xs
xsm
sm
md
lg

โพลเผย! กลุ่มชาติมุสลิมกลัว “พวกคลั่งศาสนาสุดโต่ง” มากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ความหวาดวิตกเกี่ยวกับ “ค่านิยมอิสลามสุดโต่ง” กำลังเพิ่มสูงขึ้นในบรรดาชาติที่มีประชากรมุสลิมอยู่เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ตะวันออกกลางเรื่อยไปจนถึงเอเชียใต้ และแรงสนับสนุนต่อพวกกลุ่มหัวรุนแรงกำลังอยู่ช่วงขาลง ผลสำรวจที่เผยแพร่วานนี้ (1 ก.ค.) ระบุ

สถาบันวิจัยพิวซึ่งได้สอบถามประชาชนมากกว่า 14,200 คน ใน 14 ประเทศ พบว่าความกังวลเกี่ยวกับคตินิยมสุดโต่งได้เพิ่มสูงขึ้นในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางสงครามที่ยืดเยื้อในซีเรีย และบรรดาเหตุโจมตีโดยกลุ่มติดอาวุธโบโกฮารามของไนจีเรีย

กลุ่มหัวรุนแรง เช่น อัลกออิดะห์, ฮิซบอลเลาะห์, โบโกฮารัม และแม้กระทั่งฮามาส ซึ่งเคยชนะการเลือกตั้งและได้สิทธิควบคุมฉนวนกาซา ต่างกำลังสูญเสียการสนับสนุน

นอกจากนี้ การสนับสนุนให้ใช้ระเบิดฆ่าตัวตายโจมตีเป้าหมายพลเรือนก็ได้ลดน้อยลงอย่างมากในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา หลังจากที่เกิดการสังหารหมู่อย่างโหดเหี้ยมบ่อยครั้งขึ้น

การสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้จัดทำระหว่างวันที่วันที่ 10 เมษายน - 25 พฤษภาคม ก่อนที่กลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและเลแวนต์ (ISIL) ที่เปลี่ยนชื่อเป็นรัฐอิสลาม (IS) จะเข้ายึดครองเมืองโมซุลทางตอนเหนือของอิรักด้วยการบุกจู่โจมแบบสายฟ้าแลบ และยังสามารถยึดพื้นที่โดยรอบได้อย่างกว้างขวาง

ในเลบานอนซึ่งมีแนวพรมแดนร่วมกับซีเรีย ผู้ถูกสัมภาษณ์มากถึงร้อยละ 92 กล่าวว่า พวกเขาเป็นกังวลเกี่ยวกับค่านิยมอิสลามสุดโต่ง

ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 11 จุดจากเมื่อปี 2013 และแพร่หลายอย่างเท่าๆ กันในหมู่ชุมชนชาวสุหนี่, ชีอะห์ และคริสต์ของเลบานอน

กระแสความกลัดกลุ้มนี้ยังเพิ่มขึ้นในจอร์แดนและตุรกี สองประเทศที่มีชายแดนติดกับซีเรีย และได้เปิดรับผู้อพยพจำนวนมากที่ลี้ภัยจากสงครามขับไล่ประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 3 ปี ในขณะที่กลุ่มหัวรุนแรงก็หลั่งไหลเข้าร่วมการต่อสู้ในซีเรียเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ชาวจอร์แดนร้อยละ 62 แสดงความเป็นกังวลเกี่ยวกับค่านิยมอิสลามสุดโต่ง เพิ่มจากปี 2012 ขึ้นมา 13 จุด ขณะที่ครึ่งหนึ่งของผู้ออกความเห็นในตุรกีก็แสดงความห่วงในเรื่องเดียวกัน โดยเพิ่มขึ้น 18 จุดจากเมื่อ 2 ปีที่แล้ว
กลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและเลแวนต์ (ISIL) กลุ่มนี้ยังเป็นที่รู้จักกันในนาม “รัฐอิสลามแห่งอิรักและอัล-ชาม” ใช้อักษรย่อว่า ISIS ด้วย)
“ในเอเชียคนส่วนใหญ่ในบังกลาเทศ (ร้อยละ 69), ปากีสถาน (ร้อยละ 66) และ มาเลเซีย (ร้อยละ 63) เป็นกังวลเกี่ยวกับค่านิยมอิสลามสุดโต่ง” รายงานของพิวระบุ

อย่างไรก็ตาม ในอินโดนีเซียประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก ความกลัวดังกล่าวไม่ได้มีมากเท่าไหร่นัก โดยมีเพียง 4 ใน 10 คนเท่านั้นที่ยอมรับว่าวิตกอยู่บ้างเกี่ยวกับค่านิยมสุดโต่ง

ชาวไนจีเรียส่วนใหญ่มากถึงร้อยละ 79 กำลังต่อต้านกลุ่มโบโกฮารัม ภายหลังเหตุลักพาตัวเด็กนักเรียนหญิงมากกว่า 200 คน เมื่อช่วงต้นปี ขณะที่ร้อยละ 59 ของชาวปากีสถาน กล่าวว่า พวกเขาไม่ได้ชื่อชอบกองกำลังตอลิบานเลยแม้แต่น้อย

ชาวปาเลสไตน์เกินกว่าครึ่งเพียงเล็กน้อย (ร้อยละ 53) ไม่พอใจความคิดของกลุ่มฮามาส ซึ่งถูกอิสราเอลกล่าวโทษในสัปดาห์นี้ว่าเป็นผู้สังหารวัยรุ่น 3 คน และตัวเลขดังกล่าวสูงขึ้นถึงร้อยละ 63 ในเขตฉนวนกาซา ซึ่งสูงยิ่งกว่าตัวเลขในเขตเวสต์แบงก์ ที่อยู่ในความควบคุมของ ฟาตาห์ พรรคการเมืองคู่ขัดแย้ง

ทั้งนี้ มีชาวปาเลสไตน์เพียงร้อยละ 46 เท่านั้นที่เชื่อว่าการระเบิดฆ่าตัวตายโจมตีพลเรือนเป็นเรื่องที่ชอบธรรม โดยลดลงจากร้อยละ 70 ในปี 2007 ขณะที่ตัวเลขดังกล่าวในหมู่ชาวมุสลิมในเลบานอนได้ร่วงลงมาจากร้อยละ 74 ในปี 2007 เหลือแค่ร้อยละ 29 ในปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น