xs
xsm
sm
md
lg

"ยูเครน" ถอนทหารออกจากไครเมีย - ตั้งกำแพงวีซ่ากับ "รัสเซีย" - ถอนตัวจากกลุ่ม CIS

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - ยูเครนต้องยอมก้มหัวให้กับความจริงที่กองทัพรัสเซียได้ควบคุมไครเมีย 1 วันหลังจากที่รัสเซียประกาศที่จะผนวกไครเมียเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับรัสเซีย เมื่อวานนี้(19)รัฐบาลยูเครนรักษาการได้เปิดเผยที่ถอนกำลังทหารยูเครน ที่รวมถึงครอบครัวของเหล่าทหารร่วม 25,000 คนออกจากคาบสมุทรไครเมีย และยังตัดสินใจที่จะถอนยูเครนออกจากกลุ่มCIS ซึ่งเป็นการรวมตัวของประเทศเกิดใหม่หลังการล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต นอกจากนี้ยังจะกำหนดให้ชาวรัสเซียที่ต้องการเดินทางเข้ามายังยูเครนต้องขอวีซ่า และหวังร้องให้ยูเอ็นเห็นชอบให้ไครเมียเป็นเขตปลอดทหาร

ที่ผ่านมามีระยะเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ที่ทหารยูเครนหลายพันคนได้ถูกองกำลังรัสเซียและกองกำลังปกป้องตนเองไครเมียกักตัวไว้ภายในฐานทัพเรือยูเครน และรวมถึงหน่วยงานทางทหารของยูเครนอีกหลายแห่งในไครเมีย ในขณะที่รัฐบาลยูเครนรักษาการได้ประนามแผนการผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียนั้นผิดกฏหมายและได้ร้องขอให้ประชาคมนานาชาติช่วยเหลือ แต่การประกาศถอนกำลังทหารยูเครนนั้นออกมาจาก อันดรีย์ พารูบีย์ (Andriy Parubiy) ประธานาสภาความมั่นคงยูเครน นั้นแสดงให้เห็นถึงการยอมจำนนของยูเครน อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นในแง่การทหาร

ซึ่งการประกาศครั้งนี้เกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากกลุ่มกองกำลังปกป้องตนเองไครเมียที่ได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังทหารรัสเซียยึดฐานทัพเรือยูเครนที่ตั้งอยู่ในเมืองเซวาสโตโปล และยังกักตัวผู้บัญชาการฐานทัพเรือไว้ภายใน ซึ่งได้เป็นการเริ่มต้นในการขับไล่กองกำลังยูเครนทั้งหมดออกจากคาบสมุทรไครเมีย

และพลเรือโทอเล็กซานเดอร์ วิตโก(Aleksandr Vitko) ผู้บัญชาการกองทัพเรือรัสเซีย กองเรือทะเลดำ ที่มีฐานทัพตั้งอยู่ในเมืองเซวาสโตโปลเช่นกันได้เดินทางมาเพื่อเจรจาเป็นเวลา 30 นาทีกับพลเรือโท เซอร์กีย์ เกย์ดุ๊ก (Sergiy Gayduk) ผู้บัญชาการฐานทัพเรือยูเครน ประจำเมืองเซวาสโตโปลที่ถูกจับกุมตัวขังไว้ และเป็นผลให้ เกย์ดุ๊กและทหารยูเครนอีก 30 นายต้องเดินทางออกจากฐานทัพเรือไป

ในกรุงเคียฟ รัฐบาลรักษาการได้เปิดเผยด้วยว่า จะดำเนินการถอนตัวออกจากกลุ่มCIS หรือ เครือรัฐเอกราช ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศเกิดใหม่หลังจากการล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต และยังมีแผนที่จะกำหนดให้ชาวรัสเซียต้องขอวีซ่าเพื่อเดินทางเข้ามายังยูเครน ซึ่งอย่างไรก็ตามจะทำให้เกิดความไม่สะดวกขึ้นกับชาวยูเครนเป็นอย่างมากซึ่งถึงแม้รัสเซียจะตอบรับมาตรการนี้ อย่างไรก็ตามกระทรวงต่างประเทศรัสเซียยังจะไม่มีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้จนกว่าจะเห็นมาตรการวีซ่าของรัฐบาลยูเครนออกมาอย่างเป็นทางการ แหล่งข่าวกระทรวงต่างประเทศรัสเซียเผยต่อ RIA Novosti

