เอพี/เอเจนซีส์ – สหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์ บรรลุกรอบข้อตกลงเพื่อเปิดทางให้กองทหารอเมริกันประจำการอยู่ในแดนตากาล็อกได้มากขึ้น ในช่วงเวลาที่มะนิลากำลังเผชิญหน้าอย่างตึงเครียดกับปักกิ่ง ขณะเดียวกัน โอบามาแถลงข่าวร่วมกับนายกฯนาจิบ ของมาเลเซีย ยืนยันวอชิงตันจะยังคงให้การสนับสนุนการค้นหาเครื่องบินโดยสารเที่ยวบิน MH370 ต่อไป พร้อมกันนี้ทั้งสองประเทศยังตกลงยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็น “หุ้นส่วนที่ครอบคลุมรอบด้าน”
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์ 2 คนเปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ (27 เม.ย.) ว่า ข้อตกลงเพิ่มพูนความร่วมมือด้านกลาโหมฉบับนี้ซึ่งจะอนุญาตให้กองทหารอเมริกันเข้าใช้ฐานทัพและสิ่งปลูกสร้างทางทหารบางแห่ง รวมถึงส่งเครื่องบินขับไล่และเรือเข้าประจำการแบบผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนในแดนตากาล็อกได้เพิ่มมากขึ้น ภายในกรอบระยะเวลา 10 ปี จะได้รับการลงนามที่กระทรวงกลาโหมของฟิลิปปินส์ในวันจันทร์ (28) ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา จะเดินทางถึงมะนิลาเพื่อเริ่มต้นการเยือนเป็นเวลา 2 วัน
ในเวลาต่อมา สำนักข่าวเอเอฟพีก็รายงานข่าวโดยอ้าง อีแวน เมเดอิรอส ผู้อำนวยการอาวุโสด้านกิจการเอเชียของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่าข้อตกลงนี้เป็น กรอบโครง “ที่เป็นทั้งโครงกระดูกและกล้ามเนื้อ” ซึ่งจะเปิดทางให้ทั้งสองประเทศปรึกษาหารือกันในเรื่องการปรากฏตัวทางทหารของสหรัฐฯในฟิลิปปินส์เพิ่มมากขึ้น ทั้งในด้านกำลังทหารที่จะหมุนเวียนเข้ามา, การเยือนของเรือรบ, และการฝึกซ้อมต่างๆ
เขาระบุว่า ข้อตกลงนี้เป็น “ข้อตกลงสำคัญที่สุดที่เราสามารถทำกับฟิลิปปินส์ได้ในระยะเวลาหลายสิบปีมานี้” รวมทั้งถือเป็นอีกส่วนหนึ่งใน แผนการยุทธศาสตร์ “ปักหมุดเอเชีย” ของโอบามา
เอพีบอกว่า จากเอกสารข้อมูลพื้นฐานของรัฐบาลฟิลิปปินส์ ระบุว่า จำนวนทหารที่อเมริกาจะส่งไปหมุนเวียนเพิ่มขึ้นนั้น จะขึ้นอยู่กับขนาดกิจกรรมร่วมทางทหารที่จัดขึ้นในฐานทางทหารของฟิลิปปินส์
สหรัฐฯ นั้นมีทหารหมุนเวียนประจำการอยู่ทางใต้ของฟิลิปปินส์หลายร้อยคนนับตั้งแต่ปี 2002 เพื่อฝึกอบรมการต่อต้านการก่อการร้ายและให้คำปรึกษาแก่กองทัพตากาล็อกที่ต่อสู้กับนักรบมุสลิมมานานหลายสิบปี
ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์ปัจจุบันนั้นห้ามต่างชาติเข้าไปตั้งฐานทัพเป็นการถาวร หลังจากที่ในปี 1991 วุฒิสภาแดนตากาล็อกได้ลงมติปิดฐานทัพอเมริกันในอ่าวซูบิกและคลาร์ก อย่างไรก็ดี 8 ปีต่อมา มะนิลาให้สัตยาบันรับรองข้อตกลงอนุญาตให้กองกำลังอเมริกันหมุนเวียนเข้ามาประจำการเป็นการชั่วคราว
สำหรับข้อตกลงเพิ่มพูนความร่วมมือด้านกลาโหมฉบับนี้ ได้มีความพยายามที่ตกลงกันให้สำเร็จในปีที่แล้ว ทว่าเผชิญอุปสรรคสำคัญเมื่อทั้งสองฝ่ายมีความเห็นไม่ลงรอยกัน เรื่องที่ฟิลิปปินส์เรียกร้องต้องการเข้าถึงพื้นที่ทั้งหลายภายในฐานทางทหารของตนซึ่งยกให้กองทหารอเมริกันใช้สอย
ในที่สุดเพื่อแก้ไขประเด็นนี้ ข้อตกลงฉบับนี้จึงกำหนดให้ผู้บัญชาการฐานทัพฟิลิปปินส์สามารถเข้าถึงพื้นที่ทั้งหมดที่ใช้ร่วมกับกองทหารอเมริกัน
ข้อตกลงนี้มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือที่ดียิ่งขึ้นระหว่างกองทัพของสองประเทศ เพิ่มความเข้มแข็งของฟิลิปปินส์ที่มีกำลังพล 120,000 คนในการตรวจสอบและปกป้องดินแดนของประเทศ รวมทั้งรับมือภัยพิบัติธรรมชาติและกรณีฉุกเฉินอื่นๆ
ปัจจุบัน รัฐบาลและกองทัพฟิลิปปินส์ที่มีปัญหาด้านงบประมาณ ให้ความสำคัญมากขึ้นกับภัยคุกคามจากภายนอก เช่น กรณีพิพาทเรื่องดินแดนในทะเลจีนใต้กับจีนที่คุกรุ่นขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ซึ่งฟิลิปปินส์ตัดสินใจพึ่งพิงวอชิงตันในการปรับปรุงกองทัพเรือและกองทัพอากาศที่ได้ชื่อว่า อ่อนแอที่สุดในเอเชีย
เป้าหมายดังกล่าวสอดประสานกับยุทธศาสตร์ “ปักหมุด” ในเอเชียของโอบามา ซึ่งส่วนหนึ่งนั้นต้องการคานอิทธิพลที่กำลังเพิ่มขึ้นของจีนด้วย
เพื่อส่งเสริมยุทธศาสตร์นี้ ผู้นำสหรัฐฯ ได้เปิดฉากทัวร์เอเชียตั้งแต่กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และจุดหมายปลายทางสุดท้ายคือฟิลิปปินส์
ทั้งนี้ เมื่อวันอาทิตย์ โอบามาได้ร่วมแถลงข่าวกับนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ของมาเลเซีย โดยกล่าวว่า ตนและนาจิบได้ร่วมหารือถึงบทเรียนที่ได้รับเพื่อปรับปรุงความร่วมมือของนานาชาติในการค้นหาเครื่องบินของมาเลเซีย แอร์ไลนส์ เที่ยวบิน MH370 ที่เชื่อว่า สูญหายในบริเวณตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดียตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคมพร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 239 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน
โอบามาสำทับว่า อเมริกาจะสนับสนุนทรัพยากรและทรัพย์สินเพื่อค้นหาเครื่องบินนี้ต่อไป
ทางด้านนาจิบแถลงว่า มาเลเซียและสหรัฐฯ เห็นพ้องในการยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็น “หุ้นส่วนที่ครอบคลุมรอบด้าน” ซึ่งหมายถึงการร่วมมือกันมากขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง การศึกษา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
ผู้นำมาเลเซียและอเมริกายังหารือเกี่ยวกับความตึงเครียดด้านดินแดนในทะเลจีนใต้ และยอมรับความสำคัญในการยึดมั่นปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