xs
xsm
sm
md
lg

เอาแล้วไง!! รัฐบาลญี่ปุ่นถูกฟ้อง กรณีขยายขอบเขตอำนาจทางการทหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รัฐบาลญี่ปุ่นถูกฟ้องร้องเป็นคดีความในวันนี้ (11 ก.ค.) สำหรับการตัดสินใจตีความรัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพใหม่อีกครั้ง เพื่อขยายขอบเขตการใช้กำลังทางการทหาร ที่สร้างความแตกแยกและเป็นประเด็นให้เกิดการประท้วงในประเทศ รวมถึงยังทำให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างหนักจากจีนอีกด้วย

การยื่นเอกสารต่อศาลในกรุงโตเกียวเพื่อดำเนินการทางกฎหมายครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อขัดขวางการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีที่นำโดย ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่ตีความรัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพใหม่อีกครั้ง เพื่อขยายขอบเขตการใช้กำลังทางทหารของญี่ปุ่น

โทคินาโอะ ชินโด อดีตข้าราชการพลเรือนวัย 75 ปี จากจังหวัดมิเอะ ระบุว่า การตัดสินใจของรัฐบาลนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับสงครามของญี่ปุ่น พร้อมทั้งเชื่อว่าการฟ้องร้องของเขานั้นยังเป็นเพียงแค่การดำเนินการขั้นต้น โดยเขาหวังว่าจะมีชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศทำการฟ้องร้องรัฐบาลแบบเดียวกับเขา

สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังการตีความรัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพขึ้นมาใหม่ในคราวนี้ จะทำให้กองกำลังทหารของญี่ปุ่นสามารถทำการสนับสนุนชาติพันธมิตรที่ถูกโจมตีจากศัตรูได้ แม้จะเป็นกรณีที่ประเทศญี่ปุ่นไม่ใช่เป้าหมายการโจมตีก็ตาม

ทางด้านจีนได้ออกมาเตือนว่า การตัดสินใจของญี่ปุ่นครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่ายังไม่สำนึกผิดต่อสิ่งที่เคยทำไว้ในสงครามโลกครั้งที่ 2

อย่างไรก็ตาม ออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกาที่เรียกร้องให้ญี่ปุ่นเพิ่มบทบาทหน้าที่ในปฏิบัติการทางการทหารมากกว่าเดิม ต่างก็พากันออกมาหนุนหลังการตัดสินใจของญี่ปุ่น

ขณะเดียวกัน การตัดสินใจของนายอาเบะได้สร้างความโกรธแค้นให้กับคนในญี่ปุ่น ประเทศที่ประชาชนจำนวนมากศรัทธาในรัฐธรรมนูญสันติภาพฉบับนี้ โดยมีอย่างน้อยครึ่งหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มขอบเขตการใช้อำนาจทางการทหาร จากโพลสำรวจความคิดเห็นของหนังสือพิมพ์ในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ หลังการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ของนายอาเบะ เสียงสนับสนุนของสาธารณชนที่มีต่อคณะรัฐมนตรีของเขาก็ร่วงลงไปอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ก้าวขึ้นสู่อำนาจเมื่อเดือนธันวาคมปี 2012

เดิมที นายอาเบะ มีแผนที่จะแก้ไขมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพ ด้วยการตัดข้อความ “ญี่ปุ่นจะไม่นำเอาการคุกคาม หรือการใช้กำลังทหารมาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศ” แต่การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นนั้น จำเป็นต้องใช้เสียงข้างมากจำนวน 2 ใน 3 จากทั้งสองสภา แถมยังต้องได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนผ่านการทำประชามติ เขาก็เลยหันไปใช้วิธีการตีความใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น