xs
xsm
sm
md
lg

คนงานจีนผู้ผลิต ‘มือถือ’ กำลังล้มตายด้วย ‘สารพิษอิเล็กทรอนิกส์’

เผยแพร่:   โดย: แอนดริว คอร์ฟเฮจ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Tech poison killing Chinese
By Andrew Korfhage
15/05/2014

“แอปเปิล” และบริษัทผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไฮเทครายอื่นๆ กำลังถูกกดดันให้เปลี่ยนสารเคมีบางตัวที่ใช้อยู่ โดยหันมาใช้สารเคมีซึ่งมีพิษภัยต่อชีวิตน้อยลง ทดแทนตัวที่ทำให้คนงานชาวจีนของพวกเขาต้องล้มป่วยด้วยโรคมะเร็ง ทั้งนี้ ชีวิตที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์อันยากลำบากของคนงานจีนเหล่านี้เอง เป็นจุดโฟกัสของภาพยนตร์สารคดีเรื่องใหม่ ที่มีชื่อว่า Who Pays the Price? The Human Cost of Electronics (ใครเป็นคนจ่าย? ต้นทุนมนุษย์ของอิเล็กทรอนิกส์)

หมิง คุนเผิง (Ming Kunpeng) ไปทำงานกับ เอเอสเอ็ม แปซิฟิก เทคโนโลยี (ASM Pacific Technology) หนึ่งในบริษัทที่รับจ้างผลิตชิปส่งให้แก่แอปเปิล ตั้งแต่ตอนที่เขามีอายุ 19 ปี หลังจากที่ทำงานสัมผัสกับ เบนซีน (benzene) สารเคมีซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นสารก่อมะเร็ง เป็นประจำอยู่ทุกวี่ทุกวัน โดยที่ไม่เคยได้รับการฝึกอบรมหรือมีเครื่องมืออุปกรณ์ป้องกันอย่างถูกต้องเหมาะสม คนงานหนุ่มผู้นี้ก็ได้ล้มป่วยลงตอนที่มีอายุ 22 ปี โดยที่ในที่สุดแล้ว แพทย์ก็วินิจฉัยโรคว่า เขาป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวซึ่งมีสาเหตุจากการทำงาน (occupational leukemia)

หลังจากโต้แย้งกันอยู่นาน 1 ปี เอสเอเอ็ม แปซิฟิก เทคโนโลยี ยินยอมจ่ายค่าชดเชยให้แก่ หมิง สำหรับการล้มป่วยของเขา ทว่าเงินที่ได้รับภายหลังการรอมชอมก็ยังคงไม่เพียงพอที่จะใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลต่างๆ ซึ่งจำเป็นสำหรับตัวเขา ในวันที่ 28 ธันวาคม 2013 คนหนุ่มผู้นี้ก็กลายเป็น 1 ในกรณีของการฆ่าตัวตายของคนงานชาวจีนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกลายเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง

หมิงจบชีวิตของเขาเอง ด้วยการกระโดดลงมาจากชั้นบนสุดของโรงพยาบาลที่เขากำลังได้รับการบำบัดรักษาอยู่

เรื่องราวของ หมิง เป็นเพียง 1 ในหลายๆ เรื่องที่ 2 นักสร้างภาพยนตร์ ฮีเธอร์ ไวต์ (Heather White) กับ ลินน์ จาง (Lynn Zhang) เล่าเอาไว้ในภาพยนตร์สารคดีสั้นเรื่องใหม่ของพวกเธอ ที่ใช้ชื่อว่า Who Pays the Price? The Human Cost of Electronics (ใครเป็นคนจ่าย? ต้นทุนมนุษย์ของอิเล็กทรอนิกส์)

