รอยเตอร์ - ชาวญี่ปุ่นราวครึ่งหนึ่งไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ จะแก้ไขรัฐธรรมนูญสันติภาพซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อเปิดทางให้ญี่ปุ่นสามารถส่งทหารไปร่วมรบปกป้องชาติพันธมิตร ผลสำรวจซึ่งเผยแพร่วันนี้ (30 มิ.ย.) ระบุ
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลโตเกียวเผยต่อสื่อมวลชนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญสันติภาพจะช่วยให้ญี่ปุ่นขยายบทบาททางทหารได้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยจะยกเลิกคำสั่งแบน “การซ้อมรบเพื่อป้องกันตนเอง” หรือการส่งกองกำลังไปช่วยเหลือมิตรประเทศที่ถูกโจมตี นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นได้มีบทบาทเพิ่มขึ้นในภารกิจสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ หรือในความขัดแย้ง “สีเทา” ที่เสี่ยงต่อการยกระดับเป็นสงครามเต็มรูปแบบ
การแก้รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นคาดว่าจะสร้างความไม่พอใจต่อจีน ซึ่งบาดหมางกับแดนอาทิตย์อุทัยมานานทั้งในเรื่องหมู่เกาะพิพาท, ความไม่ไว้วางใจกัน ตลอดจนพฤติกรรมป่าเถื่อนที่กองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นเคยกระทำต่อชาวจีนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
อย่างไรก็ดี แผนของอาเบะคงจะเป็นที่พอใจสำหรับสหรัฐฯ และบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่สบายใจกับท่าทีแข็งกร้าวของปักกิ่ง
ผลสำรวจความคิดเห็นโดยหนังสือพิมพ์ธุรกิจนิกเกอิ พบว่า ชาวญี่ปุ่นร้อยละ 50 ไม่สนับสนุนแผนแก้ไขรัฐธรรมนูญสันติภาพ ขณะที่ร้อยละ 34 เห็นด้วย ส่วนที่เหลือยังไม่ตัดสินใจ
ร้อยละ 54 ของผู้ที่ทำแบบสอบถามระหว่างวันที่ 27-29 มิถุนายน ยังไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะใช้วิธีตีความรัฐธรรมนูญใหม่ แทนที่จะผ่านกระบวนการแก้ไขอย่างเป็นทางการซึ่งจะยุ่งยากมากกว่า
กระแสความไม่พอใจถูกสะท้อนให้เห็นชัด เมื่อชายคนหนึ่งได้จุดไฟเผาตนเองที่หน้าสถานีรถไฟหลักย่านชินจูกุในกรุงโตเกียวเมื่อวานนี้ (29) เพื่อประท้วงแผนแก้รัฐธรรมนูญของ อาเบะ
การประท้วงอย่างสุดโต่งเช่นนี้แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในแดนปลาดิบ
นับตั้งแต่พ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 ญี่ปุ่นก็ไม่เคยร่วมทำสงครามกับชาติใดอีก และแม้รัฐบาลหลายยุคสมัยจะพยายามผ่อนคลายรัฐธรรมนูญสันติภาพที่สหรัฐฯ เป็นผู้ร่าง จนญี่ปุ่นมีกองกำลังป้องกันตนเอง และสามารถเข้าร่วมภารกิจในต่างแดนที่ไม่ใช่การสู้รบได้ ทว่ากองกำลังญี่ปุ่นก็ยังมีข้อจำกัดทางกฎหมายอยู่มากเมื่อเทียบกับกองทัพของประเทศอื่นๆ
พวกอนุรักษนิยมชี้ว่า มาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญปิดกั้นศักยภาพของญี่ปุ่นในการป้องกันตนเอง และด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่ดุลอำนาจในภูมิภาคกำลังเปลี่ยนแปลง และจีนเริ่มก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้น นโยบายของญี่ปุ่นก็ควรจะมีความยืดหยุ่นตามไปด้วย