เอเอฟพี - ประธานาธิบดี พัค กึน-ฮเย แห่งเกาหลีใต้ต้องเผชิญปัญหาหนักอกอีกระลอก เมื่อบุคคลที่เธอเสนอชื่อเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ประกาศถอนตัวเป็นรายที่ 2 วันนี้ (24 มิ.ย.)
มุน ชาง-กึ๊ก อดีตนักหนังสือพิมพ์ 65 ปีที่ผันตัวเข้าสู่ถนนการเมือง แถลงต่อสื่อมวลชนว่า “ผมอยากช่วยประธานาธิบดี พัค กึน-ฮเย แต่คิดว่าการลาออกของผมน่าจะเป็นผลดีต่อเธอมากที่สุดในเวลานี้”
“ดังนั้น ผมจึงขอถอนตัวจากการถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป”
การที่ พัค เสนอชื่อ มุน เป็นนายกฯ แดนโสมขาว สร้างความประหลาดใจไม่น้อยมาตั้งแต่ต้น และกลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างหนักในแวดวงการเมือง เนื่องจาก มุน เคยแสดงความคิดเห็นที่สวนกระแสเกี่ยวกับการยึดครองคาบสมุทรเกาหลีของจักรวรรดิญี่ปุ่น ระหว่างปี 1910-1945
ผู้นำหญิงโสมขาวเจอเหตุขัดข้องต่างๆ นานาในการแต่งตั้งนักการเมืองระดับสูงมาแล้วหลายคน และการถอนตัวของ มุน ก็เป็นมรสุมอีกหนึ่งลูกใหญ่ในยามที่คะแนนนิยมของ พัค ตกต่ำถึงขีดสุดจากผลกระทบของโศกนาฏกรรมเรือเฟอร์รีเซวอล เมื่อเดือนเมษายน
เก้าอี้นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ว่างลง หลังจากที่ ชุง ฮอง-วอน ประกาศสละตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่ออุบัติเหตุเรือเซวอล ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปถึง 300 คน และส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนมัธยม
ชาวเกาหลีใต้มองว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐตอบสนองเหตุการณ์ได้ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
มุน ชาง-กึ๊ก เป็นตัวเลือกที่ 2 ที่ประธานาธิบดี พัค กึน-ฮเย สรรหามารับตำแหน่งนายกฯ หลังจากที่ อัน ได-ฮี อดีตผู้พิพากษาศาลสูงสุด ถูกบีบให้ถอนตัวไปเมื่อเดือนก่อน เนื่องจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับทรัพย์สินของ อัน ที่เพิ่มขึ้นมากมายจากการทำธุรกิจเอกชน หลังจากที่พ้นตำแหน่งผู้พิพากษาแล้ว
แม้นายกรัฐมนตรีจะเป็นเพียงตำแหน่งเชิงสัญลักษณ์ในเกาหลีใต้ เนื่องจากอำนาจบริหารที่แท้จริงตกอยู่กับทำเนียบประธานาธิบดี แต่ถึงกระนั้นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนี้ก็ได้จะต้องผ่านการรับรองจากรัฐสภาเสียก่อน ซึ่ง มุน ก็มีแนวโน้มที่จะเผชิญแรงต้านพอสมควรหากยังเดินหน้าต่อไป
ประเด็นที่ทำให้ มุน ถูกวิจารณ์มากที่สุดว่าไม่เหมาะสมกับเก้าอี้นายกฯ ก็คือ ความคิดเห็นส่วนบุคคลของเขาเกี่ยวกับยุคที่ญี่ปุ่นปกครองคาบสมุทรเกาหลี
เมื่อปี 2011 มุน เคยไปบรรยายที่โบสถ์แห่งหนึ่งว่า สภาพกดขี่ข่มเหงที่ชาวเกาหลีได้รับในยุคนั้นเป็น “เจตนารมณ์ของพระเจ้า” และอีก 6 ปีต่อมา เขาก็ได้เขียนบทบรรณาธิการชิ้นหนึ่งที่ระบุว่า เงื่อนไขของข้อตกลงฟื้นฟูความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นในปี 1965 ระบุชัดเจนว่าสตรีชาวเกาหลีที่ถูกบังคับให้เป็นทาสบำเรอกามในซ่องทหารญี่ปุ่น ไม่มีสิทธิ์เรียกร้องค่าชดเชยเพิ่มเติมอีก
แม้ มุน จะพยายามแก้ตัวว่าคำพูดของเขาถูกเอาไปตีความโดยไม่คำนึงถึงบริบท แต่ก็สร้างความไม่พอใจต่อคนส่วนมาก แม้แต่สมาชิกบางคนในพรรคแซนูรีของ พัค ก็ไม่เห็นด้วยที่จะมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแก่ชายผู้นี้