่วนในการให้ “ความช่วยเหลือในทันที” เพื่อจะได้ดำเนิน “การสืบสวนสอบสวนของนานาชาติอย่างรวดเร็ว, เต็มที่, น่าเชื่อถือ, และไม่มีการขวางกั้นถ่วงเวลาใดๆ”

คำแถลงของทำเนียบขาวบอกด้วยว่า โอบามากับรุตต์ยังได้เห็นพ้องต้องกันว่า มีความจำเป็นที่จะต้องสามารถเข้าไปยังจุดที่เครื่องบินตกในทันที โดยที่บริเวณดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ยึดครองของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนนิยมรัสเซีย

ก่อนหน้านั้น ระหว่างที่โอบามาพูดคุยโทรศัพท์กับโปโรเชนโก เขาก็ย้ำกับประธานาธิบดียูเครนผู้นี้เช่นเดียวกันว่า จะต้องไม่มีการนำเอาหลักฐานจากจุดที่เครื่องบินตกออกไปนอกประเทศ จนกว่าจะได้มีการสืบสวนสอบสวน “อย่างละเอียดถี่ถ้วนและอย่างโปร่งใส” แล้ว

โอบามา ซึ่งเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคราวนี้ว่าเป็น “โศกนาฏกรรมอันน่าสยดสยอง” ยังให้ความมั่นอกมั่นใจแก่โปโรเชนโกว่า พวกผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐฯพร้อมที่จะ “ให้ความช่วยเหลือที่เป็นไปได้ทุกอย่างในทันที” เพื่อสืบสวนสอบสวนหาสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินตก

พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯกล่าวว่า เครื่องบินโดยสารไอพ่นลำนี้ถูกยิงด้วยขีปนาวุธแบบยิงจากพื้นดินสู่อากาศ แต่ยังไม่สามารถระบุได้ในขณะนี้ว่า ใครเป็นผู้ยิงโจมตีและยิงจากที่ไหน

เครื่องบินโดยสารลำนี้กำลังอยู่ระหว่างบินจากนครอัมสเตอร์ดัม ของเนเธอร์แลนด์ ไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ ของมาเลเซีย ในระดับความสูง 10,000 เมตร พวกแบ่งแยกดินแดนอ้างว่าพวกเขาไม่สามารถยิงเครื่องบินลำนี้ให้ตกลงมาได้ในระยะบินสูงถึงขนาดนั้น และประณามว่ามันเป็นฝีมือของกองทัพยูเครน

ก่อนหน้านั้น อันตอน เฮรัชเชนโก (Anton Herashchenko) ที่ปรึกษาของกระทรวงมหาดไทยยูเครนผู้หนึ่ง ได้ออกมากล่าวว่า เครื่องบินลำนี้ถูกยิงตกด้วยระบบปล่อยขีปนาวุธจากพื้นดินสู่อากาศ ที่เรียกขานกันว่า ขีปนาวุธ “บัค” (Buk)

ทั้งกองทัพยูเครนและกองทัพรัสเซียต่างก็มีระบบขีปนาวุธ เอสเอ-17 (SA-17) ซึ่งมีฉายาว่า “บัค” นี้

นอกจากนั้นพวกแบ่งแยกดินแดนเองได้เคยกล่าวอ้างเมื่อเร็วๆ นี้ว่า พวกเขาก็ได้ระบบขีปนาวุธ “บัค” มาไว้ในครอบครองเช่นกัน

ในเวลาเดียวกัน องค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) ได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่งกล่าวว่า พวกแบ่งแยกดินแดนได้ตกลงที่จะปิดกั้นสถานที่เครื่องบินตก, อนุญาตให้มีการเก็บกู้ศพ, และเปิดทางให้พวกเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนทั้งระดับชาติและนานาชาติ ตลอดจนเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามสังเกตการณ์ของ OSCE สามารถเข้าไปยังบริเวณดังกล่าวได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งจะคอยดูแลรักษาความปลอดภัยให้ด้วย

