xs
xsm
sm
md
lg

“ออสเตรเลีย” เสนอจ่ายเงิน $10,000 ให้ “ผู้ลี้ภัย” ที่สมัครใจกลับบ้านเกิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี – รัฐบาลนายกรัฐมนตรี โทนี แอบบ็อตต์ แห่งออสเตรเลียเสนอมอบเงินยังชีพสูงสุด 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 320,000 บาท) แก่ผู้ลี้ภัยในค่ายอพยพแปซิฟิกที่สมัครใจกลับบ้านเกิด ขณะที่นักเคลื่อนไหวเพื่อผู้อพยพต่างตำหนิรัฐบาลจิงโจ้ที่ “ใช้เงินฟาดหัว” โดยไม่ใส่ใจว่าผู้ลี้ภัยเหล่านั้นจะกลับไปมีชะตากรรมเช่นใด

สำนักข่าวแฟร์แฟกซ์รายงานวันนี้(21)ว่า ผู้อพยพชาวเลบานอนที่พำนักอยู่ในศูนย์ผู้ลี้ภัยบนเกาะมานุสในปาปัวนิวกินีและนาอูรู จะได้รับเงินสดสูงสุดถึง 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หากยอมเดินทางกลับประเทศ

ด้านหนังสือพิมพ์ ซิดนีย์ มอร์นิง เฮรัลด์ รายงานเช่นกันว่า ผู้อพยพชาวอิหร่านและซูดานจะได้เงินรางวัลคนละ 7,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หากยอมถอนคำร้องขอลี้ภัย ส่วนผู้อพยพสัญชาติอื่นๆ จะได้เงินรางวัลลดหลั่นลงมา เช่น 4,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับชาวอัฟกานิสถานและปากีสถาน และ 3,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับชาวเนปาลและเมียนมาร์ เป็นต้น

ซิดนีย์ มอร์นิง เฮรัลด์ ชี้ว่า สมัยที่พรรคแรงงานเป็นรัฐบาลมีการจ่ายเงินให้ผู้ลี้ภัยต่ำกว่านี้มาก โดยอยู่ที่ระหว่าง 1,500-2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น

สก็อตต์ มอร์ริสัน รัฐมนตรีกระทรวงคนเข้าเมืองออสเตรเลีย ยังไม่ยืนยันตัวเลขดังกล่าว แต่โฆษกกระทรวงระบุว่า “แพ็กเกจเดินทางกลับ” จะคิดคำนวณ “ตามเงื่อนไขรายบุคคล”

“กระบวนการส่งตัวผู้อพยพกลับถิ่นฐานเดิมโดยสมัครใจเป็นความร่วมมือโดยตรงกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) และเป็นนโยบายมาตรฐานที่ทำมานานกว่า 10 ปีแล้ว”

ริชาร์ด มาร์เลส โฆษกพรรคแรงงานฝ่ายกิจการผู้อพยพ ย้ำเตือนให้รัฐบาลดูแลการเบิกจ่ายเงินแก่ผู้ลี้ภัยให้ถูกต้องครบถ้วน และอย่าจ่าย “เช็คเปล่า” ให้พวกเขา

“ตอนที่ สก็อตต์ มอร์ริสัน เป็นฝ่ายค้าน เขาตำหนิรัฐบาลพรรคแรงงานที่จ่ายเงินส่งผู้ลี้ภัยกลับบ้านเกิด แต่พอเขามาเป็นรัฐมนตรี กลับจ่ายเงินมากกว่าเราถึง 3 เท่า” มาร์เลส กล่าวเหน็บแนมผ่านสำนักข่าวเอบีซี

ออสเตรเลียมีนโยบายกีดกันผู้ลี้ภัยเข้มงวดยิ่งขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ผู้อพยพที่ล่องเรือเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายจะไม่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่บนแผ่นดินออสเตรเลีย แม้จะมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยถูกต้องก็ตาม

คนเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังค่ายกักกันผู้อพยพบนเกาะมานุสและนาอูรู และหากตรวจสอบพบว่ามีสถานะเข้าข่ายผู้ลี้ภัยก็จะทำได้เพียงตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนห่างไกลเหล่านั้น

ตั้งแต่แคนเบอร์ราหันมาใช้นโยบายนี้ ผู้อพยพที่สมัครใจรับเงินและเดินทางกลับบ้านก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีเรือผู้อพยพใหม่ๆ เดินทางเข้าน่านน้ำออสเตรเลียมาเป็นเวลา 6 เดือนแล้ว

นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้ลี้ภัยต่างประณามโครงการ “ใช้เงินฟาดหัว” เช่นนี้ และเตือนว่าผู้อพยพเหล่านั้นอาจตกเป็นเหยื่อการกวาดล้างเมื่อกลับไปประเทศเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น