xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มประเทศแปซิฟิกจ่อขึ้น "ค่าธรรมเนียม" ประมงทูนา อ้างเพื่อความยั่งยืนทางทรัพยากร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - กลุ่มประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกประกาศแผนวันนี้(12) ว่าจะขึ้นค่าธรรมเนียมจากการทำประมงทูนาในน่านน้ำของพวกเขาที่เรียกเก็บจากบรรดาเรือประมง โดยระบุว่าแผนนี้จะเพิ่มพูนรายได้ของรัฐ และส่งเสริมความพยายามด้านการอนุรักษ์ทรัพยากร

ปลาทูนาพันธุ์ท้องแถบซึ่งนิยมนำมาแปรรูปบรรจุกระป๋องมากที่สุด ราวครึ่งหนึ่งของโลกถูกจับในน่านน้ำของกลุ่ม 8 ชาติ ที่รู้จักกันในชื่อ ภาคีความตกลงนาอูรู (พีเอ็นเอ) ซึ่งได้เปิดการประชุมประจำปีที่กรุงมาจูโรในวันนี้(12)

การจับปลาทูนาส่วนใหญ่ในพื้นที่นี้กระทำโดยกองเรือประมง “น่านน้ำไกล” (distant water fleet) จากประเทศต่างๆ ประกอบด้วย ยุโรป สหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ซึ่งจ่ายค่าธรรมเนียมในการทำประมงทูนาเป็นเงิน 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อวัน (ประมาณ 195,000 บาท)

คริสโตเฟอร์ โลเอก ประธานาธิบดีหมู่เกาะมาร์แชล กล่าวว่า แผนการจากกลุ่มชาติสมาชิกพีเอ็นเอที่จะเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมต่อวันเป็น 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 324,000 บาท) ในปี 2015 นี้ จะช่วยปรับปรุงการจัดการทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญ และรับประกันความยั่งยืนของการทำประมงทูนา

โลเอกชี้ว่า ระบบค่าธรรมเนียมนี้ช่วยให้กลุ่มประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเขตประมงทูนาของพวกเขา จาก 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2010 เป็นมากกว่า 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปีที่แล้ว

“พีเอ็นเอได้แสดงให้เห็นว่าทรัพยากรทูน่านั้นมีคุณค่าเพียงใด” โลเอก กล่าววันนี้(12)

“การยกระดับความร่วมมือให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นไม่เคยสำคัญมากเท่าครั้งนี้ ถ้าเรายังอยากที่จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากทรัพยากรทูนาของเราต่อไปอยู่”

พีเอ็นเอได้กำหนดโควตาสำหรับเรือประมงทูนาไว้ 50,000 วันต่อปี ซึ่งเรือประมงแต่ละลำจะกำหนดวันทำประมงสลับกันไป แต่เมื่อนับรวมกันแล้วต้องไม่เกินตามโควตา ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับอุปสงค์ที่สูงขึ้นจากทั้งนานาชาติและผู้ประกอบการท้องถิ่น

กลุ่ม พีเอ็นเอ ประกอบด้วยประเทศปาปัวนิวกินี หมู่เกาะโซโลมอน ปาเลา สหพันธรัฐไมโครนีเซีย คิริบาส ตูวาลู และหมู่เกาะมาร์แชล
กำลังโหลดความคิดเห็น