xs
xsm
sm
md
lg

ประชากรญี่ปุ่น‘แก่ลง’ ต้องการแรงงานต่างชาติ‘มากขึ้น’

เผยแพร่:   โดย: สุเวนทรินี คากูชิ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Aging Japan seeks more foreign workers
By Suvendrini Kakuchi
24/04/2014

ด้วยความจำเป็นที่จะต้องได้คนงานเพิ่มมากขึ้นเพื่อใช้สนับสนุนอุตสาหกรรมการก่อสร้างซึ่งเติบโตขยายตัว ญี่ปุ่นจึงได้เสนอขยาย “โครงการฝึกอบรมชาวต่างชาติ” โดยที่จะอนุญาตให้แรงงานไร้ฝีมือจากประเทศอื่นๆ ในเอเชียจำนวนมากขึ้น เข้ามาทำงานตามบริษัทต่างๆ ในญี่ปุ่นเป็นเวลา 5 ปีจากที่เคยให้เพียง 3 ปีในปัจจุบัน ถึงแม้โครงการนี้ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงโต้แย้งกันมายาวนานก็ตามที

ด้วยความจำเป็นที่จะต้องได้คนงานเพิ่มมากขึ้นเพื่อใช้สนับสนุนอุตสาหกรรมการก่อสร้างซึ่งเติบโตขยายตัว ญี่ปุ่นจึงได้เสนอขยาย “โครงการฝึกอบรมชาวต่างชาติ” โดยที่จะอนุญาตให้แรงงานไร้ฝีมือจากชาติอื่นๆ ในเอเชียจำนวนมากขึ้น เข้ามาทำงานตามบริษัทต่างๆ ในญี่ปุ่นเป็นเวลา 5 ปีจากที่เคยให้เพียง 3 ปีในปัจจุบัน ถึงแม้โครงการนี้ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงโต้แย้งกันมายาวนานก็ตามที

แผนการฝึกอบรมนี้ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 1993 วาดภาพเอาไว้ว่าเป็นการเชื้อเชิญชาวต่างชาติผู้ต้องการรับการฝึกอบรม ให้เข้าทำงานตามบริษัทต่างๆ ในญี่ปุ่น ภายใต้คำขวัญที่ว่า เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ก่อนเดินทางกลับบ้าน แต่เมื่อมีการดำเนินโครงการนี้กันจริงๆ ก็ปรากฏว่าประสบปัญหาต่างๆ มากมาย

ในปี 2012 มีกว่า 200 บริษัทซึ่งถูกรายงานว่ากระทำการมิชอบล่วงละเมิดสิทธิคนงาน เป็นต้นว่า คนงานต่างชาติได้รับค่าแรงต่ำมาก อีกทั้งมีชั่วโมงทำงานที่ยาวนาน ด้วยเหตุนี้ พวกนักเคลื่อนไหวจึงมองระบบที่อ้างว่าเป็นการฝึกอบรมเช่นนี้ ว่าเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นเพื่อต่อสู้กับภาวะที่ประชากรในญี่ปุ่นกำลังมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ในปัจจุบันจากจำนวนประชากรทั้งประเทศราว 130 ล้านคนนั้น ผู้ที่อายุเลย 65 ปีไปแล้วมีถึงหนึ่งในสี่ ขณะที่จำนวนประชากรในวัยทำงานได้ขึ้นสู่ระดับสูงสุดคือ 83 ล้านคนในปี 1995 หลังจากนั้นก็ลดน้อยลงมาเรื่อยๆ โดยที่เมื่อถึงปี 2012 ได้ลดลงมาแล้วร่วมๆ 5 ล้านคน

สำหรับอุตสาหกรรมการก่อสร้างนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้แรงงานต่างชาติมาทำงานอย่างเช่น ช่างปูน และช่างเทแบบ

เวลานี้ รัฐบาลได้เสนอแผนการที่จะเปิดทางให้สามารถต่ออายุวีซาออกไปอีก 2 ปี สำหรับคนงานฝึกหัดใน “กิจการต่างๆ ตามที่กำหนดเอาไว้” เพื่อเป็นการแผ้วถางทางในการว่าจ้างแรงงานฝึกหัดเหล่านี้อย่างยาวนานยิ่งขึ้น พวกนักเคลื่อนไหวแรงงานพากันวิจารณ์ว่า น่าสงสัยมากว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่ญี่ปุ่นกำลังจะเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2020 และจริงๆ แล้วแทบไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับวัตถุประสงค์ของนโยบายระบบแรงงานฝึกหัด ซึ่งมีการเขียนเอาไว้สวยๆ ว่า เพื่อแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกับพวกประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย

