xs
xsm
sm
md
lg

“เคียฟ” เริ่มยึดคืนพื้นที่ภาคตะวันออก “ฝ่ายนิยมรัสเซีย” ก็โชว์ยึดรถหุ้มเกราะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เอเจนซีส์ - กองทัพในความควบคุมของรัฐบาลกรุงเคียฟที่ฝักใฝ่ตะวันตก กับพวกนักรบแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซีย ต่างฝ่ายต่างแสดงพลังข่มกันในดินแดนด้านตะวันออกของยูเครนเมื่อวันพุธ (16 เม.ย.) หนึ่งวันก่อนที่อเมริกาและอียูจะเข้าร่วมการเจรจากับรัสเซียและยูเครน ที่นครเจนีวา ในวิกฤตการเผชิญหน้าครั้งร้ายแรงที่สุดระหว่างตะวันออก-ตะวันตกหลังยุคสงครามเย็น

ในวันอังคาร (15) กองทัพยูเครนได้เคลื่อนยานยนต์หุ้มเกราะ 7 คันเข้าสู่เมืองครามาตอร์สก์ และ โอเล็กซานเดอร์ ตูร์ชินอฟ รักษาการประธานาธิบดียูเครน ประกาศชัยชนะเหนือกลุ่มกบฏที่สนับสนุนรัสเซียในเมืองดังกล่าว หลังจากสามารถยึดคืนสนามบินจากกลุ่มกบฏ ส่งผลให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เตือนว่า ยูเครนเสี่ยงถลำสู่สงครามกลางเมือง

วันเดียวกันนั้น รัฐบาลยูเครนยังเปิด “ปฏิบัติการพิเศษต่อต้านการก่อการร้าย” ในพื้นที่ภาคตะวันออกที่มีประชากรจำนวนมากเป็นผู้พูดภาษารัสเซีย ด้วยการส่งรถถังและยานยนต์หุ้มเกราะ 20 คันไปยังเมืองสลาเวียนสก์ ซึ่งถือเป็นการตอบโต้อย่างรุนแรงที่สุดของเคียฟ ต่อกลุ่มติดอาวุธนิยมรัสเซียที่ได้เข้ายึดอาคารรัฐบาลใน 10 เมืองของภูมิภาคดังกล่าวเอาไว้

อย่างไรก็ดี ในวันพุธ (16) สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานว่า มีกลุ่มชายฉกรรจ์ติดอาวุธในเครื่องแบบทหารจากหน่วยต่างๆ ขับรถสายพานลำเลียงพลหุ้มเกราะของยูเครนจำนวน 6 คัน โดยที่คันหนึ่งติดธงชาติรัสเซีย เคลื่อนเข้าสู่เมืองสลาเวียนสก์ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองครามาตอร์สก์เพียง 15 กิโลเมตร และไปจอดที่บริเวณหน้าศาลาว่าการเมือง ซึ่งกลุ่มแบ่งแยกดินแดนยึดอยู่ โดยมีประชาชนจำนวนหนึ่งตะโกนเชียร์

สื่อรัสเซียรายงานว่า ขบวนยานยนต์เหล่านี้เป็นทหารยูเครนที่แปรพักตร์มาร่วมกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ทว่า กองทัพยูเครนยืนยันว่า ไม่ได้รับรายงานว่า มีอาวุธถูกยึดไปอย่างใด

ส่วนที่เมืองโดเนตสก์ สมาชิกติดอาวุธของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซียอย่างน้อย 20 คน บุกเข้ายึดศาลาว่าการเมือง อันเป็นสถานการณ์อย่างเดียวกับที่เกิดขึ้นใน 10 เมืองทางตะวันออกของยูเครนนับตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว

