รอยเตอร์ – การลุกฮือก่อการโจมตีในซีเรียและลามสู่อิรักของกบฏสุหนี่ กลายเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลอย่างยิ่งให้แก่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย เนื่องจากหวั่นเกรงว่า ความขัดแย้งในตะวันออกกลางกำลังบ่มเพาะนักรบรุ่นใหม่ที่จะกลับมาก่อเหตุและเป็นแรงบันดาลใจสร้างนักรบรุ่นต่อไปในบ้านเกิด โดยมีสื่อสังคมเป็นตัวช่วยอย่างดี
ช่วงทศวรรษ 1990 มุสลิมจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ หลายร้อยคนร่วมฝึกฝนกับเครือข่ายอัล-กออิดะห์ ในอัฟกานิสถาน ก่อนนำทักษะและอุดมการณ์กลับบ้านและเป็นแรงบันดาลใจสำหรับการโจมตีหลายครั้ง เช่น การระเบิดไนต์คลับในบาหลีเมื่อปี 2002 ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 202 คน
ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงประเมินว่า มีชาวมาเลเซียอย่างน้อย 30 คน และชาวอินโดนีเซีย 56 คน ร่วมสู้รบในซีเรีย ขณะที่นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงเชื่อว่า ตัวเลขจริงน่าจะสูงกว่านั้น
ด้านรัฐบาลออสเตรเลียคาดว่า มีพลเมืองราว 150 คน เดินทางสู่ตะวันออกกลางเพื่อร่วมสู้รบในซีเรียและอิรัก โดยบางคนในจำนวนนี้รับบทบาทหัวหน้ากลุ่ม
วัน จูไนดี ตวนกู จาฟาร์ รัฐมนตรีช่วยมหาดไทยมาเลเซีย แสดงความกังวลว่า ประชาชนบางคนที่ติดต่อกับคนเหล่านั้นอาจถูกชักนำให้เข้าร่วมกลุ่มก่อการร้าย และนับจากเดือนเมษายน ตำรวจเสือเหลืองจับกุมผู้ต้องสงสัยก่อความรุนแรงได้อย่างน้อย 16 คน ซึ่งเชื่อว่ามีสายสัมพันธ์กับกลุ่มอิสลามแห่งอิรักและเลแวนต์ (ISIL) โดยบางคนในจำนวนนี้ได้รับการฝึกฝนในป่าทางเหนือของประเทศ สื่อท้องถิ่นของมาเลเซียยังรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ของ ISIL ว่า อาหมัด ทาร์มิมี ชาวมาเลเซีย ก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในอิรักเมื่อเดือนที่แล้ว
วันอังคาร (24) กระทรวงต่างประเทศมาเลเซียเผยว่า กำลังตรวจสอบรายงานของผู้แทนถาวรของซีเรียในสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ระบุว่า ชาวมาเลเซีย 15 คนเสียชีวิตขณะร่วมสู้รบกับ ISIL
ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน จูลี บิชอป รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียแถลงต่อสภาว่า ในช่วงหลายเดือนมานี้ได้ยกเลิกหนังสือเดินทางจำนวนมากด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย และกำลังพิจารณามาตรการขั้นต่อไป
บิชอปแจงว่า มีความเสี่ยงอย่างแท้จริงที่กลุ่มหัวรุนแรงเหล่านี้อาจเดินทางกลับประเทศหลังจากได้รับการฝึกฝนจนกลายเป็นผู้ก่อการร้ายเต็มตัว และเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของออสเตรเลีย
ซูแฟน กรุ๊ป ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงเชิงยุทธศาสตร์ ระบุว่า ซาอุดีอาระเบีย ตูนิเซีย โมร็อกโก และรัสเซีย เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ให้แก่นักรบต่างชาติที่คาดว่ามีอยู่ประมาณ 11,000 คนในซีเรีย ขณะที่มีการประเมินว่า นักรบจากออสเตรเลีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย 236 คน คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 9% ของนักรบต่างชาติจากประเทศอื่นๆ ที่ไม่รวม 4 ชาติที่กล่าวข้างต้น
อินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก เป็นศูนย์กลางนักรบอิสลามในเอเชียตะวันออกมายาวนาน โดยเป็นที่ตั้งรกรากของกลุ่มเจมาห์ อิสลามิอาห์ (JI) ที่ก่อเหตุระเบิดบาหลีเมื่อ 12 ปีที่แล้ว รวมถึงการโจมตีเป้าหมายตะวันตกอีกหลายครั้ง
ในรายงานที่ออกมาเมื่อเดือนมกราคม อินสติติวท์ ฟอร์ โพลิซี อนาลิซิส ออฟ คอนฟลิกต์ (IPAC) ระบุว่า วิกฤตซีเรียเป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มหัวรุนแรงในอินโดนีเซียในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่วนหนึ่งเนื่องจากการสอน “การต่อสู้ครั้งสุดท้าย” ที่นำผู้ฝึกเข้าสู่ประสบการณ์จริงในซีเรีย
“เราจะเห็นได้ว่า ISIL เข้มแข็ง เติบโต และแผ่ขยายอิทธิพลเข้าสู่เมืองต่างๆ ในอิรัก ทั้งโมซุล ติกริต มาจนถึงรามาดี และอีกไม่นานแม้แต่แบกแดดก็อาจแตกได้” เอ็ม แฟ็กรี บรรณาธิการบริหาร al-mustaqbal.net เว็บไซต์กลุ่มหัวรุนแรงในอินโดนีเซีย ระบุ
หลายเดือนมานี้ อาบู บาการ์ บาชีร์ บิดาทางจิตวิญญาณของ JI และอามาน อับดุลเราะห์มาน นักวิชาการหัวรุนแรงทรงอิทธิพล เรียกร้องให้สาวกสนับสนุน ISIL การรณรงค์หลายครั้งดึงดูดผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ทั้งนี้ การสนับสนุนและรับสมัครบุคคลเข้าร่วมกลุ่มนักรบในต่างประเทศถือเป็นกิจกรรมถูกกฎหมายในอินโดนีเซีย
ประเด็นที่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงกำลังกังวลอยู่ในขณะนี้คือ นักรบในซีเรียและอิรักอาจชุบชีวิตขบวนการหัวรุนแรงในอินโดนีเซีย หลังจากนักรบกลุ่มต่างๆ แตกสานซ่านเซ็นและอ่อนแอลงจากการปราบปรามของกองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ข้อแตกต่างที่ชัดเจนจากทศวรรษ 1990 คือ ขณะนี้สื่อสังคมเข้ามามีบทบาทอย่างมาก นักรบหลายกลุ่มใช้เฟซบุ๊ก ยูทิวบ์ และทวิตเตอร์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและสรรเสริญ “ผู้พลีชีพ” กันอย่างกว้างขวาง
นักวิเคราะห์ชี้ว่า ตำรวจอินโดนีเซียและมาเลเซียมีปัญหาในการติดตามกิจกรรมการก่อการร้ายและดำเนินคดี เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทั้งสองประเทศ
รัฐบาลอิเหนาและแดนเสือเหลืองนั้นถูกกล่าวหาว่า ส่งเสริมลัทธิความรุนแรงของชาวมุสลิมเพื่อประโยชน์ทางการเมือง อาทิ วันจันทร์ที่ผ่านมา (23) มีรายงานว่า นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค บอกกับสมาชิกพรรครัฐบาลว่า ควรเอาอย่างความกล้าหาญของ ISIL
นอกจากนั้น ทางการเสือเหลืองยังยกเลิกกฎหมายความมั่นคงภายในที่อนุญาตให้คุมขังผู้ต้องสงสัยไม่มีกำหนดตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว
ขณะที่หน่วยงานความมั่นคงของอินโดนีเซียไม่มีอำนาจควบคุมสังคมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนในสมัยอดีตประธานาธิบดี ซูฮาร์โต อีกต่อไป