“นโยบายผู้อพยพของญี่ปุ่นนั้น ปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติต่อพวกคนงานอพยพในฐานะที่เป็นคนซึ่งมีสิทธิด้านต่างๆ ที่จะต้องได้รับการดูแลคุ้มครอง ความเคลื่อนไหวครั้งใหม่นี้นับเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของเป้าหมายที่มุ่งจะ ‘ใช้งานจากนั้นก็กำจัดแรงงานต่างชาติ’ ออกไป เมื่อรู้สึกว่าหมดความจำเป็นแล้ว” อิปเป โทริอิ (Ippei Torii) หัวหน้าสาขาแรงงานต่างชาติของ เซนโตสึ (Zentotsu) องค์การแรงงานชั้นนำรายหนึ่งของญี่ปุ่น บอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service ใช้อักษรย่อว่า IPS)

เซนโตสึ ได้เข้ารับหน้าที่เจรจาในนามของแรงงานฝึกหัดชาวต่างชาติจำนวนมาก ผู้ซึ่งถูกนายจ้างของพวกเขาเลือกปฏิบัติเอารัดเอาเปรียบด้วยวิธีต่างๆ ตัวอย่างหนึ่งที่ถือเป็นแบบฉบับเลยก็คือ กรณีที่ยังคงปิดไม่ลงของแรงงานหญิงชาวจีน 6 คน ซึ่งได้รับค่าจ้างเพียงแค่ชั่วโมงละ 4 ดอลลาร์ เท่ากับเพียงครึ่งหนึ่งของอัตราแรงงานขั้นต่ำ สำหรับการทำงานเป็นเวลานาน 3 ปีในโรงงานตัดเย็บแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในเขตชนบทของญี่ปุ่น

“พวกเธอไม่สามารถหลบหนีไปไหนได้ เนื่องจากแต่ละคนมีภาระหนี้สินจำนวน 8,000 ดอลลาร์ ซึ่งพวกเธอต้องวิ่งเต้นหาหยิบยืมมาในตอนที่อยู่บ้านเกิดในประเทศจีน เพื่อนำเอามาจ่ายให้พวกนายหน้า” อิปเป ชี้

ปัจจุบัน ในจำนวนคนงานต่างชาติทั้งหมดในญี่ปุ่น มีประมาณ 19% หรือคิดเป็นจำนวนก็คือ 136,603 คนทีเดียว ซึ่งมีฐานะเป็นแรงงานฝึกหัด ชาติที่มีคนงานฐานะเช่นนี้สูงที่สุดได้แก่ จีน, เวียดนาม, และฟิลิปปินส์ คนงานต่างชาติประมาณ 15,000 คนถูกว่าจ้างทำงานในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง อัตราค่าจ้างเฉลี่ยของพวกเขาอยู่ในราว 1,200 ดอลลาร์ต่อเดือน และได้เงินเพิ่มเมื่อทำงานล่วงเวลา

โจตาโร คาโตะ (Jotaro Kato) แห่ง สมาคมมิตรภาพของประชาชนชาวเอเชีย (Asian People’s Friendship Society ใช้อักษรย่อว่า APFS) บอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิสว่า สิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นควรจะทำ ก็คือต้องออกวีซ่าประเภทอนุญาตให้ทำงานได้ ให้แก่พวกคนงานไร้ฝีมือทั้งหลายเสียเลย ไม่ใช่แค่ขยายอายุวีซ่าการเป็นแรงงานฝึกหัด เขาระบุว่า ข้อเสนอให้ยืดอายุการเป็นแรงงานฝึกหัดนั้น เป็นเพียงการแก้ปัญหาชั่วครั้งชั่วคราว อันเป็นวิธีการแบบที่พวกข้าราชการชอบกันนัก ทว่าไม่ได้เป็นหนทางแก้ไขอันยั่งยืนสำหรับประเด็นปัญหาระดับชาติที่สำคัญมากปัญหานี้แต่อย่างใด