รัฐบาลยูเครนดูเหมือนกำลังพยายามยึดคืนอำนาจควบคุมอย่างช้าๆ โดยไม่ต้องการให้เกิดการนองเลือดก่อนการประชุมที่เจนีวาในวันพฤหัสบดี ที่รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียและยูเครนจะได้พบกันครั้งแรก โดยมีอเมริกาและสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเข้าข้างเคียฟอย่างเปิดเผย ร่วมหารือด้วย
กลุ่มชายติดอาวุธ ติดริบบิ้นสีดำและสีส้มของเซนต์จอร์จ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่พวกผู้ประท้วงฝ่ายนิยมรัสเซียในยูเครนนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง ขับยานยนต์หุ้มเกราะของยูเครน โดยที่มีคันหนึ่ง (ซ้าย) ติดธงชาติรัสเซียด้วย ภาพนี้ถ่ายขณะพวกเขาเคลื่อนขบวนอยู่บริเวณนอกเมืองครามาตอร์ส ทางภาคตะวันออกของยูเครนเมื่อวันพุธ (16) โดยที่มีรายงานว่าในเวลาต่อมาพวกเขาได้ไปยังเมืองสลาเวียนสก์ ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 15 กิโลเมตร
มอสโกนั้นไม่ยอมรับรัฐบาลรักษาการของยูเครนที่สนับสนุนตะวันตกชุดนี้ ซึ่งเข้ายึดอำนาจหลังจาก วิกตอร์ ยานูโควิช ที่จงรักภักดีต่อเครมลิน ถูกถอดจากตำแหน่งประธานาธิบดี ภายหลังการประท้วงใหญ่ในเคียฟเมื่อเดือนกุมภาพันธ์

ระหว่างหารือทางโทรศัพท์เมื่อคืนวันอังคาร ปูติน ได้บอกกับนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนี ว่าเคียฟกำลังละเมิดหลักการรัฐธรรมนูญด้วยการใช้กำลังกับผู้ก่อการประท้วง อันจะทำให้ประเทศเข้าสู่สงครามกลางเมือง

ขณะที่ เซียร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศแดนหมีขาว ก็สำทับก่อนเดินทางจากเวียดนามสู่เจนีวาว่า เคียฟควรรับฟังเสียงของประชาชนชาวยูเครน และหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง

การที่เคียฟแสดงท่าทีตอบโต้อย่างแข็งกร้าวต่อกลุ่มก่อการประท้วงที่นิยมรัสเซียเช่นนี้ ยังทำให้ปูตินเรียกร้องไปยังบัน คีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ ให้ประณามการดำเนินการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของยูเครน ทว่า ได้รับคำตอบจากบันว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันยุติสถานการณ์ความรุนแรงดังกล่าว

ด้านอาร์เซนีย์ ยัคเซนยุค รักษาการนายกรัฐมนตรียูเครน ก็ตอบโต้ด้วยการกล่าวหามอสโก “ส่งออกลัทธิก่อการร้ายสู่ยูเครน” และ “พยายามสร้างกำแพงเบอร์ลินใหม่” พร้อมเรียกร้องให้รัสเซียยุติการสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดน

เช่นเดียวกัน สหรัฐฯ และอียูซึ่งกล่าวหาว่า รัสเซียอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการแบ่งแยกดินแดนในภาคตะวันออกของยูเครน เหมือนที่ดำเนินการจนกระทั่งสามารถผนวกดินแดนแหลมไครเมีย ที่อยู่ทางตอนใต้ของยูเครน ไปได้เมื่อเดือนที่แล้ว

ทว่า รัสเซีย ซึ่งรัฐบาลตะวันตกระบุว่า ระดมกำลังทหารราว 40,000 คนเตรียมพร้อมตามแนวชายแดนติดกับยูเครน ปฏิเสธข้อกล่าวหานั้นและเรียกร้องให้เคียฟยอมรับว่า ในอนาคตโครงสร้างของยูเครนควรจะอยู่ในรูปของสหพันธรัฐแบบหลวมๆ ซึ่งจะให้อำนาจปกครองตนเองแก่ท้องถิ่นต่างๆ อันจะเป็นหลักประกันให้แก่ประชากรที่พูดภาษารัสเซีย

การเผชิญหน้าระหว่างตะวันตก-ตะวันออกครั้งนี้ซึ่งถือว่าเลวร้ายที่สุดนับจากยุคสงครามเย็น ทำให้เกิดความกังวลในตะวันตกและเคียฟว่า เครมลินอาจแทรกแซงทางทหารเพื่อ “ปกป้อง” คนที่พูดภาษารัสเซียในยูเครนดตะวันออก

โฆษกของประธานาธิบดีบารัค โอบามากล่าวว่า ทางการเคียฟมีสิทธิ์ตอบโต้ “การยั่วยุ” ในภาคตะวันออก และแม้วอชิงตันไม่คิดส่งทหารเข้าสู่ยูเครน แต่ก็กำลังหารือกับบรัสเซลส์ในการเพิ่มมาตรการลงโทษรัสเซีย อย่างไรก็ดี จะยังไม่มีการใช้แนวทางนี้ก่อนการประชุมที่เจนีวา
กำลังโหลดความคิดเห็น