xs
xsm
sm
md
lg

ปธน.เกาหลีใต้ตัดสินใจ “ไม่รับหนังสือลาออก” ของนายกรัฐมนตรี หลังหาบุคคลแทนไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี พัค กึน-ฮเย แห่งเกาหลีใต้
เอเอฟพี – ประธานาธิบดี พัค กึน-ฮเย แห่งเกาหลีใต้ ตัดสินใจปฏิเสธการยื่นหนังสือลาออกของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันในวันนี้(26) หลังความพยายามในการสรรหาบุคคลมารับตำแหน่งแทนล้มเหลวไปถึง 2 ครั้ง

นายกรัฐมนตรี ชุง ฮอง-วอน ยื่นหนังสือลาออกหลังเหตุการณ์เรือเฟอร์รี “เซวอล” อับปางกลางทะเลผ่านพ้นไปได้เพียง 10 วัน เพื่อแสดงความรับผิดชอบและบรรเทากระแสวิพากษ์วิจารณ์การตอบสนองภัยพิบัติที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้โดยสารบนเรือเสียชีวิตไปถึง 300 คนในโศกนาฏกรรมทางทะเลที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้

พัค ยอมรับการลาออกของ ชุง และขอร้องให้เขาปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะหาบุคคลที่เหมาะสมมารับตำแหน่งแทนได้ แต่ปรากฏว่าการสรรหาบุคคลใหม่กล่าวกลับเผชิญปัญหายุ่งยาก และนอมินีที่ได้รับการเสนอชื่อ 2 คนต่างประกาศ “ถอนตัว” สร้างความอับอายให้แก่ประธานาธิบดีหญิงมากขึ้นไปอีก

บุคคลแรกที่ได้รับการเสนอชื่อคืออดีตผู้พิพากษาศาลสูงสุด อัน ได-ฮี ซึ่งต่อมาถูกบีบให้สละสิทธิ์จากเสียงวิจารณ์เรื่องทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจากการทำธุรกิจเอกชนหลังพ้นตำแหน่งผู้พิพากษา ส่วนรายที่สองคือ มุน ชาง-กึ๊ก อดีตนักหนังสือพิมพ์อาวุโส ซึ่งประกาศถอนตัวไปแล้วเมื่อวันอังคาร(24) เพราะถูกสังคมวิจารณ์เรื่องที่เขาเคยแสดงความคิดเห็นในทำนองว่า ที่ชาวเกาหลีต้องตกเป็นเหยื่อความป่าเถื่อนของกองทัพญี่ปุ่นในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็น “เจตนารมณ์ของพระเจ้า”

การปฏิเสธตำแหน่งของบุคคลทั้งสองกลายเป็นมรสุมการเมืองลูกใหญ่สำหรับ พัค กึน-ฮเย ซึ่งคะแนนนิยมตกต่ำลงที่สุดในรอบ 16 เดือนจากผลกระทบของเหตุเรือเซวอลอับปาง และเพราะเกรงจะต้องเผชิญปัญหาซ้ำซากอีก ประธานาธิบดีหญิงแห่งเกาหลีใต้จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากปฏิเสธการลาออกของนายกรัฐมนตรี ชุง

ยุน ดู-ฮยุน โฆษกทำเนียบประธานาธิบดี แถลงว่า การที่ พัค ตัดสินใจเช่นนี้ก็เพื่อแก้ไขภาวะชะงักงันในระบบบริหารบ้านเมืองที่เกิดขึ้นจากการปราศจากนายกรัฐมนตรี

“เราพบอุปสรรคหลายอย่างในกระบวนการตรวจสอบประวัติ (ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี) ซึ่งทำให้เกิดสุญญากาศในการบริหาร และนำมาซึ่งข้อถกเถียงในสังคมอย่างมาก” ยุน ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน

“ปัญหาเช่นนี้จะปล่อยให้คั่งค้างนานวันคงไม่ได้ ดังนั้น ประธานาธิบดีจึงจำเป็นต้องตัดสินใจอย่างยากลำบากที่จะปฏิเสธคำขอลาออกของนายกรัฐมนตรี ชุง”

แม้นายกรัฐมนตรีจะเป็นเพียงตำแหน่งเชิงสัญลักษณ์ในเกาหลีใต้ เนื่องจากอำนาจบริหารที่แท้จริงตกอยู่กับทำเนียบประธานาธิบดี แต่ก็เป็นเพียงตำแหน่งเดียวในคณะรัฐมนตรีที่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียก่อน ดังนั้นจึงเปิดช่องให้พรรคฝ่ายค้านสามารถขัดขวางการแต่งตั้งบุคคลได้
นายกรัฐมนตรี ชุง ฮอง-วอน แห่งเกาหลีใต้
มุน ชาง กึ๊ก อดีตนักหนังสือพิมพ์ (ซ้าย) และ อัน ได ฮี อดีตผู้พิพากษาศาลสูงสุด (ขวา) สองบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ แต่สุดท้ายก็สละสิทธิ์กันทั้งคู่
กำลังโหลดความคิดเห็น