เอเอฟพี - ญี่ปุ่นและอังกฤษจะร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีขีปนาวุธสำหรับติดตั้งบนเครื่องบินขับไล่ ขณะที่โตเกียวยังมีแผนส่งออกชิ้นส่วนสำหรับติดตั้งบนขีปนาวุธชนิดยิงจากพื้นดินสู่อากาศของสหรัฐฯ ด้วย สื่อเมืองปลาดิบรายงานวันนี้ (17 ก.ค.)
หนังสือพิมพ์ ไมนิจิ ชิมบุน รายงานโดยไม่อ้างอิงแหล่งข่าวว่า โครงการเหล่านี้ถูกเสนอขึ้นมาเพียงไม่กี่เดือนหลังจากที่ญี่ปุ่นผ่อนคลายกฎหมายห้ามส่งออกอาวุธ และคาดว่าจะผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีระหว่างการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติในวันนี้ (17)
งานวิจัยร่วมกับอังกฤษเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาขีปนาวุธยุโรป “เมเตออร์” (Meteor) ส่วนการส่งออกชิ้นส่วนขีปนาวุธให้แก่สหรัฐฯ นั้นหมายถึงชิ้นส่วนที่จะใช้ติดตั้งในระบบป้องกันขีปนาวุธแพทริออต (PAC-2)
ทั้งนี้ หากได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ การส่งออกชิ้นส่วนขีปนาวุธให้สหรัฐฯ จะถือว่าเป็นครั้งแรกของญี่ปุ่น นับตั้งแต่เดือนเมษายนซึ่งโตเกียวได้ประกาศผ่อนปรนกฎหมายแบนการส่งออกอาวุธอย่างครอบคลุมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1967
ภายใต้นโยบายใหม่ ญี่ปุ่นจะไม่จำหน่ายอาวุธให้ประเทศที่พัวพันข้อขัดแย้ง หรือประเทศอื่นใดที่อาจนำอาวุธเหล่านั้นไปใช้บั่นทอนสันติภาพและความมั่นคงระดับนานาชาติ นอกจากนี้ การส่งออกอาวุธจะต้องเป็นไปเพื่อสันติภาพของโลก และส่งเสริมความมั่นคงของญี่ปุ่นเอง
โยชิฮิเดะ สุกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับรายงานของ ไมนิจิ ชิมบุน ว่า “ผมได้อ่านรายงานเหมือนกัน แต่ยังไม่ทราบอะไรที่เฉพาะเจาะจง”
“เมเตออร์” เป็นโครงการพัฒนาระบบขีปนาวุธสำหรับเครื่องบินขับไล่ยูโรไฟเตอร์ นำโดย Matra BAe Dynamics (MBD) ซึ่งเกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง Matra Defense ของฝรั่งเศส BAe Dynamics ของอังกฤษ และบริษัทอาวุธสัญชาติยุโรปอีกหลายแห่ง
หนังสือพิมพ์นิกเกอิได้รายงานเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า มิตซูบิชิ เฮฟวี อินดีสตรีส์ มีแผนจะส่งออกระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับสมรรถนะสูงให้แก่สหรัฐฯ เพื่อนำไปติดตั้งในระบบป้องกันขีปนาวุธ PAC-2
เซ็นเซอร์ตัวนี้ถือเป็นองค์ประกอบหลักของอุปกรณ์รังสีอินฟราเรดบริเวณส่วนหัวของขีปนาวุธซึ่งจะช่วยตรวจจับและติดตามเป้าหมาย