เอเอฟพี - องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) แถลงประณามรัฐบาลออสเตรเลียที่ปล่อยให้มีการทิ้งของเสียจากการขุดลอกทะเลลงสู่แนวปะการัง “เกรทแบริเออร์รีฟ” พร้อมเสนอให้เพิ่มชื่ออุทยานทางทะเลแห่งนี้ไว้ในบัญชี “มรดกโลกที่ตกอยู่ในภาวะอันตราย”
เดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลแดนจิงโจ้อนุญาตให้ทิ้งตะกอนเลนราว 3 ล้านลูกบาศก์เมตร ลงสู่ทะเลบริเวณเกรทแบริเออร์รีฟ หลังจากที่ได้อนุมัติโครงการขยายท่าเรือขนส่งถ่านหินของบริษัท อาดานี กรุ๊ป สัญชาติอินเดีย บริเวณชายฝั่งทะเลแถบนี้เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
นักอนุรักษ์เตือนว่า การทิ้งดินตะกอนจะสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อแนวปะการัง ซึ่งอยู่ในภาวะเปราะบาง โดยเศษตะกอนจะไปจับตามแนวปะการังและหญ้าทะเล ทำให้พวกมันได้รับสารพิษหรือสารอาหารที่มากเกินไป
ยูเนสโกซึ่งแถลงจุดยืนเป็นครั้งแรกแสดงความ “กังวล” และ “ผิดหวัง” ต่อคำสั่งของรัฐบาลออสเตรเลีย “ซึ่งอนุมัติเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่อาจมีทางเลือกอื่นที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า”
ยูเนสโกขอให้ออสเตรเลียทำรายงานฉบับใหม่ส่งไปยังคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อยืนยันว่าการทิ้งเศษตะกอนลงทะเลเป็นทางเลือกที่ส่งผลกระทบน้อยที่สุด และจะไม่ทำลายคุณค่าของแนวปะการังมรดกโลก
ยูเนสโกยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับ “ความเสื่อมโทรมของเกรทแบริเออร์รีฟ ทั้งในด้านการลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง (coral recruitment) และการก่อตัวของปะการังในอาณาบริเวณส่วนใหญ่ของอุทยานทางทะเลแห่งนี้”
“การคำนึงถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจตลอดเวลา ไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมในการอนุรักษ์” ยูเนสโก เตือน
เนื่องจากเกรทแบริเออร์รีฟมีแนวโน้มที่จะเสื่อมโทรมลงในระยะยาว ยูเนสโกจึงเสนอให้คณะกรรมการมรดกโลกเพิ่มชื่อแนวปะการังแห่งนี้ลงในบัญชีมรดกโลกที่ตกอยู่ในภาวะอันตรายประจำปี 2015 “หากปัญหาที่สำคัญยังไม่ได้รับการแก้ไข”
ริชาร์ด เล็ก โฆษกองค์การกองทุนสัตว์ป่าสากล (WWF) ออกมาย้ำเตือนให้รัฐบาลแคนเบอร์ราเร่งตอบสนองปัญหานี้โดยเร็ว เพื่อไม่ให้แนวปะการังเกรทแบริเออร์รีฟถูกเพิ่มชื่อลงในบัญชีมรดกโลกที่ตกอยู่ในภาวะอันตราย ซึ่งจะเป็นเรื่องน่าอับอายสำหรับประเทศ
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลออสเตรเลียได้ยืนยันความคืบหน้าในการปฏิบัติตามเงื่อนไขของยูเนสโกที่จะปกป้องแนวปะการังเกรทแบริเออร์รีฟไม่ให้ถูกลดขั้นเป็นมรดกโลกที่ตกอยู่ในภาวะอันตราย