xs
xsm
sm
md
lg

"เคร์รี" ไปเยือนหมู่เกาะโซโลมอน ร่วมสดุดีผู้เสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ "จอห์น เคร์รี" เดินทางไปร่วมสดุดีการเสียสละของทหารอเมริกันและชาติพันธมิตร เมื่อครั้งยกพลขึ้นบกที่เกาะกัวดาลคาแนล ซึ่งเคร์รีได้ระบุว่าผู้เสียสละเหล่านั้นได้ปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญอย่างยิ่งในการทำศึกบนหมู่เกาะโซโลมอน ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังจากที่เขากับรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ "ชัค เฮเกล" ได้พูดคุยกันที่นครซิดนีย์กับ 2 รัฐมนตรีของออสเตรเลีย เรื่องประเด็นความมั่นคงในภูมิภาคตลอดจนวิกฤติในอิรัก เคร์รีได้เดินทางไปยังโฮนีอารา เมืองหลวงของหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะกัวดาลคาแนล

ระหว่างการไปเยือนอนุสรณ์สถานของทหารอเมริกันในกัวดาลคาแนล เคร์รีได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่อันสำคัญยิ่งของการรบบนหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งเป็นช่วงต้นๆ ในการบุกแปซิฟิกของกองทัพสหรัฐฯ หลังจากถูกญี่ปุ่นทิ้งระเบิดโจมตีใส่ฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์

"มันเป็นการเผชิญหน้ากันครั้งใหญ่ ครั้งแรกในแปซิฟิก และยุทธการทางนาวีที่เกิดขึ้นก็มีทั้งการสู้รบทางอากาศและทางทะเล แต่ละครั้งต้องสูญเสียและขมขื่นยิ่งกว่าการสู้รบครั้งถัดๆมา" เขากล่าว

"ข้าศึกมาเป็นระลอกๆ กองทัพญี่ปุ่นพยายามที่จะยึดคืนหมู่เกาะแห่งนี้ เพื่อควบคุมน่านฟ้า แต่เหล่านาวิกโยธินไม่ยอมแพ้ ชัยชนะของพวกเขาคือจุดเริ่มต้นของการที่ญี่ปุ่นต้องยุติความพยายามที่จะขับไล่กองกำลังพันธมิตรออกจากหมู่เกาะแห่งนี้"

เคร์รี ยังได้ไปเยือน "บลัดดี ริดจ์" ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสมรภูมิในกัวดาคาแนล พร้อมกับยกย่องวีรกรรมอันกล้าหาญของเหล่านาวิกโยธินที่ต่อสู้กับอีกฝ่ายที่เหนือกว่า แต่ก็สามารถเอาชนะในการรุกแปซิฟิกครั้งแรกที่สำคัญมากของกองกำลังพันธมิตร

"การศึกที่กัวดาคาแนลคือจุดเปลี่ยนอย่างแท้จริง ความสัมพันธ์ของบรรดาชาติพันธมิตรที่ยังคงเหนียวแน่นตลอดมา ถูกหล่อหลอมขึ้นที่นี่ในวันที่ 7 สิงหาคม 1942" เขากล่าว

ในขณะที่เขาพูดเน้นหนักไปที่เรื่องประวัติศาสตร์ เครํรีก็ได้กล่าวถึงความท้าทายที่หมู่เกาะแห่งนี้จะต้องเผชิญในโลกสมัยใหม่ อาทิ การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์มหาสมุทร การบริหารจัดการด้านประมง

เคร์รีบอกกับ กอร์ดอน ดาร์ซี ลิโล นายกรัฐมนตรีของหมู่เกาะโซโลมอนว่า ทราบดีว่าหมู่เกาะแห่งนี้กำลังทำงานกันหนักขนาดไหน ทั้งเรื่องยุ่งยากต่างๆ ที่เกิดขึ้นมา รวมถึงต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งสำคัญเรื่องสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

เคร์รี อ้างอิงถึงโพลสำรวจการเลือกตั้งของปีนี้ โดยระบุว่า คาดหวังไว้สูงว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง จะช่วยคลี่คลายปัญหาเหล่านี้ นำไปสู่อนาคตที่ดี

ทั้งนี้ หมู่เกาะโซโลมอน ต้องเจอกับปัญหาความไม่สงบในช่วงปลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งกองกำลังรักษาสันติภาพที่นำโดยออสเตรเลีย ได้ถูกส่งเข้าไปในประเทศนี้เมื่อปี 2003 เพื่อยุติสงครามกลางเมืองที่กินเวลากว่า 5 ปี ซึ่งภารกิจดังกล่าวเพิ่งจะสิ้นสุดลงในปี 2013
เอโรนี คูมานา (คนซ้าย) ผู้ที่ช่วยเหลือเคนเนดีในตอนนั้น
ประเด็นการพูดคุยวกกลับไปที่เรื่องในอดีตอีกครั้ง เมื่อเคร์รีได้ระบุถึงเรื่องที่ชาวบ้านบนหมู่เกาะโซโลมอนได้ช่วยเหลือ "จอห์น เอฟ เคนเนดี" ผู้ที่ต่อมาได้กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ

"ทางเหนือของที่นี่คือจุดที่ประธานาธิบดีเคนเนดีปฏิบัติหน้าที่อยู่ในตอนนั้น และได้รับการช่วยเหลือโดยชาวบ้านบนหมู่เกาะโซโลมอน" เคร์รีกล่าว

เรือพิฆาตของญี่ปุ่นได้จมเรือตรวจการณ์ที่เคนเนดีปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปี 1943 ทำให้เขาได้รับบาดเจ็บและต้องลอยคออยู่แถวแนวปะการังพร้อมกับบรรดาลูกเรือคนอื่นๆ

เคนเนดีได้พยายามนำตัวลูกเรือที่ได้รับบาดเจ็บจากรอยแผลไหม้ ว่ายน้ำเป็นระยะทางไกลกว่า 5 กิโลเมตรจากจุดที่เรือจมเพื่อเข้าหาแนวปะการังดังกล่าว แม้ว่าตัวเองจะได้รับบาดเจ็บบริเวณสันหลัง

พวกเขาได้รับการช่วยเหลือหลังจากที่มีชาวเกาะโซโลมอน 2 คนพายเรือแคนูผ่านมา พร้อมกับให้อาหารและไปแจ้งต่อหน่วยกู้ภัยของกองกำลังพันธมิตร

การมาเยือนของเคร์รีครั้งนี้ เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังการเสียชีวิตของ "เอโรนี คูมานา" วัย 93 ปี ผู้ที่ช่วยเหลือเคนเนดีในตอนนั้น ส่วนชาวเกาะโซโลมอนอีกคนที่ร่วมช่วยเหลือเคนเนดีคือ "บุยคู กาซา" เสียชีวิตในเมื่อปี 2005

ทั้งนี้ เคนเนดี ที่มียศเรือโทขณะทำการสู้รบอยู่ในหมู่เกาะโซโลมอน ได้นำมะพร้าวที่เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกถึงความเจ็บปวดในครั้งนั้น มาทำเป็นที่ทับกระดาษบนโต๊ะทำงานของเขาในทำเนียบขาว
กำลังโหลดความคิดเห็น