ชุมพร - ชาวบ้าน อ.หลังสวน พบซากเรือรบทหารญี่ปุ่นยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทะเลชุมพร นักโบราณคดีใต้น้ำกรมศิลปากร ลงพื้นที่สำรวจ พบเป็นซากเรือเหล็กขนาดใหญ่ สภาพถูกทรายทับถม และน้ำทะเลกัดเซาะเสียหายเกือบหมด
เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (10 ส.ค.) กลุ่มงานโบราณคดีใต้น้ำกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม นำโดย นายสิร พลอยมุกดา นักโบราณคดีปฏิบัติการและคณะ ลงสำรวจพื้นที่อ่าวท้องโข หมู่ 13 ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร หลังรับแจ้งจากชาวบ้านว่า พบซากเรือรบโบราณสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จมอยู่ใต้น้ำมาหลายปี จึงนำคณะนักประดาน้ำลงพื้นที่สำรวจ จากการสำรวจเบื้องต้นของทีมนักประดาน้ำพบเป็นซากเรือเหล็กขนาดใหญ่ สภาพถูกทรายทับถม และน้ำทะเลกัดเซาะเสียหายเกือบหมด โดยหัวเรือตั้งไปทางทิศเหนือ ท้องเรือตั้งขนาบกับพื้นที่ดิน ความลึกของน้ำประมาณ 4 เมตร ห่างจากฝั่งไม่ถึง 1 กิโลเมตร
นายสิร พลอยมุกดา นักโบราณคดีปฏิบัติการ เปิดเผยว่า กลุ่มงานโบราณคดีใต้น้ำกรมศิลปากร ได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ให้ลงมาสำรวจซากเรือโบราณดังกล่าว เบื้องต้นพบเป็นเรือเหล็กขนาดใหญ่ มีความยาวประมาณ 40 เมตร กว้าง 8 เมตร มีปล่องไฟคล้ายปล่องไอเสียแรงดันไอน้ำ ยังไม่ทราบเป็นเรือสมัยใด มีอายุกี่ปี เพราะจะต้องนำเอาชิ้นส่วนไปพิสูจน์จึงจะทราบถึงอายุ และความเป็นมา
ด้าน นายสวัสดิ์ หิ้นเตี้ยน อายุ 74 ปี อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ กล่าวถึงความเป็นมา ว่า จากคำบอกเล่าของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ทราบว่า ในปี 2484 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ จ.ชุมพร บริเวณสะพานท่านางสังข์ ต.ท่ายาง อ.เมือง จ.ชุมพร ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานที่ตั้งอนุสาวรีย์ยุวชนทหาร เนื่องจากมีการสู้รบในบริเวณดังกล่าว และทหารญี่ปุ่นยังยกพลขึ้นบกที่อ่าวท้องโข บ้านท้องครก ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน ซึ่งระหว่างที่กองกำลังทหารญี่ปุ่นตั้งกองกำลังอยู่ที่อ่าวท้องโข ชาวบ้านในพื้นที่พบเห็นเรือลำดังกล่าวเข้าออกในพื้นที่เพื่อขนส่งเสบียง และเชลยศึกอยู่บ่อยครั้ง
ต่อมา เรือรบลำดังกล่าวถูกลอบยิงจากเรือดำน้ำของฝ่ายสัมพันธมิตรที่บริเวณหน้าเกาะพิทักษ์ได้รับความเสียหาย จากนั้นได้มีเรือของทหารญี่ปุ่นลากเรือรบลำดังกล่าวเข้ามาที่ฝั่งอ่าวท้องโข แต่เนื่องจากตัวเรือเสียหายหนักมากจึงทำให้จมลงใต้ทะเลซึ่งห่างจากฝั่งเพียง 800 เมตรเท่านั้น