ในอดีตเคยมีชาวต่างชาติที่แอบพำนักอาศัยแอบทำงานอยู่ในญี่ปุ่นต่อไปภายหลังวีซ่าเข้าเมืองหมดอายุแล้ว โดยในตอนที่มีจำนวนมากที่สุดซึ่งอยู่ในทศวรรษ 1990 นั้น มีถึงราว 250,000 ทีเดียว แต่หลังจากทางการทำการปราบปราม จำนวนก็หดฮวบลงมาเหลือแค่ประมาณ 6,000 คน “เพราะการปราบปรามนี่แหละ คนยากคนจนทางเอเชียเวลานี้ จึงต้องยอมเดินทางเข้าญี่ปุ่นในฐานะเป็นแรงงานฝึกหัด หรือไม่ก็หาทางขยายเวลาพำนักอาศัยของพวกเขาออกไปด้วยวิธียื่นขอฐานะผู้ลี้ภัย หรือไม่ก็หาทางแต่งงานกับคนท้องถิ่น เพื่อที่จะได้พำนักและใช้ชีวิตอยู่ที่นี่กันต่อไปอีก” คาโตะ เล่าให้ สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส ฟัง

ทางสหภาพแรงงานคนงานก่อสร้าง (Construction Workers Union) แสดงจุดยืนคัดค้านแผนการใหม่ในเรื่องแรงงานฝึกหัดนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่ามันจะเป็นการเพิ่มจำนวนคนต่างชาติที่พร้อมรับค่าจ้างต่ำๆ และเป็นการสร้างความเสี่ยงให้แก่คนงานชาวญี่ปุ่นที่ได้รับค่าจ้างสูงกว่า

ส่วนสหพันธ์การก่อสร้างแห่งญี่ปุ่น (Japan Federation of Construction) ได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่งเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เรียกร้องให้เพิ่มจำนวนคนงานหญิงขึ้นอีกเท่าตัวภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า จากจำนวน 90,000 คนที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถอุดช่องว่างระหว่างดีมานด์กับซัปพลายได้

หนังสือพิมพ์โยมิอูริ ชิมบุง ซึ่งขายดีที่สุดในญี่ปุ่น ได้จัดสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเดือนมีนาคม และพบว่ามีเพียง 10% ของผู้ตอบคำถามเท่านั้นซึ่งพร้อมยอมรับคนงานอพยพที่เป็นพวกไร้ทักษะ พวกที่ปฏิเสธไม่ยอมรับให้เหตุผลความกังวลในด้านต่างๆ เป็นต้นว่า กลัวว่าอาชญากรรมจะเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันผู้ตอบคำถามถึง 85% สนับสนุนวิธีแก้ปัญหาด้วยการรับผู้หญิงเข้ามาทำงานเพิ่มมากขึ้น

ญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศที่ความยอมรับคนต่างชาติอยู่ในระดับต่ำมากๆ จนน่าอับอาย กล่าวคือชาวต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 2% ของประชากรญี่ปุ่น โดยที่ในจำนวนชาวต่างชาติเหล่านี้ รวมไปถึงผู้คนเกือบๆ 400,000 คนซึ่งพำนักอาศัยในแดนอาทิตย์อุทัย ในฐานะที่เป็น “ผู้พำนักอย่างถาวรประเภทพิเศษ” (Special Permanent Residents) ซึ่งสงวนไว้สำหรับคนที่เป็นลูกหลานเชื้อสายของชาวเกาหลี คนเหล่านี้เกิดในญี่ปุ่นทว่าไม่ได้รับฐานะพลเมือง

จากการที่กำลังแรงงานของญี่ปุ่น ประกอบด้วยคนต่างชาติเพียงแค่ 1.1% เท่านั้น ทำให้แดนอาทิตย์อุทัยอยู่ข้างท้ายสุดในบรรดาประเทศอุตสาหกรรมด้วยกัน ในขณะที่เยอรมนีมีสัดส่วนอยู่ในระดับ 9.4% และสหราชอาณาจักรอยู่ที่ 7.6%

แม้กระทั่งเกาหลีใต้ ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานเช่นกัน ก็ยังมีตัวเลขสัดส่วนของคนงานต่างชาติในกำลังแรงงานสูงกว่าญี่ปุ่น โดยอยู่ในระดับ 2.2% ในปี 2011 สืบเนื่องจากประเทศนี้ออกกฎเกณฑ์อนุญาตให้แรงงานต่างชาติเข้าไปทำงานได้เป็นระยะเวลา 3 ปี

เพื่อรับมือกับวิกฤตประชากรที่กำลังขยับใกล้เข้ามาทุกที ญี่ปุ่นเองก็จำเป็นต้องยอมเปลี่ยนแปลงนโยบายผู้อพยพของตนบางอย่างบางประการเช่นกัน

