ออสเตรเลียวันนี้ (19 มิ.ย.) แถลงว่า การที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ตัดสินใจเลื่อนการขึ้นชื่อแนวปะการัง “เกรต แบร์ริเออร์ รีฟ” ในรายชื่อมรดกโลกที่เสี่ยงภัยคุกคามออกไป คือ “ชัยชนะที่ได้มาโดยการใช้เหตุผล” แต่เหล่านักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชี้ว่า เป็นการประกาศเตือน “ครั้งสุดท้าย”
องค์กรชำนาญการพิเศษด้านวัฒนธรรมขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวว่า แนวปะการังขนาดใหญ่แห่งนี้อาจถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อแหล่งมรดกโลกที่เสี่ยงภัยคุกคาม หากยังไม่ได้รับการปกป้องอย่างจริงจังกว่านี้
ยูเนสโก กล่าวเตือนว่า แนวปะการังขนาดใหญ่แห่งนี้มี “สภาพเสื่อมโทรมอย่างรุนแรง” และกล่าวว่า “การบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่แถบนี้ด้วยแนวทางธุรกิจแบบปกติ ไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสม”
ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2015 ออสเตรเลียจะต้องส่งรายงานชี้แจงถึงวิธีการที่ประเทศนี้ใช้ปกป้องสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ โดยรัฐบาลรัฐควีนส์แลนด์ ระบุว่าการที่ยูเนสโกยืดเวลาออกไปเป็น “การแสดงความเห็นชอบ”
แอนดรูว์ พาวเวลล์ รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของรัฐควีนส์แลนด์กล่าวว่า “ผมรู้สึกยินดีที่คณะกรรมาธิการมรดกโลก ของยูเนสโกเห็นดีเห็นงามกับควีนส์แลนด์ และภารกิจที่เราทำอยู่”
“การตัดสินใจครั้งนี้คือชัยชนะของการใช้เหตุผล และวิทยาศาสตร์ มิใช่ของคนเจ้าคารม และพวกชอบปล่อยข่าวลือ”
แนวปะการังแห่งนี้คือหนึ่งในสถานที่ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก ทว่าต้องเผชิญทั้งภัยคุกคามจากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และปลาดาวมงกุฎหนาม หรือปลาดาวหนาม ที่กินปะการังเป็นอาหาร ตลอดจนน้ำเสียจากการเกษตร และการพัฒนาด้านเหมืองแร่
ยูเนสโก ได้ออกมาแสดงความกังวลเป็นพิเศษ ต่อกรณีการอนุมัติโครงการขยายท่าเรือถ่านหินขนาดใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าว เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตลอดจนการอนุญาตให้ระบายน้ำเสียหลายล้านตันลงสู่น่านน้ำในอุทยานแห่งชาติทางทะเล
บรรดากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชี้ว่า รัฐบาลได้รับใบเตือนเป็นครั้งสุดท้ายและ “เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลไม่ได้รักษามาตรฐาน ตามที่ประชาคมนานาชาติคาดหวัง”
ริชาร์ด เลก นักรณรงค์เพื่ออนุรักษ์แนวปะการังจาก “องค์การกองทุนพิทักษ์สัตว์ป่าโลก” (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) ประจำแดนจิงโจ้ ซี่งเวลานี้ เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการประจำปี ณ กรุงโดฮา กล่าวว่า “คณะกรรมาธิการมรดกโลกคัดค้านการที่ รัฐบาลออสเตรเลีย และรัฐบาลควีนส์แลนด์ ละเลยเพิกเฉยต่อแรงกดดันในเรื่องปะการัง”
“ที่จริงแล้ว คณะกรรมาธิการได้ย้ำเตือนให้ออสเตรเลียดำเนินมาตรการปกป้อง เกรต แบร์ริเออร์ รีฟ ให้จริงจังมากขึ้น”
“(คำเตือนนี้) คือชัยชนะของประชาชนหลายล้านคนทั่วโลกที่กล่าวว่า แนวปะการังนี้ไม่ใช่ที่ทิ้งขยะ”
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการมรดกโลกยังมีกำหนดหารือกัน เพื่อพิจารณาข้อเรียกร้องของออสเตรเลีย ที่ต้องการถอนป่าแทสเมเนียขนาด 293,750 ไร่ ซึ่งเป็นหนึ่งในป่าฝนเขตร้อนปานกลางที่ใหญ่ที่สุดในโลก ออกจากรายชื่อมรดกโลกที่เสี่ยงภัยคุกคาม
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวที่อาจเปิดช่องให้แก่ขบวนการตัดไม้บุกรุกผืนป่าแห่งนี้ กำลังถูกบรรดากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมประณาม และจุดประกายให้ประชาชนหลายพันคนออกมาชุมนุมประท้วงหน้ารัฐสภาแทสเมเนีย ในเมืองโฮบาร์ตเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา