xs
xsm
sm
md
lg

ชี้อิทธิพลจีนปกคลุม “แผนทัวร์เอเชีย” - “โอบามา” รักษาระยะปรองดองปักกิ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(แฟ้มภาพ) ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง แห่งจีน และประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ขณะหารือกันที่ทำเนียบที่พักของ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเฮก เมื่อวันที่ 24 มี.ค. รอบนอกการประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์
เอเอฟพี – แม้ไม่ได้แวะเยี่ยมแดนมังกรระหว่างการทัวร์เอเชียสัปดาห์นี้ แต่เชื่อได้ว่า ไม่ว่าจะหยิบจับหรือพูดคุยเรื่องอะไรกับใคร “จีน” จะอยู่ในทุกความคิดคำนึงของโอบามาอย่างไม่อาจต้านทานได้

นโยบายต่อจีนของอเมริกาอิงกับเป้าหมายยาวนาน 2 ทศวรรษในการนำมหาอำนาจใหม่แห่งเอเชียชาตินี้เข้าสู่ระบบสากล ควบคู่ไปกับการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจเดิมกับมหาอำนาจเกิดใหม่

คริสโตเฟอร์ จอห์นสัน อดีตนักวิเคราะห์ด้านจีนของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) และปัจจุบันทำงานให้กับเซนเตอร์ ฟอร์ สเตรทเทอจิก แอนด์ อินเตอร์เนชันแนล สตัดดีส์ ชี้ว่า จีนจะเป็นแนวเรื่องนำตลอดการเยือนเอเชียของประธานาธิบดี บารัค โอบามา

ผู้นำทำเนียบขาวหมายใจใช้การเยือนญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ปลอบโยนพันธมิตรที่ไม่มั่นใจในนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย” ของตน ขณะที่สมาธิของวอชิงตันกระจัดกระจายไปอยู่กับวิกฤตการณ์อื่นๆ เช่น ในยูเครน

แต่ขณะเดียวกัน โอบามาต้องเลือกสรรคำพูดไม่ให้กระตุ้นเตือนความสงสัยของปักกิ่งว่า เป้าหมายที่แท้จริงของการปักหมุดเอเชียคือ การจำกัดอิทธิพลจีน

การทัวร์เอเชียของโอบามาครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกนับจากที่พญามังกรประกาศเขตป้องกันภัยทางอากาศในทะเลจีนใต้ปลายปีที่แล้ว ที่วอชิงตันชี้ว่า ไม่ชอบธรรม ซ้ำส่งเครื่องบินบินผ่านโดยไม่แสดงตนเพื่อท้าทาย
(แฟ้มภาพ) มิเชล โอบามา สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ กำลังเรียนรู้วิธีการรำไทเก็กจากนักเรียนมัธยมชาวจีน ในมณฑลเสฉวน เมื่อวันที่ 25 มี.ค.
กระนั้น ทั้งสองฝ่ายยังเจรจาพาทีกันปกติ อาทิ เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่แล้วที่โอบามาพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงที่กรุงเฮก ภายหลังการประชุมสุดยอดอย่างไม่เป็นทางการที่ประสบความสำเร็จด้วยดีที่แคลิฟอร์เนียเมื่อปีที่แล้ว

เจ้าหน้าที่อเมริกันชื่นชมสไตล์ทางการทูตของสีที่ดูอิสระเสรีมากกว่าอดีตประธานาธิบดี หู จิ่นเทา

นอกจากนี้ มิเชลล์ โอบามา สุภาพสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐฯ ยังได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นในจีน และผู้นำอเมริกาจะเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดเอเปกที่ปักกิ่งเดือนพฤศจิกายนนี้

วอชิงตันยังประหลาดใจที่จีนงดออกเสียงแทนที่จะใช้สิทธิ์ยับยั้งมติของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในการประณามการจัดทำประชามติผนวกไครเมียของรัสเซียในเดือนที่ผ่านมา

กระนั้น สัมพันธ์จีน-มะกันใช่ว่าราบรื่นทั้งหมด ต้นเดือนนี้ ชัค เฮเกล และฉาง ว่านฉวน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ และจีน โต้เถียงกันเปิดเผยเรื่องญี่ปุ่นและข้อพิพาทด้านอธิปไตย

ซูซาน ไรซ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติเผยว่า โอบามาจะแสดงจุดยืนชัดเจนว่า ข้อพิพาทด้านดินแดนภายในเอเชียต้องได้รับการแก้ไขด้วยแนวทางการทูตที่อิงกับหลักนิติธรรม ไม่ใช่การข่มขู่คุกคาม
ฉาง ว่านฉวน รัฐมนตรีกลาโหมจีน และชัค เฮเกล รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ในพิธีต้อนรับที่กองบัญชาการกระทรวงกลาโหมจีน เมื่อวันที่ 8 เม.ย.
เจฟฟ์ เบเดอร์ ผู้รับผิดชอบนโยบายเอเชียตะวันออกของโอบามาในสมัยแรกและปัจจุบันเป็นนักวิชาการของสถาบันบรูคกิงส์ ชี้ว่า ผู้นำสหรัฐฯ ต้องสื่อสารให้ปักกิ่งเข้าใจว่า อเมริกาจะยืนหยัดอยู่ในเอเชีย-แปซิฟิก โดยคาดหวังว่า ทุกประเทศจะเคารพบรรทัดฐานสากล และอเมริกาจะพัฒนาความสัมพันธ์เชิงความร่วมมือกับปักกิ่งต่อไป

แต่สำหรับจีนคงต้องวิเคราะห์ถ้อยคำเหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักจาก แดนนี รัสเซล เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงต่างประเทศแดนอินทรีวิจารณ์เมื่อไม่นานนี้ว่า จีนสร้างบรรยากาศ “ความไม่แน่นอน ไม่มั่นคง และไร้เสถียรภาพ” ขึ้นในเอเชีย

นอกจากนั้นในระหว่างหารือที่วอชิงตัน โอบามายังเกริ่นว่า จีนอาจเล่นแรงเกินไปกับเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจตีความได้ว่า ผู้นำสหรัฐฯ กำลังรื้อฟื้นนโยบายการทูตเชิงรุกแบบที่เคยใช้ในสมัยแรก

ในทางกลับกัน ดักกลาส ปาล จากคาร์เนกี เอนดาวเมนท์ ฟอร์ อินเตอร์เนชันแนล พีซ มองว่า การจัดการกับกรณีการหายไปอย่างลึกลับของเครื่องบินมาเลเซีย แอร์ไลนส์ การสร้างสมแสนยานุภาพทางทหาร และการประกาศเขตป้องกันภัยทางอากาศของจีน อาจทำให้ชาติพันธมิตรเต็มใจรับฟังโอบามามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์เฉิน ติงลี่ แห่งมหาวิทยาลัยฟูตัน เชื่อว่า การทัวร์เอเชียของโอบามาจะไม่ทำให้ปักกิ่งร้อนรน เนื่องจากรู้ว่า ถึงอย่างไรความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนย่อมสำคัญกว่าความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันกับญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้
กำลังโหลดความคิดเห็น