แต่กระนั้นรัสเซียไม่ได้มีความหวาดกลัวใด ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูตินได้เปิดการประชุมกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงเพื่อหาข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับระบบการคมนาคมและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในไครเมีย และได้สั่งการให้รัฐบาลรัสเซียทำการก่อสร้างสะพานที่จะเชื่อมระหว่างรัสเซียและไครเมียโดยเร็วที่สุด เพื่อให้รถยนต์และรถไฟสามารถวิ่งเชื่อมระหว่างรัสเซียและไครเมียได้ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีเส้นทางที่จะเชื่อมได้เช่นนั้น

อย่างไรก็ตามเมื่อวานนี้(19) องค์การสหประชาชาติได้ประกาศว่า เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ บัน คีมุน จะเดินทางไปเยือนกรุงมอสโกและกรุงเคียฟในวันนี้(20) และพรุ่งนี้(21) เพื่อพบกับปูติน และประธานาธิบดียูเครนรักษาการ โอเลกซานเดอร์ ตูร์ชินอฟ ซึ่งบัน คีมุนได้แสดงความผิดหวังที่รัสเซียได้ให้การสนับสนุนการลงประชามติของไครเมียประกาศแยกตัวออกจากยูเครนในวันอาทิตย์(16)ที่ผ่านมาเพื่อเป็นการแสดงความชอบธรรมสำหรับรัสเซียในการผนวกดินแดนไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียในอนาคต

แต่กระนั้นเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติผู้นี้ไม่ได้กล่าวออกมาว่า สิ่งที่รัสเซียกำลังดำเนินอยู่นั้น “ผิดกฏหมาย” ทั้งนี้สหรัฐฯและสมาชิกชาติตะวันตกของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีมติในวันเสาร์(15)ว่า ผลการลงประชามติของไครเมียนั้นถือว่า “ผิดกฏหมาย” แต่รัสเซียเป็นชาติสมาชิกเดียวที่ใช้สิทธิ์วีโต้มตินี้

นอกจากนี้ พารูบีย์ยังกล่าวว่า เคียฟจะร้องให้องค์การสหประชาชาติประกาศให้ไครเมียเป็น “เขต ปลอดทหาร” ซึ่งที่ผ่านมาเขตปลอดประทหารที่ได้รับการประกาศจากยูเอ็นเกิดขึ้นระหว่างเซอร์เบียและโคโซโว ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ และบริเวณรอบๆอิสลาเอล และรัฐบาลยูเครนรักษาการจะมีแผนการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานสำหรับชาวยูเครนที่ไม่ต้องการอาศัยอยู่ในดินแดนที่ถูกรัสเซียยึดครองอีกต่อไป

และ ฟินแลนด์ ไทม์ สื่อฟินแลนด์ได้รายงานว่า คอนสแตนติน โรโมดานอฟสกี (Konstantin Romodanovsky )หัวหน้าหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองรัสเซีย (FMS)ได้เปิดเผยเมื่อวานนี้(19)ว่า ทางการรัสเซียเริ่มแจกจ่ายพาสปอร์ตให้กับพลเมืองที่อาศัยอยู่ในไครเมียหลังจากที่ไครเมียได้ลงนามในสนธิสัญญากับรัสเซียในวันอังคาร(18) โดย FMS ไม่ได้เปิดเผยว่ามีชาวไครเมียจำนวนมากเท่าใดที่ได้รับแจกหนังสือเดินทางรัสเซีย แต่ก็คาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน อ้างจากสำนักข่าวอิตาร์ ทาซซ์

ซึ่งในวันอังคาร(19)ปูตินได้ลงนามสนธิสัญญาร่วมกับผู้นำของไครเมียและเมืองเซวาสโตโปลเพื่อประกาศผนวกให้ไครเมียและเมืองเซวาสโตโปลผนวกเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนรัสเซีย



ชาวไครเมียรอคิวยื่นขอหนังสือเดินทางรัสเซียในเมืองซิมเฟโรโปลในวันที่ 19 มีนาคม 2014
กำลังโหลดความคิดเห็น