เอเอฟพี - ผลสำรวจโดยสถาบันวิจัยในสหรัฐฯ ชี้ชนชั้นนำผู้มีอิทธิพลด้านนโยบายในเอเชียส่วนใหญ่สนับสนุนให้อเมริกาแสดงบทบาทผู้นำอย่างชัดเจนในภูมิภาคนี้ แม้เชื่อว่า “จีน” จะผงาดเป็นมหาอำนาจที่ทรงอิทธิพลที่สุดในอีกไม่ช้าก็ตาม ยกเว้นผู้เชี่ยวชาญใน “ไทย” ที่มีมุมมองตรงกันข้าม
ผลโพลชิ้นนี้สรุปจากความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ถูกมองว่ามีอิทธิพลสูงใน 11 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนยุทธศาสตร์ “ปักหมุดเอเชีย” ของประธานาธิบดีบารัค โอบามา เว้นแต่เพียงผู้เชี่ยวชาญของจีน
ผลวิจัยซึ่งจัดทำโดยศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (CSIS) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ยังพบด้วยว่าชนชั้นนำเหล่านี้คาดหมายว่าจีนจะแผ่อิทธิพลกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อถามว่าอะไรจะดีที่สุดสำหรับพวกเขา ผู้เชี่ยวชาญทั้งในสหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และไต้หวัน เลือกที่จะให้สหรัฐฯ แสดงบทบาทผู้นำต่อไป แม้อิทธิพลของวอชิงตันจะลดน้อยถอยลงบ้างก็ตาม
ชนชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดียสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ และมีเพียงส่วนน้อย แม้แต่ในจีนเองก็ตาม ที่เห็นว่าประเทศของตนจะได้ประโยชน์สูงสุดหากมีจีนเป็นผู้นำ
ญี่ปุ่นซึ่งมีข้อบาดหมางกับจีนหนุนหลังสหรัฐฯมากเป็นพิเศษ โดยมีผู้เชี่ยวชาญแดนปลาดิบเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่เห็นว่าจีน “มีบทบาทเชิงบวก” ในภูมิภาคนี้ ส่วนอีกร้อยละ 83 เชื่อว่าวอชิงตันจะยังเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่นต่อไปอีกอย่างน้อย 10 ปี แม้เวลานี้จีนจะได้ชื่อว่าเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นแล้วก็ตาม
บอนนี เกลเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนของ CSIS ชี้ว่า ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ยังต้องการให้สหรัฐฯ มีบทบาทอย่าง “เงียบๆ และต่อเนื่อง” และพอใจที่วอชิงตันแสดงเจตนารมณ์ปกป้องเสรีภาพด้านการเดินเรือ ท่ามกลางปัญหาทะเลจีนใต้ที่ทวีความตึงเครียดขึ้นทุกขณะ
“อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ต้องการเห็นการเผชิญหน้าหรือความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน” เกลเซอร์ ระบุในผลวิจัย
ที่น่าประหลาดใจก็คือ ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญในจีนซึ่งร้อยละ 71 ทำนายว่า อิทธิพลของสหรัฐฯ ในเอเชียตะวันออกจะโดดเด่นเป็นพิเศษในปี 2024 ซึ่งแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐฯ เองก็ยังไม่ชี้ชัดมากขนาดนี้
คริสโตเฟอร์ จอห์นสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนของ CSIS และอดีตนักวิเคราะห์ประจำสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ชี้ว่า ผลสำรวจที่ออกมาสะท้อนมุมมองที่เปลี่ยนแปลงจากเมื่อช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 ซึ่งขณะนั้นชาวจีนส่วนใหญ่เชื่อว่า อิทธิพลของสหรัฐฯ จะอ่อนแอลง และยังไม่มั่นใจด้วยว่าเศรษฐกิจของจีนเองจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนหรือไม่
อย่างไรก็ดี ผลสำรวจในไทยซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐฯ กลับพบว่า ผู้เชี่ยวชาญชาวไทยมากถึงร้อยละ 89 มองว่า จีนจะกลายเป็นชาติทรงอิทธิพลอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกในอีก 10 ปีข้างหน้า และมีเพียงร้อยละ 10 ที่เชื่อว่า ภาวะผู้นำของสหรัฐฯ จะทำให้ไทยได้ประโยชน์สูงสุด
เออร์นี โบเวอร์ ประธานฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของ CSIS อธิบายว่า ทัศนคติเชิงลบเช่นนี้สะท้อนถึงความผิดหวังที่ไทยมีต่อสหรัฐฯในช่วงที่เกิดวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ในเอเชียเมื่อปี 1997 ตลอดจนการที่วอชิงตันคว่ำบาตรไทยหลังเกิดรัฐประหารโค่นระบอบทักษิณ เมื่อปี 2006
ผลสำรวจนี้ถูกจัดทำขึ้นระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมา ก่อนที่กองทัพไทยจะประกาศยึดอำนาจการปกครองซึ่งทำให้สหรัฐฯ ต้องออกมาประณามไทยอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง