เอพี/เอเจนซีส์ - บรรดาสมาชิกสภาและเจ้าหน้าที่จากภาคตะวันออกของยูเครนวานนี้ (17 พ.ค.) รุมวิจารณ์รัฐบาลกลางที่ยังไร้ประสบการณ์ของกรุงเคียฟ โดยกล่าวหาว่ารัฐบาลเคียฟเมินคำร้องทุกข์อันถูกต้องชอบธรรมของจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ในความควบคุมของกลุ่มติดอาวุธนิยมรัสเซีย ผู้กำลังต่อสู้เพื่อประกาศเอกราช
ผู้นำรัฐบาลท้องถิ่นจากภาคตะวันออกคนหนึ่งชี้ว่า การลงประชามติประกาศเอกราชอย่างไม่เป็นทางการที่เกิดขึ้นแล้วนั้น ถึงอย่างไรก็เป็นการ “แสดงเจตจำนงของประชาชน”
กระแสวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้มีขึ้น ในระหว่างการหารือเจรจากันของชาวยูเครน ซึ่งมีสหภาพยุโรปเป็นผู้ผลักดัน และมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ครั้งเลวร้ายที่สุดของประเทศ นับตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อปี 1991
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลรักษาการชุดปัจจุบันของยูเครนก้าวขึ้นมาครองอำนาจ ภายหลังที่ชาวยูเครนในกรุงเคียฟออกมารวมตัวประท้วงขับไล่รัฐบาลอยู่นานหลายเดือน จนในที่สุดประธานาธิบดี วิกตอร์ ยานูโควิช ซึ่งเป็นพันธมิตรกับมอสโกได้ถูกขับพ้นจากตำแหน่ง เป็นชนวนให้ชาวรัสเซีย และชาวยูเครนทางภาคตะวันออกจำนวนมากกล่าวหาว่า รัฐบาลชุดใหม่ในกรุงเคียฟซึ่งฝักใฝ่ตะวันตกนั้น นอกจากจะขึ้นสู่ตำแหน่งโดยมิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแล้ว ยังจงใจเหยียบย่ำสิทธิของประชากรที่พูดภาษารัสเซียในภาคตะวันออกของประเทศ
วานนี้ (17) บรรดานักการเมืองจากภาคตะวันออกได้วอนขอให้รัฐบาลเชื่อว่า นอกจากกลุ่มติดอาวุธฝักใฝ่รัสเซียแล้ว ประชากรจำนวนมากยังสูญสิ้นความหวังต่อรัฐบาลรักษาการในกรุงเคียฟแล้ว
การเจรจาหารือคราวนี้ซึ่งถือเป็นนัดที่ 2 มีขึ้นในเมืองคาร์คีฟ ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกของยูเครน หลังหลายชั่วโมงก่อนหน้านั้น มีเสียงปืนดังก้องตลอดทั้งคืน บริเวณใกล้เมืองสลาเวียนสก์ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของนักรบนิยมมอสโก ในยูเครนตะวันออก หลังกองกำลังที่ภักดีต่อกรุงเคียฟถอนกำลังไปป้องกันหอส่งสัญญาณโทรทัศน์
เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว (11) ชาวยูเครนในจังหวัดโดเนตสก์ และ จังหวัดลูกานสก์ ทางภาคตะวันออก ได้รีบจัดการลงประชามติ และประกาศเอกราชภายหลังที่ประชาชนลงมติท่วมท้นให้ประกาศเอกราช ถึงแม้กรุงเคียฟและฝ่ายตะวันตกจะประณามว่า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม กลุ่มแบ่งแยกดินแดนซึ่งกรุงเคียฟหมายหัวว่า เป็นผู้ก่อการร้าย ไม่ได้ไปปรากฏตัวในการเจรจาที่เมืองคาร์คีฟ ทางภาคตะวันออก โดยกลุ่มผู้ต้องการประกาศเอกราชกล่าวว่า พวกเขายินดีที่จะพูดคุย หากรัฐบาลยูเครนถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ และยอมรับการประกาศเอกราชของดินแดนของพวกเขา