ในภาพยนตร์ของพวกเธอ ไวต์ กับ จาง สำรวจการใช้สารเคมีที่มีพิษอันตรายในโรงงานต่างๆ ของจีน พวกเธอมุ่งโฟกัสไปยังผลของสารเคมีเหล่านี้ซึ่งมีต่อคนงานนับล้านๆ ผู้ที่ต้องสัมผัสพวกมันในขณะที่ทำการผลิต ไอโฟน, ไอแพด, และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ซึ่งบรรดาผู้บริโภคทั่วโลกกำลังต้องใช้ต้องพึ่งพาอาศัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ในเวลานี้ ประมาณสามในสี่ของประชากรทั่วทั้งพิภพของเราทีเดียว สามารถเข้าถึงเครื่องโทรศัพท์มือถือ นี่ย่อมหมายความว่าปัญหานี้มีขนาดขอบเขตที่มโหฬารใหญ่โตมากๆ พูดได้คร่าวๆ ว่าราวครึ่งหนึ่งของอุปกรณ์เหล่านี้ทำขึ้นในประเทศจีน --ประเทศซึ่งยังคงอนุญาตให้ใช้ เบนซิน อันเป็นสารก่อมะเร็ง ในการเป็นตัวทำละลายทางอุตสาหกรรม (ถึงแม้ในประเทศอื่นๆ จำนวนมาก มีการห้ามใช้สารเคมีชนิดนี้แล้ว) นอกจากนั้น จีนยังเป็นประเทศที่พวกนายจ้างมักไม่ค่อยจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันซึ่งถูกต้องเหมาะสมให้แก่บรรดาคนงาน ไม่เพียงเท่านั้น โรงงานอิเล็กทรอนิส์ทั้งหลาย ยังมีการใช้พวกสารเคมีที่เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ อย่างเช่น โทลูอีน (toluene) และสารเคมีที่เป็นพิษต่อระบบประสาท อย่างเช่น เอ็น-เฮกเซน (n-hexane) อีกด้วย

“ผมผ่านการรักษาด้วยเคมีบำบัดมารวมทั้งหมด 28 ครั้งแล้ว” เป็นคำบอกเล่าของ อี้ เย่ถิง (Yi Yeting) คนงานโรงงานชาวจีนผู้หนึ่งซึ่งก็ได้รับพิษจากเบนซีน และแบ่งปันเล่าเรื่องราวของเขาเอาไว้ในภาพยนตร์เรื่อง “Who Pays the Price?” ด้วย “ผมเจ็บที่กระดูกมากจริงๆ รู้สึกเหมือนกับว่ามีมดเป็นพันๆ เป็นหมื่นๆ ตัวกำลังกัดผมอยู่ที่ข้างในตัวของผม”

ขณะที่ความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ราคาถูกกำลังขยายตัวกว้างขวางออกไป เป็นที่ชัดเจนว่าคนงานเหล่านี้แหละคือผู้ที่ต้องรับผลที่ติดตามมา ตามตัวเลขสถิติของรัฐบาลจีนเอง ทุกๆ 5 ชั่วโมงจะมีคนงาน 1 คนได้รับพิษร้ายจากสารเคมีพิษทั้งหลาย โดยส่วนมากที่สุดก็คือจากเบนซีน

ยังโชคดีที่มีสารเคมีตัวอื่นๆ ซึ่งสามารถใช้แทนได้

สำนักเลขาธิการสารเคมีระหว่างประเทศ (International Chemical Secretariat) องค์การไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งตั้งฐานอยู่ในสวีเดน ได้จัดทำบัญชีรายชื่อสารเคมีตัวอื่นๆ ซึ่งสามารถใช้ทดแทนสารเคมีมีพิษ โดยตั้งชื่อบัญชีรายชื่อนี้ว่า “Substitute It Now” (เปลี่ยนมาใช้พวกนี้แทนตั้งแต่ตอนนี้เลย) และจัดส่งไปให้แก่บริษัทต่างๆ ในบัญชีรายชื่อนี้ให้รายละเอียดสารเคมี 626 ตัวซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ พร้อมระบุสารที่สามารถใช้ทดแทนได้ เป็นต้นว่า ไซโคลเฮกเซน (cyclohexane) และ เฮปเทน (heptane) เป็นตัวทำละลายที่ปลอดภัยกว่าและใช้งานได้คล้ายๆ กับ เบนซีน

