เอเจนซีส์ - มอสโก-เคียฟ เปิดโต๊ะเจรจาโดยมีตะวันตกร่วมหารือว่าด้วยวิกฤตการณ์ที่ลุกลามหนักในยูเครน ล่าสุดกลุ่มประท้วงที่สนับสนุนเครมลิน 3 คนถูกยิงตายขณะพยายามบุกยึดค่ายกองกำลังรักษาดินแดนในเมืองท่าทางตะวันออก ทางด้าน “ปูติน” กริ้ว ชี้รัฐบาลรักษาการในเคียฟกำลังดึงยูเครนลงสู่ “ขุมนรก”
ในวันพุธ (16) มีสมาชิกกลุ่มผู้ประท้วงที่สนับสนุนเครมลิน 3 คนถูกสังหาร และ 63 คนจากทั้งหมดราว 300 คนถูกจับกุม หลังจากใช้ปืนและระเบิดโจมตีค่ายกองกำลังรักษาดินแดนในเมืองมาริวโพล และถูกกองกำลังยูเครนตอบโต้ ถือเป็นเหตุการณ์นองเลือดครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 10 วันที่กลุ่มสนับสนุนมอสโกก่อการชุมนุมประท้วงและยึดอาคารที่ทำการตามเมืองต่างๆ ทางตะวันออกของยูเครน โดยที่พวกเขาต้องการให้จัดการลงประชามติว่าจะเข้าผนวกรวมกับรัสเซียหรือไม่
เหตุรุนแรงดังกล่าวตอกย้ำความเร่งด่วนในการเจรจาระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ยูเครน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงจำนวนมากขึ้น ซึ่งเป็นพวกประชากรที่พูดภาษารัสเซีย แต่วอชิงตันและบรัสเซลส์กล่าวหาว่า ได้รับการสนับสนุนจากมอสโกนั้น ได้เข้ายึดครองสถานที่ราชการใน 10 เมืองทางตะวันออกของยูเครน หลังจากเริ่มการประท้วงเมื่อวันที่ 6 ที่ผ่านมาด้วยการประกาศเอกราช “สาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์” ซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค
ฝ่ายตะวันตกระบุว่า รัสเซียนั้นส่งทหารหลายหมื่นคนประจำตามแนวชายแดนติดกับยูเครน แต่ทางด้านรัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าตนเองหนุนหลังการก่อเหตุในภาคตะวันออกของยูเครน อีกทั้งเตือนเคียฟไม่ให้ใช้กำลังกับกลุ่มประท้วงเหล่านี้ รวมทั้งประกาศสงวนสิทธิ์ในการปกป้องประชาชนที่พูดภาษารัสเซียในยูเครน
วันพฤหัสบดี (17) ไม่นานก่อนที่การเจรจา 4 ฝ่ายที่เจนีวาจะเริ่มต้นขึ้น ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ยังกล่าวหาว่า รัฐบาลในเคียฟกำลังดึงยูเครนลงสู่ขุมนรก
ระหว่างการตอบคำถามแก่ผู้ต่อโทรศัพท์เข้ามาพูดคุยซักถามประจำปี ผู้นำเครมลินสำทับว่า ยูเครนจะฟื้นระเบียบได้ด้วยการเจรจาและกระบวนการประชาธิปไตย ไม่ใช่การใช้กำลัง
สิ่งที่ปูตินพาดพิงถึงคือปฏิบัติการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงนิยมรัสเซีย ที่เคียฟเริ่มต้นขึ้นเมื่อต้นสัปดาห์โดยอ้างว่าเป็นการปราบปรามผู้ก่อการร้าย แต่สุดท้ายความพยายามของเคียฟก็ยังคงล้มเหลวเมื่อกลุ่มผู้ประท้วงนิยมรัสเซียสามารถปิดล้อมและยึดยานยนต์หุ้มเกราะจากกองกำลังยูเครนได้ในหลายเมือง
วันเดียวกัน องค์การสนธิสัญญาปกป้องแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ประกาศส่งกำลังไปประจำในยุโรปตะวันออกเพิ่ม และเรียกร้องให้รัสเซียยุติการบ่อนทำลายเสถียรภาพยูเครน ซึ่งตกอยู่ในสถานการณ์วุ่นวายนับจากที่วิกเตอร์ ยานูโควิช ผู้ภักดีต่อเครมลิน ถูกปลดจากตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยที่รัสเซียระบุว่าเป็นการยึดอำนาจอย่างไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญยูเครน ของกลุ่มประท้วงที่นิยมตะวันตกซึ่งมีกองกำลังขวาจัดนาซีใหม่ผสมโรงอยู่ด้วย
สถานการณ์ในยูเครนลุกลามกลายเป็นวิกฤตตะวันออก-ตะวันตกที่เลวร้ายที่สุดนับจากหลังสงครามเย็น โดยที่การเจรจาในเจนีวาในคราวนี้ ก็ให้ความหวังน้อยมาก เนื่องจากต่างฝ่ายต่างมีข้อเรียกร้องของตนเอง เป็นต้นว่า วอชิงตันและเคียฟต้องการให้มอสโกเลิกสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธ ขณะที่รัสเซียปฏิเสธว่าไม่ได้ทำเช่นนั้น
ปัจจุบันอเมริกาและอียูบังคับใช้มาตรการลงโทษนักการเมืองและนักธุรกิจสำคัญบางคนของรัสเซียและยูเครน แต่หากการเจรจาล้มเหลว ตะวันตกประกาศว่า จะเพิ่มบทลงโทษมอสโกหนักขึ้น โดยจะเป็นมาตรการทางเศรษฐกิจและการเงินในวงกว้างขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจแดนหมีขาวที่เริ่มโซซัดโซเซแล้ว อย่างไรก็ดี รัสเซียและผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ต่างเห็นว่า การลงโทษใดๆ ก็ตามที่จะกระทบกระเทือนรัสเซียจริงๆ นั้น จะต้องสร้างความเสียหายให้แก่พวกประเทศอียูเองด้วย เนื่องจากรัสเซียและชาติอียูมีการพึ่งพาอาศัยกันทางเศรษฐกิจอย่างแน่นแฟ้น
ทางด้าน เจย์ คาร์นีย์ โฆษกทำเนียบขาวแถลงเมื่อวันพุธว่า วอชิงตันกำลังเตรียมมาตรการลงโทษใหม่ที่พุ่งเป้าที่อุตสาหกรรมเหมืองแร่ พลังงาน และการเงินของรัสเซีย
วันเดียวกันนั้น ประธานาธิบดี บารัค โอบามา กล่าวหามอสโกให้การสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในยูเครน
“ทุกครั้งที่รัสเซียดำเนินมาตรการในลักษณะนี้ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการบ่อนทำลายเสถียรภาพและละเมิดอธิปไตยของยูเครน พวกเขาจะต้องได้รับผลของการกระทำ”
ผู้นำสหรัฐฯ ยังใช้ถ้อยคำที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังหลังสิ้นสุดสงครามเย็นว่า อเมริกามีกองทัพที่เข้มแข็งกว่ารัสเซีย แม้ต่างฝ่ายไม่มีใครอยากให้เกิดสงครามก็ตาม