คำแถลงของ OSCE กล่าวว่า ข้อตกลงในเรื่องนี้ได้เห็นพ้องยอมรับกันที่กรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ในวันพฤหัสบดี (17 ก.ค.) ภายหลังการประชุมหารือกันของ “กลุ่มติดต่อไตรภาคี” (Trilateral Contact Group) ซึ่งประกอบด้วย ยูเครน, รัสเซีย, และ OSCE

เครื่องบินโดยสารลำนี้ถูกยิงตก 1 วันหลังจากวอชิงตันประกาศเพิ่มมาตรการลงโทษคว่ำบาตรรัสเซีย โดยระบุว่ามอสโกยังไม่ได้ทำอะไรมากเพียงพอ ทั้งในเรื่องการทำให้พวกแบ่งแยกดินแดนยอมวางอาวุธ และในการหยุดยั้งไม่ให้อาวุธและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ข้ามชายแดนเข้าไปถึงมือพวกแบ่งแยกดินแดน

ขณะที่ในส่วนของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียนั้น ได้แถลงว่ายูเครนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเต็มๆ สำหรับเหตุการณ์เครื่องบินตกคราวนี้

ปูตินได้กล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรัสเซียในกรุงมอสโกว่า “โศกนาฏกรรมคราวนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าหากประเทศนั้น (ยูเครน) มีสันติภาพ ถ้าหากไม่ได้มีการฟื้นฟูการปฏิบัติการทหารในบริเวณภาคใต้-ภาคตะวันออกของยูเครนขึ้นมาอีก”

สำหรับ บัน คีมุน เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ ได้ออกมาเรียกร้องให้นานาชาติจัดการสืบสวนสอบสวนเหตุภัยพิบัติครั้งนี้อย่างเต็มที่ ขณะที่มีรายงานว่าอังกฤษกำลังพยายามหาทางให้คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นเปิดประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือกันเกี่ยวกับวิกฤตในยูเครนตะวันออก

ทางด้านนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค (Najib Razak) ของมาเลเซีย แถลงว่า “ถ้าหากเป็นที่ชัดเจนว่าเครื่องบินถูกยิงตกจริงๆ แล้ว เราก็เรียกร้องให้นำตัวผู้ก่อเหตุมาลงโทษทัณฑ์ตามความยุติธรรมโดยเร่งด่วน”

สายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ระบุว่า ผู้โดยสารบนเครื่องบินโดยสารไอพ่นโบอิ้ง 777 ลำนี้ ประกอบไปด้วยชาวเนเธอร์แลนด์อย่างน้อย 154 คน, ชาวออสเตรเลีย 27 คน, ชาวมาเลเซีย 23 คน, ชาวอินโดนีเซีย 11 คน, ชาวอังกฤษ 6 คน, ชาวเยอรมัน 4 คน, ชาวเบลเยียม 4 คน, ชาวฟิลิปปินส์ 3 คน, และชาวแคนาดา 1 คน

นอกจากนั้นยังมีผู้โดยสารอีก 47 คนซึ่งยังไม่ทราบสัญชาติชัดเจน ขณะที่ลูกเรือในเที่ยวบินนี้ทั้งหมดเป็นชาวมาเลเซีย

ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้วที่เครื่องบินโดยสารของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ประสบการสูญเสียในรอบระยะเวลาไม่ถึง 6 เดือน ก่อนหน้านี้เที่ยวบิน MH370 ของมาเลเซียแอร์ไลน์ก็ได้หายวับไปในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะกำลังบินในเส้นทางจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปยังกรุงปักกิ่ง

รายงานนี้มาจาก เรดิโอ ฟรี ยุโรป หรือวิทยุยุโรปเสรี ( Radio Free Europe)

เรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี เป็นกิจการกระจายเสียงที่ได้รับเงินทุนจากรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อเสนอข่าวสารข้อมูลและบทวิเคราะห์ ไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออก, เอเชียกลาง, และตะวันออกกลาง


กำลังโหลดความคิดเห็น