xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำยูเครนยืนยันจะ “ไม่ส่งทหาร” แทรกแซงไครเมีย-ชี้แผนทำประชามติซบรัสเซียแค่ “ละครตบตา” ชาวโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โอเล็กซานดร์ ตูร์ชินอฟ รักษาการประธานาธิบดียูเครน
เอเอฟพี – ประธานาธิบดียูเครนยืนยันจะไม่ส่งกองทัพเข้าแทรกแซง หรือยับยั้งการขอแยกดินแดนของไครเมีย ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชัดว่า โอกาสที่คาบสมุทรในทะเลดำแห่งนี้จะกลายไปเป็นดินแดนของรัสเซียมีความเป็นไปได้สูง

โอเล็กซานดร์ ตูร์ชินอฟ รักษาการประธานาธิบดียูเครน ออกมากล่าวเมื่อวานนี้ (11) ภายหลังจากที่รัฐสภาไครเมียโหวตสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราช ก่อนจะมีการทำประชามติว่าชาวไครเมียต้องการผนวกรวมกับรัสเซียหรือไม่ในวันอาทิตย์นี้ (16) ขณะที่สหรัฐฯและรัสเซียก็งัดข้อกันอย่างหนักในกรณีปัญหายูเครน ซึ่งถือเป็นการเผชิญหน้าระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออกครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น

ตูร์ชินอฟ ชี้ว่า การส่งทหารเข้าไปยังคาบสมุทรไครเมียซึ่งมีกองกำลังโปรรัสเซียควบคุมอยู่ อาจทำให้ชายแดนด้านตะวันออกของยูเครนเผชิญความเสี่ยง เนื่องจากเวลานี้รัสเซียได้ส่งหน่วยรถถังมาประจำการอยู่แล้ว

“เราไม่สามารถส่งทหารไปยังคาบสมุทรไครเมียได้ เพราะจะทำให้การป้องกันชายแดนตะวันออกหละหลวม” ตูร์ชินอฟ ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี

“พวกเขาพยายามยั่วยุเราเพื่อหาข้ออ้างแทรกแซงแผ่นดินใหญ่ยูเครน แต่เราจะไม่เดินตามแผนที่ทำเนียบเครมลินวางไว้”

การทำประชามติว่าด้วยการผนวกรวมกับรัสเซียในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ (16) เป็นแผนของผู้นำรัฐบาลท้องถิ่นไครเมีย ซึ่งแต่งตั้งตนเองขึ้นมา ภายหลังเหตุประท้วงในยูเครนที่ยืดเยื้ออยู่นานถึง 3 เดือนส่งผลให้อดีตประธานาธิบดี วิกเตอร์ ยานูโควิช ผู้มีจุดยืนเอียงข้างรัสเซียถูกโค่นอำนาจ

ในลักษณะเดียวกับที่กรุงเคียฟไม่ยอมรับผู้ปกครองไครเมียคนใหม่ รัสเซียก็ไม่ถือว่า ตูร์ชินอฟ เป็นผู้นำสูงสุดของยูเครนเช่นกัน โดยยืนยันว่า วิกเตอร์ ยานูโควิช ยังเป็นประธานาธิบดีที่มีอำนาจโดยชอบธรรม

ตูร์ชินอฟ เอ่ยถึงแผนทำประชามติในไครเมียว่าเป็นเพียง “ละครตบตา” เพราะอำนาจตัดสินใจทั้งหมด “ล้วนอยู่ที่เครมลิน”

สหรัฐฯและชาติมหาอำนาจอื่นๆ ต่างเรียกร้องให้รัสเซียและยูเครนร่วมกันหาทางออกสำหรับวิกฤตการเมืองครั้งนี้ แต่ ตูร์ชินอฟ อ้างว่าผู้นำมอสโกปฏิเสธการเจรจา

“น่าเสียดายที่รัฐบาลรัสเซียปฏิเสธที่จะแก้ปัญหาด้วยวิธีทางการทูต” เขากล่าว

ชาติตะวันตกซึ่งนำโดยสหรัฐฯและเยอรมนี ยืนยันว่า การจัดตั้ง “กลุ่มประสานงานการติดต่อนานาชาติ” (international contact group) เป็นหนทางเดียวที่จะช่วยคลี่คลายวิกฤตการเมืองซึ่งมีสาเหตุจากการแตกแยกทางวัฒนธรรมภายในอดีตรัฐโซเวียต

ปัญหาทั้งหมดมีจุดเริ่มต้นจากการที่ ยานูโควิช ล้มแผนทำข้อตกลงความร่วมมือด้านการค้าและการเมืองกับสหภาพยุโรป เพราะหวังจะได้เงินกู้จากรัสเซียมาประคองเศรษฐกิจยูเครนที่ใกล้ดิ่งเหว ทว่ามอสโกก็สั่งระงับความช่วยเหลือทั้งหมดทันทีที่ ยานูโควิช ถูกโค่น

คาบสมุทรไครเมียซึ่งเป็นที่ตั้งของกองเรือทะเลดำรัสเซียมานานเกือบ 250 ปี ต้องตกอยู่ท่ามกลางไฟร้อนระอุ นับตั้งแต่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียประกาศจะ “ปกป้อง” พลเมืองเชื้อสายรัสเซียจากภัยคุกคามของกระแสโปรสหภาพยุโรปในยูเครน

คาบสมุทรซึ่งมีประชากรราว 2 ล้านคนแห่งนี้เคยมีอำนาจปกครองตนเอง จนกระทั่งถูกสหภาพโซเวียตยกให้เป็นของขวัญเชิงสัญลักษณ์แก่ยูเครนในปี 1954 ซึ่งเวลานั้นยูเครนเองก็ยังเป็นประเทศในเครือโซเวียตอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น