วอลล์สตรีท เจอร์นัล - สื่อชื่อดังของสหรัฐฯรายงานเมื่อวันอังคาร (3) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทยเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน ขณะที่ตลาดหุ้นก็ยังเดินหน้าปิดบวกอย่างต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าประชาชนและนักลงทุนไทยรู้สึกทางบวกต่อย่างก้าวต่างๆ ในการติดเครื่องเศรษฐกิจของคณะทหาร พร้อมอ้างนักวิเคราะห์ชี้แม้จะก่อความตื่นตระหนกแก่ต่างชาติ แต่คนไทยเกือบทั้งหมดมองว่ารัฐประหารคือกลไกสำหรับขจัดภาวะทางตันทางการเมือง
รายงานข่าวของวอลล์สตรีท เจอร์นัล อ้างข้อมูลของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 70.7 จาก 67.8 ในเดือนเมษายน ส่วนตลาดหุ้นของไทยก็ปิดบวกเป็นวันที่ 6 ติดต่อกันในวันอังคาร (3) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2013
สื่อแห่งนี้เน้นด้วยว่าหุ้นของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3.45 นับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ตามหลังความยุ่งเหยิงทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานานหลายเดือนและเลี้ยวเข้าสู่ความรุนแรงบ้างในบางครั้ง ขณะเดียวกันค่าเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยนักลงทุนขานรับต่อข้อมูลความเชื่อมั่นผู้บริโภค
วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า ความวุ่นวายทางการเมืองก่อนหน้าทหารเข้ายึดอำนาจ ได้กัดเซาะความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและฉุดรั้งการลงทุนในชาติเศรษฐกิจหมายเลข 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ เป็นผลให้เศรษฐกิจของไทยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2014 หดดตัวจากไตรมาส 4 ของปีก่อน ร้อยละ 2.1 “การจัดตั้งรัฐบาลมีความชัดเจนขึ้นแล้วในตอนนี้” นายรักพงศ์ ไชยศุภรากุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ (ประเทศไทย) บอกกับวอลล์สตรีท เจอร์นัล “อย่างน้อยๆ ตอนนี้เราก็ได้เห็นโรดแมปจากทหารว่าพวกเขาจะทำอะไร”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนักวิเคราะห์ต่างชาติ ยังคงมีความกังวล โดยโกลด์แมน แซคส์ ระบุในรายงานวิจัยเมื่อวันอังคาร (3) ชี้ให้เห็นว่ายังคงมีความเสี่ยงทางการเมืองในระยะยาว “ขณะที่ความเชื่อมั่นในตลาดของไทยดีขึ้นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่เรายังเคลือบแคลงต่อแนวโน้มการเติบโต” พวกเขาบอก “การปกครองของทหารให้ความชัดเจนในแง่การควบคุมพิเศษในระยะสั้น แต่ไม่ได้คลี่คลายพื้นฐานความเห็นต่างระหว่างเสื้อเหลืองและเสื้อแดง หรือทางตันในนโยบายระยะยาว รวมถึงลำดับเป้าหมายทางงบประมาณ อาทิการใช้จ่ายในโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ”
รายงานของวอลล์สตรีท เจอร์นัล บอกต่อว่าหนึ่งในเป้าหมายที่ทางคณะรัฐประหารให้ความสำคัญลำดับต้นๆ คือ ชาวนา ผู้สนับสนุนหลักรัฐบาลประชานิยมของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา สั่งการให้หน่วยงานเศรษฐกิจต่างๆ เร่งรัดจ่ายเงินค่าข้าวแก่ชาวนาจำนวนหลายหมื่นล้านบาทภายใต้โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ หลังติดค้างเกษตรกรมานานหลายเดือน และจนถึงวันอังคาร (3) ทาง ธ.ก.ส. เปิดเผยได้จ่ายเงินแก่ชาวนาไปแล้วราว 382,000 ราย คิดเป็นเงินประมาณ 38,000 ล้านบาท
ในวันเดียวกัน ทางสำนักบริหารหนี้สาธารณะของไทย เปิดเผยว่า ได้แหล่งเงินกู้วงเงิน 50,000 ล้าน เพื่อนำมาจ่ายให้ชาวนา ในโครงการรับจำนำข้าวจากธนาคารออมสิน และพร้อมจ่ายก้อนเเรก 30,000 ล้านบาท ในวันที่ 6 มิถุนายนนี้
“ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น หลังทหารจัดตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เข้ามาบริหารประเทศ” วอลล์สตรีท เจอร์นัล อ้างคำสัมภาษณ์ของนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย “ความเคลื่อนไหวจ่ายเงินชาวนาภายใต้โครงการอุดหนุนราคาข้าวของรัฐบาลชุดก่อน ก็ช่วยสนับสนุนความเชื่อมั่นด้วย” เขากล่าวพร้อมบอกว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มปรับตัวในเชิงขาขึ้น ซึ่งช่วงไตรมาส 3 จะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่โดดเด่นขึ้น
ด้าน นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ให้ความเห็นกับวอลล์สตรีท เจอร์นัล ว่า “นี่นับเป็นครั้งแรกในเชิงเศรษฐกิจ ที่ประชาชนมีหวังอย่างแท้จริง ปัญหาต่างๆ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ระหว่างรัฐบาลรักษาการ ตอนนี้สามารถแก้ไขได้แล้ว”
วอลล์สตรีท เจอร์นัล ยังอ้างความเห็นของ นายมาร์ค สปีเกล กรรมการผู้จัดการส่วนภูมิภาคของ วินาร์โก อินเตอร์เนชันแนล บริษัทผู้ให้บริการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ระบุว่าในขณะที่เหตุรัฐประหารก่อความรู้สึกช็อคแก่ชาวต่างชาติ แต่ “คนไทยส่วนใหญ่มองว่าการรัฐประหารคือกลไกขจัดภาวะทางตันทางการเมือง การรัฐประหารก็เหมือนมีบางคนเข้ามาและควบคุมบอร์ดบริหารบริษัทของคุณก็เท่านั้น”
รายงานของวอลล์สตรีท เจอร์นัล ระบุว่าในความพยายามจำกัดภาวะซบเซาด้านการท่องเที่ยง คณะรัฐประหารของไทยในวันอังคาร (3) ได้ประกาศยกเลิกเคอร์ฟิวในเมืองท่องเที่ยวริมทะเล อย่างพัทยา เกาะสมุย และภูเก็ต อย่างไรก็ตามเคอร์ฟิวตั้งแต่เที่ยงคืนจนถึง 04.00 น. ยังคงบังคับใช้ในจังหวัดอื่นๆ รวมถึงกรุงเทพฯ