xs
xsm
sm
md
lg

ยูเครนตะวันออกลงประชามติแยกตัว เพราะความผิดพลาดของผู้นำใหม่ในกรุงเคียฟ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเอฟพี - หนึ่งวันหลังจากชาวจังหวัดโดเนตสก์ ลงคะแนนท่วมท้นขอแยกตัวจากยูเครน บรรยากาศบนท้องถนนกลับเงียบสงบ แทนที่จะมีการเฉลิมฉลองครึกครื้น เหตุผลคือ คนมากมายยังงุนงงกับอนาคตของสาธารณรัฐแห่งใหม่ที่ช่วยกันสถาปนาขึ้น โดยที่มูลเหตุสำคัญที่สุดในการโหวตของพวกเขานั้น อยู่ที่ความโกรธขึ้งไม่ไว้วางใจคณะผู้นำของรัฐบาลรักษาการในกรุงเคียฟ

ดมิโตร บอยโค คนขับแท็กซี่วัย 36 ปี ให้สัมภาษณ์ระหว่างรอรับลูกสาวที่หน้าโรงเรียนว่า คนมากมายในโดเนตสก์ยังตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงอนาคตข้างหน้า

“เราไม่รู้หรอกว่าจะเกิดอะไรต่อไป ใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำ เพียงแต่ว่าเราไม่สามารถนิ่งเฉยอย่างเดิมได้อีกแล้ว”

บอยโค กล่าวโทษพวกผู้นำรัฐบาลชั่วคราวในกรุงเคียฟที่เป็นพวกผู้สนับสนุนตะวันตก ว่าเป็นตัวการก่อให้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้น และนำยูเครนเข้าสู่ขอบเหวของสงครามกลางเมือง

“รัฐบาลใหม่ตัดสินใจผิดพลาดและสื่อสารก็ผิดพลาด ซึ่งทำให้สถานการณ์ลุกลามอย่างรวดเร็ว การลงประชามติครั้งนี้เป็นทางเดียวในการแสดงการคัดค้านพวกผู้มีอำนาจในเคียฟ”

จากผลการลงประชามติอย่างเป็นทางการในโดเนตสก์ ซึ่งเป็นจังหวัดสำคัญที่มีประชากร 4.7 ล้านคนในภาคตะวันออกของยูเครนเมื่อวันอาทิตย์ (11 พ.ค.) ปรากฏว่ามีผู้ออกมาใช้สิทธิถึง 75% และเกือบ 90% ของเสียงโหวตต้องการให้โดเนตสก์ประกาศเอกราช แยกตัวออกจากยูเครน

ดังนั้น ในวันจันทร์ (12) จึงเกิด “สาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์” ขึ้นมา แม้มีเพียงรัสเซียที่ให้การยอมรับสาธารณรัฐน้องใหม่แห่งนี้

การจัดการลงประชามติเมื่อวันอาทิตย์ (11) นั้นเต็มไปด้วยความวุ่นวายและห่างไกลจากมาตรฐานประชาธิปไตยสากล ตัวอย่างเช่นในเมืองมาริวโพล ที่มีประชากรเกือบ 500,000 คน กลับมีหน่วยลงคะแนนเพียง 4 หน่วย
ยานยนต์หุ้มเกราะของกบฏนิยมรัสเซียกำลังลาดตระเวณไปตามท้องถนนของเมืองสลาเวียนสก์ ทางตะวันออกของยูเครน
คำถามสำคัญที่สุดสำหรับชาวโดเนตสก์ในขณะนี้คือ ระบบการปกครองและวิธีการปกครองในอนาคตต่อจากนี้ไป

“ฉันบอกไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่แน่ใจว่า ไม่มีทางเลวร้ายกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้” เวโรนิกา ครูวัย 50 ปีบอก

แต่สำหรับพนักงานเหมืองแร่ผู้ไม่ประสงค์ออกนามคาดหวังว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกว่าในอดีต

“รัฐบาลบีบเราทุกทาง บำนาญเท่าเดิมทั้งที่สัญญาว่าจะเพิ่ม ส่วนค่าแรงขั้นต่ำก็ยังต่ำเหมือนเดิม”

ขณะเดียวกัน ปัญหาที่ยังค้างคาใจเหล่าผู้นำตะวันตก คือ การลงประชามติคราวนี้ ที่จัดขึ้นใน 2 จังหวัดของยูเครนตะวันออก คือ โดเนตสก์ และ ลูกันสก์ ซึ่งอยู่ติดกัน จะมีผลต่อเนื่องทำให้ยูเครนตะวันออกเข้าผนวกรวมกับรัสเซียหรือไม่ ทำนองเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในกรณีของแหลมไครเมียเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ชาวโดเนตสก์จำนวนมากบอกว่า ความรุนแรงที่สั่นคลอนพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ของยูเครน ผลักดันให้พวกเขาต่อต้านตะวันตกและเคียฟ และหันไปหาเครมลิน

“ถ้าเป็นเมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อน ผมคงเลือกให้โดเนตสก์เป็นสหพันธรัฐที่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน แต่หลังจากเหตุการณ์ในโอเดสซา ครามาทอร์สก์ สโลเวียนสก์ และล่าสุดคราสนอร์มิสก์ เมื่อวันอาทิตย์ (11) ผมคิดว่าพวกเราในภาคตะวันออกไม่มีอนาคตอีกต่อไปในยูเครน” แอนดริว พนักงานไอทีบอก

สโลเวียนสก์นั้นเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏ และถูกกองทัพยูเครนปิดล้อมเพื่อยึดคืนมานานหลายสัปดาห์ โดยมีการปะทะกันต่อเนื่องทำให้ทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตจำนวนมาก

ส่วนที่โอเดสซา เมืองท่าทางใต้ของประเทศ เกิดการนองเลือดครั้งรุนแรงที่สุดนับจากมีการผลัดเปลี่ยนผู้นำในเคียฟเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยมีผู้เสียชีวิต 42 คนจากการปะทะระหว่างกลุ่มกบฏที่สนับสนุนรัสเซียกับผู้สนับสนุนรัฐบาลยูเครน ผู้ตายส่วนใหญ่เป็นพวกโปรรัสเซีย

“สำหรับฉัน ตอนนี้ฉันยังอยู่ในยูเครน แต่ใครจะรู้ว่าพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร ช่างยุ่งเหยิงวุ่นวายราวโรงพยาบาลบ้าไม่มีผิด

“ฉันเกิดในประเทศนี้ ลูกหลานฉันก็เหมือนกัน ก็ได้แต่หวังว่า เราจะอยู่กันอย่างสงบสุข" หญิงสูงวัยคนหนึ่งทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น