เอเอฟพี - ออสเตรเลียได้อนุมัติการทำเหมืองถ่านหินขนาดมหึมา ที่อาจสร้างเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าให้ชาวอินเดียได้มากถึง 100 ล้านคน ซึ่งเป็นความคืบหน้าที่สร้างความขุ่นเคืองให้แก่บรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จนจุดประกายให้พวกเขาออกมากล่าวเตือนในวันนี้ (28 ก.ค.) ว่าโครงการดังกล่าวอาจเป็นภัยคุกคามต่อแนวปะการัง “เกรท แบริเออร์ รีฟ”
เกร็ก ฮันท์ รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมออสเตรเลียแถลงว่า การอนุมัติโครงการเหมืองถ่านหิน “คาร์ไมเคิล” และทางรถไฟในรัฐควีนส์แลนด์ มูลค่า 1.65 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 4.93 แสนล้านบาท) ของบริษัทแดนภารตะ “อาดานี” นั้นจำเป็นต้องพิจารณาเงื่อนไข 36 ข้อด้วยกัน
เขาระบุในคำแถลงว่า “มีการกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดที่สุดเพื่อให้มั่นใจว่า สิ่งแวดล้อมจะได้รับการคุ้มครอง โดยจะมุ่งเน้นไปที่การปกป้องแหล่งน้ำบาดาล”
โครงการดังกล่าวเสนอให้มีการทำเหมืองถ่านหินแบบเหมืองหาบ (open-cut mining) และเหมืองอุโมงค์ ในจุดซึ่งอยู่ห่างจากเมืองเคลอร์มอนต์ ใจกลางรัฐควีนส์แลนด์ ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 160 กิโลเมตร ตลอดจนโครงการทางรถไฟเชื่อมต่อระยะทาง 189 กิโลเมตร
ทั้งนี้ เป็นที่คาดการณ์กันว่าเหมืองดังกล่าวจะสามารถผลิตถ่านหินประเภทให้ความร้อนเพื่อส่งออกได้ถึง 60 ล้านตันต่อปี
บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐควีนส์แลนด์กล่าวว่า โครงการนี้ ซึ่งอาจเป็นการทำเหมืองถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย และเหมืองถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง จะมีบทบาทสำคัญในการเปิดแอ่งกาลิลี ที่รุ่มรวยทรัพยากรแร่ธาตุของควีนส์แลนด์
นอกจากนี้ ยังมีความคาดหมายกันว่า ในแต่ละปีเหมืองถ่านหินแห่งนี้จะสร้างเม็ดเงิน 2.97 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 8.9 หมื่นล้านบาท) ให้แก่เศรษฐกิจของควีนส์แลนด์ และจะสร้างงานเพิ่มขึ้นอีกหลายพันอัตรา
ฮันท์กล่าวว่า “มีการประมาณการว่าโครงการนี้จะผลิตกระแสไฟฟ้าให้แก่ชาวอินเดียได้มากถึง 100 ล้านคน”
ทั้งนี้ ออสเตรเลียส่งออกถ่านหินเป็นหลัก และแอนดรูว์ ร็อบบ์ รัฐมนตรีกระทรวงการค้าแดนจิงโจ้ชี้ว่า โครงการนี้สะท้อนให้เห็นว่าภาคทรัพยากรมีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตมากเพียงใด
ร็อบบ์ระบุว่า “โครงการนี้จะส่งเสริมให้มีการบุกเบิกเขตแร่ธาตุใหม่แห่งแรกของออสเตรเลีย ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา” พร้อมกล่าวเสริมว่า การทำข้อตกลงกับบริษัทสำคัญระดับโลกอย่าง อาดานี เป็นการเปิดทางให้นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุนในแดนจิงโจ้
*** ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ***
อย่างไรก็ตาม เหล่านักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การอนุมัติโครงการเหมืองถ่านหิน ซึ่งมีแผนจะเคลื่อนย้ายถ่านหินจากเหมือง ผ่านทางท่าเรือแอบบอตต์ พอยต์ บนชายฝั่งที่ติดกับแนวปะการัง เกรท แบริเออร์ รีฟ
อาดานีได้รับไฟเขียวให้ขยายท่าเรือถ่านหินขนาดใหญ่ ที่แอบบอตต์ พอยต์ เมื่อเดือนธันวาคม โดยได้รับอนุญาตให้ขุดลอกวัสดุปริมาตร 3 ล้านลูกบาศก์เมตรจากก้นสมุทร เพื่อให้เรือสินค้าสามารถแล่นเข้าเทียบท่าได้
เบน เพียร์สัน จากองค์กรเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม “กรีนพีซ ออสเตรเลีย แปซิฟิก” ระบุว่า การตัดสินใจอนุมัติโครงการ “เหมืองปิศาจ” สร้างความหวั่นวิตกว่าจะทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
เขากล่าวว่า “คุณไม่สามารถละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า มันเป็นเหมือง ซึ่งถ้าหากยังเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป แนวปะการังเกรต แบริเออร์ รีฟ ซึ่งเป็นมรดกโลกก็จะได้รับผลกระทบ และแน่นอนว่า เพื่อให้ได้ถ่านหิน คุณต้องสร้างท่าเรือแห่งใหม่ที่แอบบอตต์พอยต์ไว้ส่งออกถ่านหิน”
มูลนิธิอนุรักษ์ออสเตรเลีย (Australian Conservation Foundation) ระบุว่า การอนุมัติโครงการนี้เป็น “ข่าวร้ายสำหรับทรัพยากรน้ำ และสัตว์ป่า ตลอดจนความพยายามรับมือปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่ทั่วโลกร่วมมือกัน”
รุจิรา ทาลักดาร์ นักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า “แม้ว่าเงื่อนไขที่รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมกำหนดจะน่าพึงพอใจ แต่ก็ยังไม่สามารถยับยั้งไม่ให้เหมืองนี้สร้างภัยพิบัติต่อสิ่งแวดล้อมได้”
ทั้งนี้ รัฐบาลควีนส์แลนด์ได้กำหนดเงื่อนไข 190 ข้อขึ้นมา เพื่อคุ้มครองเจ้าของที่ดิน พรรณพืช ทรัพยากรน้ำบาดาล และคุณภาพของอากาศ ตลอดจนเพื่อควบคุมฝุ่นละออง และมลพิษทางเสียง ที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้างและการทำเหมือง
อย่างไรก็ตาม ส.ว.ลาริซซา วอเทอร์ส จากพรรค “ออสเตรเลียกรีนส์” ชี้ว่า การตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ได้ยกเลิกการเก็บภาษีคาร์บอนกับบรรดาผู้ก่อมลพิษมากที่สุดในประเทศ เป็นหายนะทางสิ่งแวดล้อม
เธอกล่าวว่า “ออสเตรเลียควรเป็นผู้นำร่องในการผลิตพลังงานหมุนเวียน แทนที่จะทำให้อินเดียมีคุณภาพอากาศเลวร้ายกว่าเดิม และทำให้โลกต้องเผชิญหายนะทางสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้น”