เอเอฟพี – ญี่ปุ่นสามารถส่งกองกำลังเข้าช่วยเหลือเรือรบสหรัฐฯ ที่ถูกศัตรูโจมตีได้ หลังรัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพได้รับการตีความใหม่ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น ระบุวานนี้ (11)
อิตสุโนริ โอโนเดระ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นซึ่งอยู่ระหว่างเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้ยกตัวอย่างสถานการณ์สมมติ เพื่ออธิบายหลักการและเหตุผลที่รัฐบาลโตเกียวตัดสินใจตีความบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญสันติภาพใหม่ หลังจากที่ถูกจำกัดบทบาททางทหารมานานหลายสิบปี
โอโนเดระ กล่าวต่อผู้ฟังที่สถาบันเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (CSIS) ซึ่งเป็นสำนักคิดในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ว่า หากสหรัฐฯส่งเรือรบมาช่วยป้องกันญี่ปุ่น และเรือรบเหล่านั้นถูกโจมตี “ตามการตีความรัฐธรรมนูญแบบดั้งเดิม ญี่ปุ่นจะไม่สามารถเข้าช่วยเหลือได้เลย”
อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือมิตรประเทศนั้น “ถือเป็นสิ่งที่มิตรควรกระทำต่อกัน” ดังนั้น “การเปลี่ยนแปลงนโยบายของญี่ปุ่นจึงเป็นสิ่งที่นานาชาติควรเข้าใจ”
โอโนเดระ ชี้ว่า การตีความรัฐธรรมนูญซึ่งผ่านความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม จะช่วยยกระดับความเป็นพันธมิตรที่ญี่ปุ่นมีต่อสหรัฐฯ และเปิดทางไปสู่ความร่วมมือทางทหารรูปแบบใหม่ๆ
การตัดสินใจของญี่ปุ่นนำมาซึ่งกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงทั้งในหมู่ชาวเมืองปลาดิบและประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะจีนที่แสดงความโกรธเกรี้ยวและเฝ้าระวังเต็มที่ เนื่องจาก 2 ชาติมีข้อพิพาทแย่งชิงกรรมสิทธิ์หมู่เกาะเซ็งกากุ หรือ เตี้ยวอี๋ว์ ในทะเลจีนตะวันออกกันอยู่
อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ กลับประกาศรับรองการตีความรัฐธรรมนูญใหม่ของญี่ปุ่น โดยรัฐมนตรีกลาโหม ชัค เฮเกล ได้กล่าวยกย่องว่าเป็นการตัดสินใจที่ “กล้าหาญ”
“การตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์อย่างกล้าหาญนี้จะเปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นได้สนับสนุนงานความมั่นคงทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก และมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในเวทีนานาชาติ” เฮเกล กล่าว
โอโนเดระ เผยด้วยว่า โตเกียวได้อนุมัติเพิ่มงบประมาณกระทรวงกลาโหมเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี และกำลังพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธระดับ “เวิลด์คลาส” รวมถึงจัดตั้งกองกำลังสะเทินน้ำสะเทินบก และยกระดับการป้องกันทางทะเลเพื่อปกป้องหมู่เกาะต่างๆ ของแดนอาทิตย์อุทัย
รัฐมนตรีผู้นี้กล่าวเสริมว่า ญี่ปุ่นพร้อมเปิดเวทีพูดคุยกับจีนเสมอ แต่หากถูกรุกรานด้วยปฏิบัติการฝ่ายเดียว “เราก็จำเป็นต้องตอบโต้อย่างเต็มที่”