เอเอฟพี – ศาลสูงสุดอินเดียพิพากษาคงการบังคับใช้กฎหมายยุคอาณานิคม ซึ่งระบุให้พฤติกรรมรักร่วมเพศเป็น “ความผิดอาญา” ที่มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี วันนี้ (11)
คณะผู้พิพากษาศาลสูงสุดประกาศล้มคำตัดสินของศาลสูงเดลีเมื่อปี 2009 ซึ่งระบุว่า มาตรา 377 ของประมวลกฎหมายอาญาที่ “ห้ามการร่วมประเวณีอย่างผิดธรรมชาติ” นั้น เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองอินเดีย
คำตัดสินของศาลสูงเดลีเมื่อ 4 ปีก่อนสร้างความปลาบปลื้มและฮึกเหิมต่อชุมชนชาวสีม่วง ซึ่งได้ออกมารณรงค์ให้สังคมภารตะหยุดกีดกันคนรักร่วมเพศ
อย่างไรก็ดี คณะผู้พิพากษา 2 คนของศาลสูงสุด ซึ่งนำโดย จี.เอส.สิงห์วี พิจารณาเห็นว่า ศาลสูงเดลีตัดสินเกินอำนาจหน้าที่ ดังนั้นกฎหมายแบนรักร่วมเพศจึงยังมีผลบังคับใช้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ
“การเปลี่ยนแปลงกฎหมายเป็นหน้าที่ของรัฐสภา” สิงห์วี ระบุในคำพิพากษา ซึ่งดับความหวังของบรรดานักเคลื่อนไหวที่ต่อสู้เรื่องนี้มาโดยตลอด บางคนที่มารอฟังคำตัดสินหน้าศาลถึงกับหลั่งน้ำตา
คำตัดสินเมื่อปี 2009 ถูกองค์กรศาสนาต่างๆ ต่อต้านอย่างหนัก โดยเฉพาะผู้นำชาวมุสลิมและชาวคริสต์ในอินเดียที่ได้ร่วมกันยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสูงสุด
องค์การนิรโทษกรรมสากลตำหนิศาลสูงสุดอินเดียว่า “ทำลายความเท่าเทียม, สิทธิส่วนบุคคล และศักดิ์ศรีของพลเมือง” ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้กลุ่มสิทธิเกย์ทั้งหลายจะออกมาคัดค้านคำตัดสินอย่างแน่นอน
ที.แทนดอน ทนายมูลนิธิแนซ (Naz Foundation) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรเพื่อผู้ป่วยโรคเอดส์ กล่าวที่หน้าศาลสูงสุดว่า “เราจะหาช่องทางต่อสู้ต่อไป... ขบวนการเพื่อสิทธิคนรักร่วมเพศเข้มแข็งกว่าแต่ก่อนมาก นี่ไม่ใช่ปี 2001 ปีนี้ปี 2013 แล้ว คุณจะมาตัดสินแบบนี้ไม่ได้”
ขณะที่หลายฝ่ายคาดว่าจะมีการชุมนุมประท้วงคำตัดสินของศาลตามเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงนิวเดลี และนครมุมไบ แต่ผู้นำองค์กรศาสนากลับชื่นชมที่ศาลลงความเห็นเช่นนี้
“เราก็ทราบกันดีว่า การรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ... และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เชื้อเอดส์แพร่ระบาดไปทั่ว” อับดุลรอฮิม กุรอยชี เลขาธิการคณะกรรมการ All India Muslim Personal Law Board ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี
โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) เคยแย้งประเด็นนี้เมื่อปี 2008 ว่า หากรัฐบาลอินเดียยกเลิกกฎหมายเอาผิดคนรักร่วมเพศ จะช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีซึ่งกระทบต่อวิถีชีวิตพลเมืองราว 2.5 ล้านคนในปัจจุบัน
การมีเซ็กซ์กับคนเพศเดียวกันถือเป็นเรื่องต้องห้ามในอินเดีย ซึ่งยังมีลักษณะของสังคมอนุรักษนิยม คนส่วนใหญ่ยังรังเกียจการรักร่วมเพศ และมองว่าเกย์คือพวกที่ป่วยทางจิต