วาเลรี โฮเลนโก ประธานรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดลูกานสก์ กล่าวว่า “ถึงแม้การลงประชามติที่ผ่านมาไม่ได้มีผลทางกฎหมายใดๆ แต่ก็เป็นการแสดงเจตจำนงของประชาชน ซึ่งไม่สามารถบั่นทอนได้ โดยประชาชนจำนวนมหาศาลได้พากันออกไปลงประชามติ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็เพื่อแสดงการประท้วง (รัฐบาลกลางที่กรุงเคียฟ)”
โฮเลนโกกล่าวว่า ข้อเสนอกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นของรัฐบาลเคียฟนั้นไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว และหากรัฐบาลต้องการที่จะระงับโทสะของชาวยูเครนตะวันออกแล้ว ขั้นแรกเลย รัฐบาลต้องยุติ “ปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อการร้าย” ทางภาคตะวันออก
ขณะสมาชิกสภาบางคนของภาคตะวันออกกำลังกล่าวแถลงด้วยถ้อยคำรุนแรงอยู่นี้ ปรากฏว่ารักษาการนายกรัฐมนตรียูเครน อาร์เซนีย์ ยัตเซนยุค แสดงท่าทีสนใจอยู่กับไอแพดของเขามากกว่า และเมื่อถึงโอกาสที่เขาได้พูด เขาก็เรียกร้องให้บรรดาผู้นำทางภาคตะวันออก ต่อต้านกลุ่มติดอาวุธ และสนับสนุนความพยายามกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นของรัฐบาลของเขา
ยัตเซนยุคกล่าวในที่ประชุมด้วยน้ำเสียงแข็งกร้าวว่า “ในบ้านของพวกคุณทั้งที่ลูกานสก์ และโดเนตสก์ มีพวกผู้ก่อการร้ายติดอาวุธที่รัสเซียให้เงินทองสนับสนุน ตลอดจนพวกที่หลบหนีจากยูเครนไปแล้วและต้องการยึดเอาดินแดนเราไป ”
“เราจะไม่พูดคุยกับโจร และผู้ก่อการร้าย พวกเขาจะไม่มีสิทธิบอกว่าชาวยูเครนต้องใช้ชีวิตในประเทศตัวเองอย่างไร”
นอกจากนี้ ยัตเซนยุค ยังเรียกร้องให้บรรดาผู้นำยูเครนปลดอาวุธกลุ่มแบ่งแยกดินแดน “ยึดคืนอำนาจ และเริ่มเจรจาทางการเมือง”
ขณะแสดงปฏิกิริยาต่อข้อเรียกร้องให้กำหนดภาษารัสเซียเป็นภาษาที่ 2 ยัตเซนยุคกล่าวว่า รัฐบาลจะสนับสนุนให้ชาวยูเครนและชาวรัสเซีย ในพื้นที่ที่ประชากรสื่อสารด้วยภาษารัสเซีย มีสถานะเท่าเทียมกัน แต่ไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีความคุ้มครองทางกฎหมายด้านอื่นๆ
ทางด้าน เจน ซากี โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาคัดค้าน “การปฏิบัติอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนนิยมรัสเซียที่ไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งในภาคตะวันออก ซึ่งต้องการผนวกดินแดนเข้ากับรัสเซีย ขณะที่เธอกล่าวว่า สหรัฐฯ จะสนับสนุนความพยายามของ “เหล่าผู้แทนที่ผ่านการเลือกตั้ง และมีสถานะชอบด้วยกฎหมาย” ซึ่งมาประชุมกัน ณ เมืองคาร์คีฟ “เพื่อหาทางแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ และยึดหลักรัฐธรรมนูญ”
ซากีกล่าวว่า “การตัดสินใจใดๆ ก็ตามในเรื่องยูเครน จะต้องมาจากฝ่ายที่มีอำนาจอันชอบธรรม และเป็นตัวแทนของพลเมืองยูเครนทั้งหมด รวมทั้งจะต้องไม่ถูกกองทัพต่างชาติเข้าแทรกแซง”
การหารือกันรอบต่อไปกำหนดมีขึ้นในวันพุธที่จะถึงนี้ (21) ณ เมืองเชียร์คาซืย ซึ่งอยู่ทางภาคกลางของยูเครน