พวกผู้เชี่ยวชาญทางด้านพิษวิทยา (Toxicology) ซึ่งคุ้นเคยกับกระบวนการทำงานของโรงงานจีน คำนวณตัวเลขประมาณการออกมาว่า บริษัทสมาร์ทโฟนทั้งหลายสามารถที่จะสั่งให้เปลี่ยนจาก เบนซีน ไปใช้ตัวทำละลายที่มีความปลอดภัยมากกว่า โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นราวๆ 1 ดอลลาร์ต่อโทรศัพท์ 1 เครื่อง จากการที่บริษัทอย่างเช่น แอปเปิล กำลังกอบโกยกำไรไปได้ถึง 37,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2013 ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จึงสามารถรับค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นได้อยู่แล้ว ในการดำเนินมาตรการดังกล่าวเพื่อปกป้องคุ้มครองชีวิตของคนงาน

“เราต้องการให้พวกแบรนด์ดังทั้งหลายแสดงความรับผิดชอบต่อเงื่อนไขการทำงาน ณ โรงงานของพวกซัปพลายเออร์ของพวกเขา” พอลลีน โอเวอรีม (Pauline Overeem) ผู้ประสานงานเครือข่าย (Network Coordinator) ให้แก่ กู๊ดอิเล็กทรอนิกส์ (GoodElectronics) องค์การไม่แสวงหากำไรระดับระหว่างประเทศ ซึ่งกำลังทำงานเพื่อให้สายโซ่ซัปพลายของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปลอดจากสารพิษอันตราย กล่าวเรียกร้อง พร้อมกับย้ำว่า “การสั่งห้ามใช้ เบนซีน เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความรับผิดชอบดังกล่าวนี้”

เมื่อช่วงฤดูร้อนของปี 2013 แอปเปิลได้เปิดตัวแคมเปญโฆษณาชุดใหม่ที่ใช้ชื่อว่า “Our Signature” (สัญลักษณ์ประจำตัวของเรา)

หลังจากภาพเคลื่อนไหวซึ่งแสดงให้เห็นผู้บริโภคที่มีความสุขทั้งหลาย กำลังชื่นชมผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของแอปเปิล ทั้งด้วยการรับฟังเพลง, ถ่ายภาพ, ศึกษาค้นคว้าขณะอยู่ในโรงเรียน, และแชทแชร์วิดีโอกับเพื่อนๆ ก็มีเสียงนุ่มๆ แทรกเข้ามาตอกย้ำว่า “นี่แหละคือสิ่งสำคัญ ประสบการณ์จากการได้ใช้ผลิตภัณฑ์ มันจะทำให้ใครบางคนเกิดความรู้สึกดีๆ ขึ้นมาหรือเปล่า? มันจะทำให้ชีวิตดีขึ้นหรือไม่?”

แอปเปิลควรที่จะถามคนงานอย่าง อี้ เย่ถิง ว่า การได้ทำงานกับเบนซีนทำให้เขาเกิดความรู้สึกดีๆ ขึ้นมาบ้างหรือเปล่า และบริษัทก็ควรจะถาม หมิง คุนเผิง ว่า ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้นหรือไม่

บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายจักต้องแสดงความรับผิดชอบให้ครอบคลุมถึงพวกโรงงานซัปพลายเออร์ของพวกเขาด้วย โดยไม่สำคัญเลยว่าพวกเขาเลือกสถานที่แห่งหนใดในโลกมาทำผลิตภัณฑ์ของพวกเขา พวกเขาจักต้องยุติการใช้เบนซีนและสารเคมีอันตรายอื่นๆ ที่กำลังทำร้ายสุขภาพของมนุษย์ โดยเริ่มต้นกันตั้งแต่วันนี้เลย

แอนดริว คอร์ฟเฮจ เป็นบรรณาธิการออนไลน์ของ กรีน อเมริกา (Green America)

ข้อเขียนชิ้นนี้ มาจาก “ฟอเรนจ์ โพลิซี อิน โฟกัส” (Foreign Policy in Focus หรือ FPIF) ซึ่งมุ่งเสนอบทวิเคราะห์อันทันการณ์ในด้านนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯและ ด้านกิจการระหว่างประเทศ ตลอดจนเสนอแนะทางเลือกต่างๆ ทางด้านนโยบาย ทั้งนี้ FPIF เป็นโครงการหนึ่งของสถาบันเพื่อนโยบายศึกษา (Institute for Policy Studies) กลุ่มคลังสมองที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งมีแนวทางความคิดแบบก้าวหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น