ในข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นเอาไว้กับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เมื่อปี 2008 นั้น ทั้ง 2 ฉบับต่างมีเนื้อหาอยู่ข้อหนึ่งที่เปิดทางให้พยาบาลและผู้ดูแลคนชราจากประเทศเหล่านี้เข้ามาทำงานในญี่ปุ่นได้ และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาก็มีพยาบาลเดินทางสู่แดนอาทิตย์อุทัยเป็นจำนวนประมาณ 750 คน

วงการอุตสาหกรรมพยาบาลของญี่ปุ่น กำลังเผชิญศึกหนักจากการขาดแคลนพยาบาลเป็นจำนวนถึง 43,000 คน ทั้งนี้ตามตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการสังคม สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง เนื่องจากพยาบาลชาวญี่ปุ่นจำนวนมากจะลาออกจากงานภายหลังจากเริ่มต้นสร้างครอบครัว เนื่องจากพวกเธอไม่สามารถที่จะทำงานด้วยชั่วโมงยาวนานในโรงพยาบาลได้อีกต่อไปแล้ว

ในปี 1990 ญี่ปุ่นออกนโยบายที่อนุญาตให้ชาวละตินอเมริกันที่เป็นลูกหลานเชื้อสายของชาวญี่ปุ่น เข้ามาทำงานในฐานะเป็นแรงงานอพยพชั่วคราว ปรากฏว่ามีกว่า 220,000 คนทีเดียวที่เดินทางมา ส่วนใหญ่ที่สุดมาจากบราซิล ผู้คนเหล่านี้ซึ่งถูกเรียกขานว่า “นิกเกอิจิน” (Nikkeijin) โดยเป็นลูกหลานเชื้อสายของชาวญี่ปุ่นผู้อพยพไปอยู่ในละตินอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1920

แต่นโยบายนิกเกอิจิน ก็ถูกเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่นานนักหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ภาคการเงินทั่วโลกในปี 2008 โดยที่รัฐบาลออกมาตรการชนิดที่ไม่เคยกระทำมาก่อน ด้วยการเสนอบริการเดินทางฟรี ให้แก่ชาวบราซิลเชื้อสายญี่ปุ่นที่ต้องการกลับไปอยู่ในบราซิล

ชาวอินโดนีเซียและชาวฟิลิปปินส์ซึ่งเข้ามาประกอบอาชีพเป็นผู้ดูแลคนชรา ทั้งๆ ที่ผ่านการศึกษาและการทำงานระยะหนึ่งในญี่ปุ่นแล้ว ก็ยังต้องต่อสู้ดิ้นรนหนักเพื่อสอบให้ผ่านการทดสอบต่างๆ จึงจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ในญี่ปุ่นต่อไปได้ ในจำนวนชาวอินโดนีเซียรุ่นแรกที่เข้าสอบทั้งสิ้น 104 คนเมื่อปี 2011 ผู้ที่สอบผ่านมีเพียง 24 คน สำหรับคนอื่นๆ ยังคงต้องศึกษาร่ำเรียนกันต่อไป

“เรื่องพื้นฐานที่สุดก็คือ จะต้องออกนโยบายซึ่งยอมรับคนงานต่างแดนที่ไร้ทักษะ ในฐานะที่เป็นมนุษย์ซึ่งจะเข้ามายังญี่ปุ่นเพื่อทำงานและเริ่มต้นชีวิตใหม่” จุน เซโตะ (Jun Saito) แห่ง ศูนย์เพื่อการวิจัยเศรษฐกิจแห่งญี่ปุ่น (Japan Centre for Economic Research) ซึ่งเป็นองค์การคลังสมองชั้นนำแห่งหนึ่ง แจกแจงให้ความเห็น “พวกเขาไม่ได้เป็นหุ่นยนต์ที่จะสั่งให้เดินทางกลับไปได้โดยไม่เกิดปัญหาใดๆ หลังจากที่วีซ่าของพวกเขาหมดอายุลง”

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจาก สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส) http://www.ipsnews.net ซึ่งเป็นสถาบันเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศที่มีสำนักข่าวระดับโลกเป็นแกนกลาง ไอพีเอสก่อตั้งขึ้นในปี 1964 มีความชำนาญเป็นพิเศษในการเสนอข่าวด้านพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจ, สิทธิมนุษยชน, สิ่งแวดล้อม, ตลอดจนนโยบายการต่างประเทศของพวกมหาอำนาจพัฒนาแล้ว ในแง่มุมของการที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับพวกประเทศกำลังพัฒนา
กำลังโหลดความคิดเห็น