เอเอฟพี - ตำรวจมาเลเซียแถลงวันนี้ (2 ก.ค.) ว่า กำลังตามล่าตัวอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง รวมทั้งชายอีก 4 คนซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันในภารกิจก่อการร้าย และคาดว่าทั้งหมดหนีไปกบดานที่ฟิลิปปินส์ ขณะที่กัวลาลัมเปอร์กำลังดำเนินปฏิบัติการกวาดล้างผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกกลุ่มหัวรุนแรง
การเปิดเผยครั้งนี้มีขึ้น ในช่วงที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจกำลังวิตกกังวลกันว่า บรรดาวัยรุ่นในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามแห่งนี้จะถูกปลูกฝังค่านิยมของกลุ่มหัวรุนแรง และถูกเกณฑ์ไปสู้รบในประเทศที่กำลังเผชิญวิกฤตขัดแย้งรุนแรงอย่างซีเรีย
เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า เชื่อว่าชายทั้ง 5 คนที่ทางการกำลังตามล่าตัว กำลังกบดานอยู่ในฟิลิปปินส์ โดยในจำนวนนี้รวมถึงอาจารย์ประจำภาควิชาอิสลามศึกษา และเจ้าของร้านขายเครื่องเขียน ในมหาวิทยาลัยมาลายา ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย
เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุในคำแถลงว่า ชาย 3 คนในกลุ่มตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนพัวพันในการเกณฑ์ และส่งพวกหัวรุนแรงไปร่วมรบกับกลุ่มติดอาวุธมุสลิมสุหนี่ “รัฐอิสลามแห่งอิรักและเลแวนต์” (ISIL) ซี่งเข้ายึดครองพื้นที่บางส่วนของอิรักและซีเรีย
เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุเพิ่มเติมว่า เชื่อว่าอีก 2 คนเป็นสมาชิกกลุ่มหัวรุนแรงในภาคตะวันออกของมาเลเซีย และตอนนี้ได้หันไปเข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธอาบูไซยาฟ ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์
มหาวิทยาลัยมาลายาระบุในคำแถลงว่า มะห์มูด อะห์หมัด อาจารย์มหาวิทยาลัยวัย 36 ปีผู้นี้ได้หายตัวไป และไม่สามารถติดต่อเขาได้นาน 4 สัปดาห์แล้ว พร้อมกับให้คำมั่นว่าจะ “ให้ความร่วมมือ” กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ “อย่างเต็มที่”
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ตำรวจมาเลเซียได้จับกุมผู้ต้องสงสัยสิบคน ซึ่งอาจมีส่วนพัวพันกับภารกิจของกลุ่มหัวรุนแรงอิสลาม และมีเจตนาจะส่งนักรบไปยังประเทศที่บอบช้ำจากสงครามอย่างซีเรีย
นอกจากนี้ ตำรวจกำลังสงสัยว่า ในกลุ่มนี้มีอย่างน้อย 1 คนที่เคยเข้ารับการฝึกอาวุธ ที่ค่ายแห่งหนึ่งของกลุ่มติดอาวุธอาบูไซยาฟในฟิลิปปินส์ ที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ ทว่าเขาสามารถหลบหนีกลับมาเลเซียไปได้
ทั้งนี้ มาเลเซียเป็นประเทศมุสลิมสายกลาง และไม่เคยเผชิญเหตุโจมตีร้ายแรงของกลุ่มก่อการร้ายในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ประเทศนี้เป็นถิ่นที่อยู่ของผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกแถวหน้าของกลุ่มหัวรุนแรงอิสลามหลายคน
นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า ที่อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของมาเลเซีย และมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเช่นกัน มีพลเมืองหลายสิบคนเดินทางไปยังซีเรียและอิรักเพื่อเข้าร่วมขบวนการนักรบญิฮัด จนจุดชนวนให้เกิดความหวั่นเกรงกันว่า พวกเขาอาจกลับมาฟื้นฟูเครือข่ายกลุ่มติดอาวุธอันซับซ้อน ตลอดจนบ่อนทำลายภารกิจกวาดล้างที่กินเวลานานนับทศวรรษ